กรุงเทพมหานคร ในฐานะเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการปกครองการบริหารราชการ พาณิชยกรรม และการเงินของประเทศ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานภาครัฐ บรรษัทธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้ลงทุนต่างประเทศ หอการค้าต่างประเทศ เป็นด่านหน้าในการรองรับการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นแหล่งพำนักหรือเป็นพื้นที่หลักในการเก็บรวบรวมข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายที่ตอบแบบสอบถามหรือให้ข้อมูลแบบประเมินของดัชนีต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลเป้าหมายส่วนใหญ่ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) นำไปประมวลผลของดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption perceptions Index: CPI) ของประเทศไทย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของกรุงเทพมหานคร ในฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ในการบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 50 เขต ซึ่งแต่ละเขตมีภารกิจและความรับผิดชอบในการจัดบริการสาธารณะ ให้แก่ประชาชนในเขตพื้นที่ของตน รวมถึงมีประชาชน ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจเอกชน มาติดต่อราชการเพื่อขออนุมัติอนุญาต จากสำนักงานเขตต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก แตกต่างจากพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ที่แบ่งการบริหารออกเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ ได้เข้ารับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ทั้งหมด

ดังนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานของสำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร ให้มีคุณธรรมและมีความโปร่งใส รวมถึงเทียบเคียงการดำเนินงานให้สอดรับกับพื้นที่ของจังหวัดอื่น ๆ ดังที่กล่าวมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ขยายการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ไปยังสำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วม และสร้างกลไกการป้องกันการทุจริตในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตามนโยบายในระดับต่าง ๆ ทั้งในระดับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนระดับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง