ประวัติ
          พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยกรุงเทพฯ เป็นสถานที่จัดแสดงเปลือกหอยสวยงามหาชมได้ยากหนึ่งในไม่ กี่แห่งในโลก มีการจัดแสดงเปลือกหอยจากทั่วโลก ที่ผ่านการสะสม และศึกษาส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นมานานหลายสิบปี โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาเปลือกหอยในหลากหลายแง่มุม เพื่อเยาวชนไทยและกลุ่มผู้ที่สนใจ และเพื่อเป็นสีสันการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ กรุงเทพฯ
พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยกรุงเทพฯ ได้จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2552 สืบเนื่องจากคุณจอม ปัทมคันธิน แฟนพันธ์แท้เปลือกหอย 2 สมัยจากรายการ แฟนพันธ์แท้ ผู้ที่หลงไหลความมหัศจรรย์ของเปลือกหอย จากคำถามที่ไม่สามารถหาคำตอบได้จากหนังสือ หรือในห้องเรียน มีส่วนจัดแสดง 3 ชั้น รวบรวมเปลือกหอยมากกว่า 600 ชนิด แบ่งกลุ่มที่น่าสนใจแยกตามชั้นต่างๆ ทำให้ผู้เข้าชมสามารถสัมผัสถึงความสวยงาม และความหลากหลายของเปลือกหอย ที่จัดแสดง

ชั้นที่ 1 ทำความรู้จักกับวิธีการสร้างเปลือกของหอย “เปลือกหอยเกิดขึ้นได้อย่างไร”
ท่านจะได้พบกับเปลือกหอยที่มีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมากจาก เช่น หอยมือเสือยักษ์ ซึ่งเป็นหอยสองฝาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนักถึง 300 กิโลกรัม รวมไปถึง เปลือกหอยโข่งที่มีผิวด้านในเป็นผิวมุกสวยงาม หอยเท้าช้างชนิดต่างๆ ที่ล่าเม่นเพื่อเป็นอาหารรวมไปถึง หอยกระต่าย หอยเปลือกบางขนาดเล็ก ที่มีพิษรุนแรงทำให้ได้ชื่อว่า เพชรฆาตทางเรียบ

ชั้นที่ 2 ตื่นตากับสีสันของเปลือกหอยที่สวยงามจนได้ชื่อว่า อัญมณีแห่งท้องทะเล
ไฮไลท์ ของชั้นนี้อยู่เปลือกหอยสองฝาที่มีสีสันสวยงาม เช่น หอยเชลล์จักรพรรดิ หอยเชลล์โซมาเลีย ที่เด่นที่สุดของหอยสองฝาชั้นนี้ คือ หอยแครงที่มีลักษณะเป็นรูปหัวใจ รวมไปถึงหอยฝาเดี่ยวที่น่าสนใจในชั้นนี้คือ กลุ่มหอยแต่งตัวมีลักษณะการสร้างและตกแต่งเปลือกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สำหรับกลุ่มหมึก จัดแสดงฟอสซิลแอมโมไนต์ อายุ 160 ล้านปี และหมึกที่เป็นที่รู้จักกันในนามหอยงวงช้าง ด้วยโครงสร้างของเปลือกที่ซับซ้อนจึงเป็นต้นกำเนิดของเรือดำน้ำในปัจจุบัน

ชั้นที่ 3 ศึกษาพฤติกรรมการล่าเหยื่อ และการเอาตัวรอด ของหอยชนิดต่างๆ รวมไปถึงหอยทากต้นไม้ ที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน
หอยเต้าปูน ซึ่งเรารู้จักกันในนามของหอยมรณะ ไม่เพียงแต่มีอันตรายต่อหอย หรือปลาเท่านั้น ยังสามารถฆ่าชีวิตมนุษย์ได้ภายในเวลา 5 นาที เท่านั้น สำหรับหอยน้ำจืด เช่น หอยกาบแม่น้ำน้อยคนนักจะรู้ว่าภายในเปลือกดำๆ สีน้ำตาลสกปรกนั้นภายในจะอุดมไปด้วยสารเคลือบมุก มีผิวมุกที่สวยงามไม่แพ้มุกจากทะเล 
 
แผนที่และการเดินทาง
 

การเดินทางด้วยรถเมล์
รถประจำทาง สาย 15, 76, 77
รถประจำทางปรับอากาศ ปอ. 77, 115, 163, 172, 514, 544, 547


ข้อมูลและรูปภาพ bkkseashellmuseum.co.th,manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000018292
ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ 11 มีนาคม 2561