กรณีคู่สมรสขอจดทะเบียนสมรสกับคู่สมรสเดิม ในการปฏิบัติที่ถูกต้องควรเรียกเก็บทะเบียนหย่าคืนทั้งสองฉบับหรือไม่
ตอบ  กรณีจดทะเบียนสมรส นายทะเบียนเรียกหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องของผู้ร้องตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย
        ว่าด้วยกันจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2541 ข้อ 8 ข้อ 13 และเพื่อมิให้ประชาชนเกิดความสับสนในการใช้เอกสาร
        ทางราชการ หรือเพื่อมิให้ใช้เอกสารในทางทุจริต ควรเรียกเก็บเอกสารการหย่าคืน
การจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนกรณีบัตรสูญหาย หรือถูกทำลาย จะต้องสอบปากคำเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือทุกครั้งใช่หรือไม่
ตอบ  ตามหนังสือสั่งการ ที่ มท 0309.2/ว 3476 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2557 ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ คือ การขอมีบัตร
        เนื่องจากบัตรสูญหาย หรือถูกทำลายให้เรียกหลักฐานเอกสารซึ่งมีรูปถ่ายผู้ขอมีบัตร และเป็นเอกสารที่ทางราชการ
        ออกให้ เช่น ใบอนุญาตขับรถ หนังสือเดินทาง เป็นต้น กรณีผู้ขอมีบุตรไม่สามารถแสดงหลักฐานเอกสารที่ทางราชการ
        ออกให้ได้ ให้สอบปากคำเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือทุกครั้งเสมอไป หากผู้ยื่นคำขอสามารถแสดงเอกสารหลักฐาน
        ของทางราชการที่มีรูปถ่าย ประกอบกับพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วเชื่อได้ว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้อง ก็ดำเนินการ
        จัดทำบัตรให้กับผู้ขอมีบัตรได้ โดยถือปฏิบัติระเบียบกรมการปกครอง ว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน
        พ.ศ. 2554 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 11 (7)
กรณีเกิดในต่างประเทศได้แจ้งเกิดที่สถานทูตแล้ว และมารดาคนไทย บิดาต่างชาติ แต่ตั้งชื่อเด็กเป็นชื่อและชื่อรอง เรียกคำภาษาอังกฤษ กรณีนี้เพิ่มชื่อได้หรือไม่
ตอบ  สามารถขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านได้ โดยนำหลักฐานสำเนา ทะเบียนบ้าน (ทร.14) ของบ้านที่จะขอเพิ่มชื่อ
        บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้อง หลักฐานการเกิดของผู้ขอเพิ่มชื่อ ได้แก่ สูติบัตรที่ออกโดยสถานทูตไทย หรือ
        สถานกงสุลไทยในต่างประเทศ หรือหลักฐานการเกิดที่ออกโดยหน่วยงานของประเทศที่บุคคลนั้นเกิด ซึ่งได้แปลและ
        รับรองความถูกต้องโดยประทรวงการต่างประเทศ หนังสือเดินทางของผู้ขอเพิ่มชื่อและพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ
        ซึ่งสามารถรับรอง และยืนยันตัวบุคคลได้
การเปลี่ยนบัตรใหม่ในกรณีแยกหมู่บ้าน ตำบล จะต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือไม่
ตอบ  ถ้าบัตรยังไม่หมดอายุก็ยังคงใช้ได้ต่อไปไม่จำเป็นต้องขอเปลี่ยนบัตร แต่หากจะขอเปลี่ยนบัตร กรณีย้ายที่อยู่ในขณะที่
        บัตรยังไม่หมดอายุ จะต้องเสียค่าธรรมเนียม (กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียม เกี่ยวกับ
        การทำบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2555)
การจดทะเบียนครอบครัวทุกประเภทต้องมีพยานบุคคลหรือไม่
ตอบ  การจดทะเบียนครอบครัวทุกประเภทต้องนำพยานบุคคล ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุ 20 ปี บริบูรณ์) มาด้วย
        จำนวน 2 คน ตามมาตรา 6 พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 วรรคสอง “เมื่อนายทะเบียนรับ
        จดทะเบียน ผู้ร้องต้องลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญในทะเบียนต่อหน้านายทะเบียน และต่อหน้าพยานสองคน”
 
เมื่อจดทะเบียนการหย่าแล้ว ฝ่ายหญิงยังสามารถใช้นามสกุลของฝ่ายชายได้หรือไม่
ตอบ  เมื่อจดทะเบียนการหย่าแล้ว ฝ่ายหญิงไม่สามารถใช้นามสกุลของฝ่ายชายได้ เนื่องจากการสมรสได้สิ้นสุดลงแล้ว
        เป็นไปตาม มาตรา 13 พระราชบัญญัติ ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 รวมทั้งฉบับแก้ไข “เมื่อการสิ้นสุดลงด้วยการหย่าหรือ
        ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส ให้ฝ่ายซึ่งใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน และเมื่อ
        การสมรสสิ้นสุดลงด้วยความตาย ให้ฝ่ายซึ่งยังมีชีวิตอยู่และใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิใช้ชื่อสกุลนั้นได้ต่อไป
        แต่เมื่อจะสมรสใหม่ให้กลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน”
ถาม-ตอบ จากเว็บไซต์กรมการปกครอง (13 มิ.ย. 60)

คำถามบ่อย


https://www.dopa.go.th/faqs
Page 1 of 1