1. วัดลาดพร้าว


 

          เริ่มแรกทีเดียว ประมาณพุทธศักราช 2413 ชาวบ้านลาดพร้าว ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างกุฏิขึ้นประมาณ 2 – 3 หลัง บริเวณเยื้องตลาดสุภาพงษ์ด้านเหนือ โดยมีพระอาจารย์เพิ่ม มาอยู่ปกครองวัด ในระยะแรกนี้   ยังเป็นเพียงสำนักสงฆ์เท่านั้น ต่อมาในพุทธศักราช 2417 ชาวบ้านลาดพร้าว มีความเห็นพ้องต้องกับคณะสงฆ์ว่า สมควรย้ายวัดมาอยู่ที่วังลาดพร้าว (วัง คือแอ่งน้ำขังที่กว้างใหญ่กว่าบึง) เพราะสถานที่เดิมนั้นเป็นที่ดอนไม่สะดวกต่อการที่พระสงฆ์สามเณรจะใช้น้ำ จึงได้ย้ายวัดมาสร้างใหม่ที่วังลาดพร้าวนี้เพราะที่แห่งใหม่นี้อยู่ใกล้แหล่งน้ำกว่า      และเป็นทางแยกคลองทรงกระเทียมกับคลองลาดพร้าว ทั้งเป็นที่ลุ่มเป็นวังกว้างสะดวกต่อการใช้น้ำ เมื่อย้ายมาอยู่ที่แห่งใหม่แล้วได้มีการสร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญ ล้วนเป็นไม้ทั้งสิ้น แล้วได้นิมนต์พระอาจารย์ตุ๊ มาเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดจนถึงพระครูประสิทธิ์สุภการ(ทองใบ ฐานงกโร) เป็นเจ้าอาวาสปกครองและยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอเขตลาดพร้าว อีกด้วย  ปัจจุบันพระครูประสิทธิ์สุภการ ได้มรณภาพ และได้มีการแต่งตั้งพระครูวิศิษฎ์สุทธิคุณ (จำรัส) เป็นเจ้าอาวาส วัดลาดพร้าวเมื่อปีพ.ศ. 2549 วัดลาดพร้าวมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 24 ไร่เศษ
วัดลาดพร้าวเป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี เป็นวัดที่มีความสวยงาม สิ่งสำคัญคือมีปราสาทบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้อัญเชิญมาจากเมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ประดิษฐานไว้ที่พระเจดีย์ดาวดึงส์เหนือเศียรพระเจ้าเปิดโลก ภายในปราสาทมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จำลองของพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงอยู่ทั่วประเทศนำมาประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้เป็นศิริมงคล
  


2. วัดสิริกมลาวาส

   

 

       
        วัดสิริกมลาวาส หรือชื่อเดิมที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดใหม่เสนานิคม มีอดีตท่านเจ้าอาวาสอย่างท่านพระครูปราโมทย์ธรรมธาดา หรือหลวงปู่หลอด ปโมทิโต ผู้เป็นที่เคารพนับถือของสาธุชนจำนวนมาก  หลวงปู่หลอด

เป็นพระกรรมฐานที่มีชื่อเสียงใช้เวลาศึกษากรรมฐาน และออกธุดงค์เป็นเวลาร่วม 26 ปี อีกทั้งหลวงปู่ยังเป็น

ศิษย์องค์สุดท้ายของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต นอกจากนี้ วัดสิริกมลาวาสยังมีของดี คือ ขอนไม้พญางิ้วดำซึ่งเป็นไม้มงคลศักดิ์สิทธิ์มีอายุหลายพันปี ผู้คนให้ความเลื่อมใสศรัทธามาก
  


3. วัดลาดปลาเค้า


 

       
        วัดลาดปลาเค้าก่อตั้งมาเมื่อประมาณก่อนปี พ.ศ.2409 นับเป็นเวลากว่า 136 ปีแล้วเดิมเป็นเพียงนี้เดิมเป็นชุมชนเล็กๆ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การอยู่อาศัยของสัตว์น้ำโดยเฉพาะ “ปลาเค้า” ซึ่งมีอยู่มากมาย และตัวโตๆ ทั้งนั้น ชุมชนนี้จึงได้ชื่อว่า “ราบปลาเค้า” ซึ่งหมายถึงเป็นที่ราบซึ่งมีปลาเค้าอาศัยอยู่มาก 
ต่อมา ปี พ.ศ. 2435 ทางราชการประกาศตั้งสำนักสงฆ์แห่งนี้เป็น “วัดลาดปลาเค้า” โดยเปลี่ยนจากราบปลาเค้าเป็นลาดปลาเค้า เหตุที่เปลี่ยนเชื่อกันว่าคำ “ราบ”  กับ “ลาด” นั้นได้เรียกเพี้ยนกันมาเรื่อย ๆ จน “ราบ”        
กลายเป็น “ลาด” ไป ส่วนจะเพี้ยนกันมาตั้งแต่เมื่อไรไม่มีใครทราบได้             

 


วัดลาดปลาเค้ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านกล่าวถึงคืออภินิหาร 

และความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อน้อย พุทธสรณ์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สาม ในเรื่องการอยู่ยงคงกระพัน ความร่มเย็นเป็นสุข หากใครได้กราบไหว้บูชาขอพร ขอความช่วยเหลือให้ถูกต้องทำนองคลองธรรมแล้ว จะอยู่ดีกินดีมีความสุข ศัตรูทั้งหลายจะพ่ายแพ้ แม้อุปสรรคทั้งปวงทั้งหลายก็มลายสูญไป เป็นสุขใจแก่ผู้บูชา




  


4. วัดสาครสุ่นประชาสรรค์


 

        แรกเริ่มสถานที่ตั้งวัดสาครสุ่นประชาสรรค์ เป็นท้องทุ่งนา หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่าคลองขี้เสือ การสัญจรไปมาสมัยนั้นลำบากมาก การเดินทางต้องใช้ทางเรือมาตามคลองบ้าง ลัดเลาะไปตามคันคูนาบ้าง ชาวบ้านจะไปทำบุญแต่ละครั้งต้องไปยังวัดลาดพร้าว วัดลาดปลาเค้า หรือวัดบึงทองหลาง ซึ่งไปมาลำบากอีกทั้งละแวกย่านนี้ไม่มีวัดใกล้เคียง พระครูธรรมศาสน์อุโฆษ (อาจารย์ช้อย) และพระภิกษุเล็ก (ผู้ใหญ่เล็ก) ได้คิดที่จะสร้างวัดขึ้น จึงได้ปรึกษาคุณย่าสุ่น พานิชเฮ็ง ซึ่งเป็นคหบดีที่ฝักใฝ่ทำนุบำรุงศาสนา มีความยินดีมากจึงได้ตกลงยกที่ดินจำนวน 10 ไร่ 3 งาน 98 ตารางวา อยู่ในท้องที่หมู่ 2 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว ให้เป็นสถานที่สร้างวัดโดยมีพระครูสุวรรณวรวัฒน์ (อาจารย์เลื่อน) เจ้าอาวาสวัดลาดพร้าวในสมัยนั้นรับภาระเรื่องการก่อสร้างวัดด้วยความเต็มใจ ต่อมาได้ดำเนินการขออนุญาตสร้างวัดต่อกรมการศาสนาและได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างวัดได้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2513 แต่ปีนั้นฝนตกชุกน้ำท่วมทำให้การก่อสร้างวัดไม่สามารถทำได้เพราะการคมนาคมไปมาไม่สะดวก จึงได้เลื่อนการก่อสร้างมาเป็นวันที่ 15 เมษายน 2514 โดยเริ่มก่อสร้างกุฎิครึ่งตึกครึ่งไม้เป็นอันดับแรก 

 

        ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2514 พระครูสุวรรณวรวัฒน์ได้คัดเลือกพระภิกษุสามเณรจำนวน 12 รูป มีท่านพระครูธรรมศาสนโฆษ (ช้อย) เป็นหัวหน้า แต่ท่านอาพาธไม่สามารถมาได้ พระครูวิริยกิจโสภณ (พระมหาหมุน ปนฺนภาโร) จึงได้เป็นหัวหน้ามาแทน พร้อมได้ทำการวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างพระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2515 จวบจนกระทั่งปัจจุบันวัดสาครสุ่นประชาสรรค์ได้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชนในละแวกนี้ โดยมีพระครูวิริยกิจโสภณ (พระมหาหมุน ปนฺนภาโร) เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกและองค์ปัจจุบันนี้
  


5. ตำหนักพระแม่กวนอิม

 

      

         
     

   ตำหนักพระแม่กวนอิม ตั้งอยู่ที่ 4/37 ถนนโชคชัย 

4 (39) แขวงลาดพร้าว ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2526 เป็นศาสนสถานที่สวยงามตามศิลปะเมืองจีนมีสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่มาจากทั่วโลกโดยเฉพาะโบราณวัตถุ

จากประเทศจีนที่ตื่นตามากมายหาดูได้ยาก ส่วนพระมหาเจดีย์พระพุทธเจ้าหมื่นพระองค์ ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2531 โดยสมเด็จพระ

พุฒาจารย์ วัดมหาธาตุ รักษาการณ์สมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้น พระมหาเจดีย์หมื่นพระองค์นี้กล่าวว่าใหญ่ที่สุดในเอเซียอาคเนย์มีความสูงถึง 21 ชั้น ที่ความสูง 8.30 เมตร มีความวิจิตรปราณีต สวยงามมาก รอบพระมหาเจดีย์มีรูปพระแม่กวนอิมพันกรขนาดใหญ่ตั้งอยู่ 4 ทิศ ซึ่งแกะสลักจากไม้จันทร์หอม จากประเทศจีนปิดทองคำเหลืองอร่าม ทั้ง 4 องค์

 

       

        ตำหนักพระแม่กวนอิมแห่งนี้นับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งหากดูภายนอกจะเห็นเพียงมหาเจดีย์ที่สูงเท่านั้นหากเข้าไปดูภายในจะมีของดีมากมายโดยที่ท่านไม่ต้องเดินทางไปดูถึงต่างประเทศและในเทศกาลกินเจของทุกปีจะมีขบวนแห่องค์พระแม่กวนอิมและเทพเจ้าปางต่างๆ อย่างสวยงามยาวนับกิโลเมตรให้ประชาชนสองข้างทางที่ขบวนแห่ผ่านได้กราบไหว้บูชาอีกด้วย