ประวัติ
          วัดหัวลำโพง ตั้งอยู่เลขที่ ๗๒๘ ถนนพระราม ๔ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เดิมชื่อวัดวัวลำพอง เป็นวัดราษฎร์ ใครเป็นคนสร้างและสร้างเมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่คาดว่าคงสร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ ทั้งนี้โดยอาศัยการสันนิษฐานจากรูปทรงของอุโบสถหลังเก่าและเจดีย์ด้านหลัง ซึ่งสร้างคู่กันมา
ความเป็นมาของวัดนี้ มีผู้รู้ประมวลไว้ โดยอาศัยจากการเล่าต่อๆ กันมาว่า ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าทำลายเผาผลาญบ้านเมือง ตลอดวัดวาอารามจนในที่สุดได้เสียกรุงแก่ข้าศึก เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๓๑๐ ซึ่งเป็นการเสียกรุงครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ การสงครามครั้งนี้ประชาชนเสียขวัญและได้รับความเดือดร้อน บางพวกไม่สามารถที่จะอาศัยอยู่ถิ่นเดิมต่อไปได้ จึงพากันอพยพครอบครัว ลงมาทางใต้ตั้งถิ่นฐานที่บริเวณวัดหัวลำโพงในปัจจุบันนี้เห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะ ยังไม่มีเจ้าของถือกรรมสิทธิ์ มีลำคลองเชื่อมโยงสะดวกต่อการสัญจรไปมา จึงได้ตั้งหลักฐานและจับจองที่ดิน นานปีเข้าต่างก็มีหลักฐานมั่นคงเป็นปึกแผ่นทั่วกัน

ต่อมาจึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นตามวิสัยอันดีงามเช่น บรรพบุรุษชาวพุทธทั้งหลาย และให้ชื่อว่า วัดวัวลำพอง ตามความนิยมที่ชื่อของวัดจะพ้องกับชื่อหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านกับวัดส่วนใหญ่ของไทยเรา มักมีชื่อเหมือนกัน หรือมีความหมายเดียวกัน
ปีรัตนโกสินทรศก ๑๐๙ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ หรือที่ประชาชนทั่วประเทศพร้อมใจกันขนานพระนามพระองค์ท่านว่า สมเด็จพระปิยมหาราช ซึ่งเป็นยุคทองของการพัฒนาประเทศชาติในระบบใหม่ ได้ทรงสร้างทางรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คือจากสถานีกรุงเทพฯ ขึ้นไปบริเวณนอกเมืองใกล้กับคูเมืองชั้นนอกคือคลองผดุงเกษม พระราชทานนามว่า สถานีหัวลำโพง ซึ่งอยู่ห่างจากวัดวัวลำพอง ประมาณ ๒ กิโลเมตร
ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ราวเดือนตุลาคมหรือเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูกาลทอดกฐิน จากหลักฐานและคำบอกเล่านั้นว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระกฐินในครั้งนั้น วัดหัวลำโพง ตั้งอยู่เลขที่๗๒๘ ถนนพระราม๔ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก วันเดียวกันถึง ๓ วัด ตามลำดับดังนี้ คือ วัดสามจีน (วัดไตรมิตรวิทยาราม) วัดตะเคียน (วัดมหาพฤฒาราม) และวัดวัวลำพอง (วัดหัวลำโพง)
ในการเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐิน ที่วัดวัวลำพองนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ พระราชทานนามว่า วัดหัวลำโพง และทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เจ้าอาวาสคือ พระอาจารย์สิงห์ ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาธุระที่มีชื่อเสียงองค์หนึ่งในครั้งนั้น เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูญาณมุนี นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้
นับแต่นั้นมาด้วยเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์ไทย อันมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ผู้ทรงวางรากฐานความเป็นมิ่งมงคล และทรงประกอบคุณงามความดีตามหลักพรหมวิหารให้เป็นที่ประจักษ์แก่คณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกา จึงต่างก็ได้ร่วมกันทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนา สร้างถาวรวัตถุให้เจริญยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณต่อพระองค์ท่าน

      วัดหัวลำโพง อันเป็นนามพระราชทาน เป็นนามมิ่งมงคลก็ประสบความเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด บูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุเดิมเพิ่มเติมถาวรวัตถุใหม่ ให้เป็นศรีสง่าแก่พระศาสนา
วัดหัวลำโพง มีที่ดินประมาณ ๒๐ ไร่ ซึ่งในระยะแรกมีเนื้อที่ประมาณ ๗ ไร่ ต่อมานายท้วม พุ่มแก้ว ซึ่งมีที่ดินติดกับเขตวัดด้านถนนพระราม ๔ ถวายที่ดินส่วนนั้นให้แก่วัด ประมาณ ๖ ไร่ และนางสาวลออ หลิมเซ่งไถ่ ได้ถวายพินัยกรรมเป็นที่ดินอีกจำนวน ๗ ไร่ ๑ งาน ๘๘ ตารางวา (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพุทธจักรวิทยา ) ปัจจุบันวัดหัวลำโพงมีที่ดินตั้งวัดและที่ธรณีสงฆ์ คือโฉนดเลขที่ ๓๑๗๓๔ เนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๒ งาน ๘๘ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๒๓๒๗ เนื้อที่ ๗ ไร่ ๒ งาน ๘๘ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๑๙๗๓ เนื้อที่ ๓ งาน ๘๑ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๓๔๑๙ เนื้อที่ ๒ งาน ๗๙ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๑๙๗๒ เนื้อที่ ๙๙ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๓๑๒๓ เนื้อที่ ๖๙ ตารางวา
วันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ วัดหัวลำโพงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยกฐานะวัดขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
 

แผนที่และการเดินทาง




การเดินทางด้วยรถเมล์
รถประจำทาง สาย 25, 29, 34, 36, 47, 50, 93
รถประจำทางปรับอากาศ ปอ. 25, 34, 36, 50, 93, 141, 187, 501

รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสามย่าน


ข้อมูลและรูปภาพ wathualampong.com

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ 11 มีนาคม 2561