วัดเครือวัลย์ วรวิหาร

          วัดเครือวัลย์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อปีใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด มีข้อความกล่าวถึงวัดนี้ไว้ในหนังสือ ตำนานพระอารามหลวงและทำเนียบสมณศักดิ์ ซึ่งเจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) เรียบเรียงขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า “วัดเครือวัลย์วรวิหาร อยู่ในคลองมอญฝั่งใต้ เจ้าพระยาอภัยภูธร สร้างในรัชกาลที่ 3 แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดเครือวัลย์วรวิหาร  และวัดนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิสังขรณ์ด้วย แล้วเจ้าพระยาภูธราภัย ปฏิสังขรณ์ต่อมา ถึงรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิสังขรณ์ด้วย”
         หลักฐานเกี่ยวกับผู้สร้างวัดเครือวัลย์และปีที่สร้างยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ บ้างก็ว่า ขณะที่สร้างนั้น เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) ถึงแก่อสัญกรรมแล้วและเจ้าจอมเครือวัลย์ในรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าพระยาอภัยภูธร เป็นผู้สร้าง ดังปรากฎข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า     “ ในคลองมอญวัด 1 เจ้าจอมเครือวัลย์บุตรีเจ้าพระยาอภัยภูธรสร้างใหม่ การยังไม่แล้ว ก็ถึงแก่กรรมเสียจึงโปรดให้ทำต่อไปวัดนั้น แล้วพระราชทานชื่อ วัดเครือวัลย์วรวิหาร”
         จึงกล่าวได้ว่า ชื่อของวัดเครือวัลย์ มาจากชื่อของเจ้าจอมเครือวัลย์ ซึ่งเป็นบุคคลในสกุลบุณยรัตพันธุ์และเป็นวัดของสกุลบุณยรัตพันธุ์
         วัดเครือวัลย์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปฏิสังขรณ์เป็นครั้งคราวและได้เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดผ้าพระกฐิน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2393
         ต่อมาเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) ได้ปฏิสังขรณ์วัด และสร้างเจดีย์ 2 องค์ สำหรับบรรจุอัฐิคน   ในตระกูลบุณยรัตพันธุ์ หรือผู้เกี่ยวเนื่องทางตระกูล
         ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์และทรงสร้างพระเจดีย์องค์เดี่ยว
         วัดเครือวัลย์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงทอดผ้า พระกฐินอยู่เสมอ หรือบางครั้งได้พระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จแทนพระองค์ ดังหลักฐานที่ปรากฎว่า     ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร นำผ้าพระกฐินหลวงมาทอด ณ วัดเครือวัลย์วรวิหาร เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 


แผนที่การเดินทาง  (ระบบ Gis กรุงเทพมหานคร)

เลขที่ 36 แขวงวัดอรุณฯ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600  โทร. 02-465-3565 , 02-465-9592
 รถโดยสารประจำทางที่ผ่าน  สาย 57
 


 
street  view



 
สิ่งสำคัญ ที่น่าชม  
1. พระอุโบสถ  เป็นพระอุโบสถทรงไทย กว้าง 7.70 เมตร ยาว 16.25 เมตร หลังคาลด 2 ชั้น ประดับช่อฟ้าใบระกา หน้าบันตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นลายดอกไม้ ระเบียงและมุขปูด้วยหินอ่อน ซุ้มประตู หน้าต่างทำด้วยปูนปั้นเป็นลายดอกไม้ลงรักปิดทอง บานประตูด้านนอกสลักรูปต้นไม้ ดอกไม้ และรูปนก ลงรักปิดทอง ด้านในเป็นรูปฉัตร 7 ชั้น สอดสีมีทหารแบก ส่วนบานหน้าต่างด้านนอก ลวดลายเช่นเดียวกับบานประตูแต่ทำด้วยปูนปั้น กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนพระอุโบสถหลังนี้ไว้เป็นโบราณสถาน เนื่องจากผนังภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์    เป็นภาพชาดกเรื่องพระเจ้า 500 ชาติที่งดงามมาก ซึ่งไม่มีที่อื่นอีก
2. พระประธานในพระอุโบสถ  เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ หล่อด้วยโลหะลงรักปิดทอง สูงประมาณ 4 วา ประดิษฐานบนฐานชุกชีรูปบัวหงายนูนเด่น มีพระอัครสาวก คือ พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ ยืนอยู่ด้านขวาและซ้าย
3. ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ    ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน เป็นภาพชาดก เรื่อง พระเจ้า 500 ชาติ ใช้ลายกั้นเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 83-84 เซนติเมตร กรอบเขียนลายเนื่องเป็นลายก้านต่อดอกใบเทศ แต่ละช่องเขียนเรื่องพระชาติของพระพุทธเจ้าไว้ 1 พระชาติ ภาพเขียนเหล่านี้ เป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3 มีความวิจิตรงดงาม เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของวัดนี้และกรมวิชาการได้จัดทำขึ้นเป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติม กลุ่มสร้างเสริม ประสบการณ์ชีวิตและกลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัย ระดับประถมศึกษา และกลุ่มวิชาสังคมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา 
4. พระวิหาร  มีรูปทรงและขนาดเดียวกับพระอุโบสถ ตั้งอยู่ด้านขวาพระอุโบสถ ภายในไม่มีภาพเขียนใด ๆ พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ 2 วา
 
สถานที่ถัดไป (วัดใหม่พิเรนทร์)