การทำพินัยกรรม

          พินัยกรรม คือ คำสั่งครั้งสุดท้าย ซึ่งแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือกิจการต่าง ๆ ของผู้ทำพินัยกรรม เพื่อที่จะเกิดผลบังคับตามกฎหมายในเมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย พินัยกรรมที่ทางสำนักงานเขตมีหน้าที่เกี่ยวข้องมีเพียง 3 แบบ
          1. พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ผู้ร้องสามารถยื่นคำขอให้กรมการอำเภอ (นายอำเภอ) อำเภอใดก็ได้/สำนักงานเขตในกรุงเทพมหานครเขตใดก็ได้ดำเนินการให้ตามความประสงค์ต่อหน้าพยาน 2 คน พร้อมกัน (พยานต้องไม่มีส่วนได้เสียกับพินัยกรรม)
          2. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ คือ ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกและลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกเรียบร้อยแล้วไปแสดงต่อนายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต ณ ที่ว่าการอำเภอ/สำนักงานเขต พร้อมด้วยพยานบุคคล 2 คนและให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน
          3. พินัยกรรมทำด้วยวาจา ทำได้เฉพาะกรณีมีพฤติการณ์พิเศษ ซึ่งบุคคลใดไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรือเวลามีโรคระบาด หรือสงคราม ผู้ทำพินัยกรรมไม่อาจหาเครื่องมือเครื่องเขียนได้ทันท่วงที หรือกว่าจะหาได้ก็ถึงความตายเสียก่อน ดังนี้ บุคคลนั้นจะทำพินัยกรรมด้วยวาจาก็ได้ แต่ต้องแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน ซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น พยานทั้งหมดนั้นต้องไปแสดงตนต่อกรรมการอำเภอ (นายอำเภอ)
โดยมิชักช้าและแจ้งให้นายอำเภอทราบถึงข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจา วัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรม พฤติการณ์พิเศษที่ขัดขวางมิให้สามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมายกำหนดไว้
หลักฐานที่ต้องใช้ในการทำพินัยกรรม ประกอบด้วย
          1. บัตรประจำตัวประชาชน
          2. สำเนาทะเบียนบ้าน
          3. กรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน
          4. กรณีผู้ทำพินัยกรรมอายุเกิน 60 ปี หรือป่วย ควรมีใบรับรองแพทย์ว่ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
          5. พยานบุคคลอย่างน้อย 2 คน 


แบบฟอร์มสำหรับติดต่อ
1. แบบฟอร์มคำร้องขออนุญาตต่างๆ ( ใช้ทุกการรับรอง)