แหล่งที่มาวีดิทัศน์


 
วัดนาคกลางวรวิหาร

วัดนาคกลาง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร มีเนื้อที่ทั้งสิ้น จำนวน 47 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา เป็นวัดโบราณ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ความเป็นมาตอนหนึ่งว่า เดิมมี 3 วัด คือ
  1. วัดนาค       ปัจจุบันคือวัดพระยาทำวรวิหาร ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือคลองมอญ
  2. วัดกลาง      ปัจจุบันคือวัดนาคกลางวรวิหาร ตั้งอยู่ทางฝั่งใต้คลองมอญ
  3. วัดน้อย      ปัจจุบันคือที่ตั้งโรงเรียนทวีธาภิเศก และเคหสถานที่เช่าปลูกอาศัย
          วัดทั้งสามนี้ มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ดังข้อความที่ปรากฏว่าในหนังสือเรื่อง “ตำนานวัตถุสถานที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา” ตอนหนึ่งว่า
          “ในสมัยที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานีอยู่ 15 ปี ต้องทำศึกสงครามอยู่ทุกปีมิได้ขาด การกู้บ้านเมืองจึงมีโอกาสแต่เพียงรวบรวมราชอาณาเขตซึ่งแตกเป็นหลายก๊กกลับเป็นประเทศเดียวกันได้ดังแต่ก่อน แต่การที่จะก่อสร้างทำนุบำรุงบ้านเมืองให้กลับคืนดีดังเก่า ไม่มีโอกาสและกำลังที่จะทำได้เท่าใดนัก ด้วยเหตุนี้จึงมิใคร่ปรากฏวัตถุสถานที่สร้างในสมัยกรุงธนบุรี แม้ที่มีอยู่บ้างก็พึงสังเกตได้ว่าฝีมือช่างอยู่ข้างเลว เพราะช่างครั้งกรุงศรีอยุธยาถูกพม่ากวาดเอาไปเสีย ช่างที่มีในกรุงธนบุรีก็พึ่งฝึกหัดขึ้นใหม่ ยังมิทันที่จะเชี่ยวชาญ ถึงในการอื่น ๆ เช่น แต่งหนังสือ เป็นต้น ก็เป็นทำนองเดียวกัน ตลอดจนในฝ่ายพุทธจักรก็ต้องเป็นแต่สมมติวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง และเที่ยวหาพระสงฆ์ ซึ่งเหลืออยู่ตามหัวเมือง มาเลือกสรรตั้งเป็นพระราชาคณะปกครองสังฆมณฑล...”
           ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีกรณีรวมชื่อวัด วัดนาค  ให้ชื่อใหม่ว่า วัดพระยาทำ โดยเอาชื่อเดิมมารวมเข้ากับ วัดกลางและวัดน้อย ได้ชื่อใหม่ว่า “วัดนาคกลาง” เมื่อ พ.ศ. 2323 สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ดังความในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า
          “ขณะนั้น พระพุฒาจารย์ ซึ่งเป็นศิษย์สมเด็จพระสังฆราชไปเข้าพวกพระธรรมธีรราชมหามุนี วัดหงส์ ปรึกษาเห็นด้วยกันว่า วัดนาค กับ วัดกลาง มีอุปจารใกล้กันนักจะมีพัทธสีมาต่างกันนั้นมิควรจะมีพัทธสีมาแห่งเดียว ร่วมกระทำ อุโบสถสังฆกรรมในพัทธสีมาอันเดียวกัน จึงให้พระพุฒาจารย์ เป็นผู้เข้าถวายพระพรสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์จึงดำรัสให้ประชุมพระราชาคณะปรึกษาพร้อมกัน ณ วัดบางหว้าใหญ่ ในสำนักสมเด็จพระสังฆราชว่า จะควรมิควร ประการใด และพระราชาคณะทั้งปวงมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า พระอารามทั้งสองนั้นมีคลองคั่นเป็นเขต ควรจะมีพัทธสีมาต่างกันได้ ด้วยมีตัวอย่างมาแต่โบราณ ครั้งกรุงเก่านั้นพระอารามใกล้ ๆ กัน มีอุโบสถ ผูกพัทธสีมาต่าง ๆ กัน มีมาแต่ก่อนเป็นอันมาก...”


แผนที่การเดินทาง  (ระบบ Gis กรุงเทพมหานคร)

ซอยอิสรภาพ 42 แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600  โทร. 02-465-0950 รถโดยสารประจำทางที่ผ่าน 40, 56, 149
 
street  view


 
สิ่งสำคัญ ที่น่าชม  
1. พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ลักษณะทรงไทย หลังคาลด ๓ ชั้น มุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๔ ได้ปฏิสังขรณ์ใหม่
2. พระประธานในพระอุโบสถ  พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด หลวงพ่อพระพุทธประสิทธิ์ เป็นพระประธานใน  พระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ  หน้าตักกว้าง ๗๑ นิ้ว สูงจากฐานถึงพระเกศ ๑๐๔ นิ้ว ลงรักปิดทอง พร้อมทั้ง พระพุทธรูปบูชาต่าง ๆ  และพระอัครสาวกเบื้องขวา เบื้องซ้าย

3. หลวงพ่อโคนสมอมหาลาภ ประดิษฐานที่มณฑปจัตุรมุขเป็นพระพุทธรูปปางหนึ่งที่มีความเก่าแก่มาก ซึ่งเรียกว่า ปางฉันสมอ หรือปางถือผลสมอ มีพระพุทธลักษณะแบบปางมารวิชัยคือนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลาทรงผลสมอ (ผลสมอเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ทรงพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุสามเณรฉันได้ตลอดเวลาแม้ในยามวิกาลเพราะเป็นเภสัชขนานเอก) พระหัตถ์ขวาคว่ำลงที่พระชานุหล่อด้วยโลหะ หน้าตักกว้าง  ๒๙ นิ้ว สูงจากฐานถึงพระเกศ ๔๗ นิ้ว ห่มจีวรคล้ายแบบจีนและทิเบต พระเกศแบบบัวตูม นัยว่าแต่เดิมประดิษ​ฐานอยู่ทางภาคเหนือ ได้ถูกอัญเชิญเคลื่อนย้ายเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์และมาประดิษฐา​นเป็นพระ​พุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประจำวัดนาคกลางวรวิหาร จนถึงทุกวันนี้ 

4. พระปรางค์คู่ ตั้งอยู่ด้านหน้า 2 ข้าง พระอุโบสถ มีฐานกว้าง 4 เมตร สูง 18 เมตร อยู่คู่กับพระอุโบสถ เป็นเวลาช้านาน  

 

5. ศาลาสุธรรมภาวนา (ศาลาพระเจ้าตาก)  ตั้งอยู่ทางซ้ายมือของพระอุโบสถ  ภายในศาลาสุธรรมภาวนา เป็นที่ ประดิษฐานพระพุทธนิมิตฯ หรือหลวงพ่อทอง และพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในพระอิริยาบถต่าง ๆ จำนวน ๙ พระองค์ครึ่ง พร้อมทั้งทหารเสือคู่พระทัย เพื่อเป็นการสืบสานตำนานพระเกียรติคุณ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระวีระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงกอบกู้อิสรภาพคืนสู่แผ่นดินไทย  
6. พระสีวลีมหาลาภ ปางออกจากนิโรธสมาบัติ ตั้งอยู่ทางเข้าวัดด้านซ้ายมือ เป็นพระอรหันต์ผู้เป็นเอตทัคคะด้านลาภสักการะ หากผู้ใดได้บูชาพระสีวลีแล้ว ผู้นั้นจะมีความร่มเย็นเป็นสุข มีลาภผลพูนทวี
 
สถานที่ถัดไป (วัดเจ้ามูล)