ประวัติ
          วัดสวนพลู ตั้งอยู่ที่ ๕๘ ซ.เจริญกรุง (ซอยโรงแรมแชงกรีลา) ๔๒/๑ ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กทม. ปัจุบันมีพระราชวชิรโมลี (โสรัจจ์ มหาโสรจฺโจ) หรือ “พระมหาโสรัจจ์” รองเจ้าคณะภาค ๑๐ เป็นเจ้าอาวาส
อุโบสถของวัดสวนพลูนี้มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก และตั้งแต่ด้านนอกอุโบสถที่เป็นงานปูนปั้นประดับกระจก เครื่องบนของอุโบสถมีปูนปั้นเป็นรูปเทวดานางฟ้าประดับอยู่ดูสวยงามแปลกตา ด้านหลังศาลา มีศาลาทรงไทยตั้งอยู่กลางสระน้ำ เรียกว่า "ศาลพระโพธิสัตว์กวนอิม" ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนแถบนี้ ที่มีผู้คนเข้ามาสักการะสม่ำเสมอมิได้ขาด

พระโพธิสัตว์กวนอิมองค์นี้สันนิษฐานกันว่าน่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เป็นพระมหากษัตริย์ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ ในช่วงนั้นได้มีชาวจีนเข้ามาอาศัยภายใต้พระบรมโพธิสมภารเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวจีนเหล่านั้นก็มีความเคารพนับถือเจ้าแม่กวนอิมอยู่แล้ว จึงได้มีการร่วมกันจัดสร้างเจ้าแม่กวนอิมขึ้นเพื่อเป็นที่เคารพแก่ชาวจีนในแถบนี้

ด้านหนึ่งของอุโบสถ จะเห็นว่ายังมีวิหารอีกหนึ่งหลังตั้งอยู่อย่างสงบใต้ต้นไม้ นั่นก็คือ "วิหารพระพุทธไสยาสน์" มีพระพุทธไสยาสน์ซึ่งได้รับการบูรณะแล้วเป็นสีทองสุกอร่ามอยู่ด้านในสุด และมีพระพุทธรูปปางต่างๆ เช่น ปางนาคปรก และปางอุ้มบาตร ซึ่งเล่ากันสืบต่อมาด้วยความเคารพศรัทธาว่า ท่านได้ก่อปาฏิหาริย์โดยการช่วยชาวบ้านที่ไปหลบภัยบริเวณรอบองค์ท่านให้พ้นจากลูกระเบิดที่ทิ้งมาจากเครื่องบินในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

เดิมทีนั้นวัดสวนพลูมีชื่อว่า วัดคลองล้อม ซึ่งเป็นชื่อตั้งตามสภาพสิ่งเวดล้อมในอดีต มีคลองน้ำใหญ่ล้อมรอบวัด ซึ่งเป็นคลองที่แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เรียกทั่วไปว่า คลองสีลม สามารถผ่านไปตลอดถึงสวนลุม-ประตูน้ำ จากคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ที่อยู่ละแวกวัดสวนพลู ได้บอกเล่าว่า บริเวณคลองล้อมวัดสวนพลูนั้นใหญ่พอที่เรือของพ่อค้าชาวจีนสามารถกลับลำเรือได้ ปัจจุบันเป็นเรื่องที่น่าเสียดายคลองดังกล่าวกลายเป็นถนนสีลมไปแล้ว

ส่วนคำว่า “สวนพลู” นั้นมาจากพื้นที่บริเวณรอบๆ วัด ในอดีตชาวจีนปลูกพลูกันเป็นอาชีพ เพราะคนในสมัยยุคต้นรัตนโกสินทร์นั้นนิยมกินหมากพลู เพื่อจะให้ฟันคงทนแข็งแรงและเป็นความงามด้านใบหน้าด้วย ในครั้งนั้นมีการร่วมสร้างวัดขึ้นเพื่อไว้เป็นศูนย์รวมทางจิตใจ และเป็นบ่อเกิดความสามัคคีในหมู่คณะ จากที่เคยเรียกว่า “วัดคลองล้อม” จึงกลายเป็น “วัดสวนพลู” มาจนถึงปัจจุบัน
หมู่กุฏิของพระสงฆ์ในวัดแห่งนี้มีความโดดเด่นสวยงามด้วยลวดลายไม้ฉลุ ที่เรียกว่าขนมปังขิง ซึ่งประดับตกแต่งอยู่บนเรือนไม้สองชั้นทาด้วยสีเหลืองครีมคาดน้ำตาลเข้ม ฝาไม้ตีซ้อนเกล็ด โดยบริเวณชายคาก็ประดับด้วยไม้ฉลุที่แผงกันแดดเหนือทางเข้า ราวลูกกรงระเบียงชั้นบน และแผงกันแดดระหว่างเสาระเบียง โดยความสวยงามของหมู่กุฏินี้ยังได้รับการการันตีด้วยรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทยจากสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อปี พ.ศ.2545 อีกด้วย

 

แผนที่และการเดินทาง

การเดินทางด้วยรถเมล์
รถประจำทาง สาย 1, 15
รถประจำทางปรับอากาศ ปอ. 77


กรถไฟฟ้า BTS สถานีตากสิน

การเดินทางด้วยเรือ ท่าเรือโอเรียนเต็ล


ข้อมูลและรูปภาพ th.wikipedia.org,oknation.net,komchadluek.net
ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ 11 มีนาคม 2561