แหล่งที่มาวีดิทัศน์


 
วัดท่าพระ

         วัดท่าพระ เป็นวัดโบราณสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายตั้งอยู่ใกล้คลองมอญ  เขตบางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรี มีพื้นที่ ๒๓ ไร่ 1 งาน 44.6 ตารางวา แต่เดิมบริเวณวัดล้อมรอบด้วยคลองมอญ คลองบางกอกใหญ่ และแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเรียกกันว่า "วัดเกาะ" มีคลองเล็กๆ แยกจากคลองบางกอกใหญ่ ไปจนถึงหน้าวัดผ่านไปถึงวัดสังข์กระจาย และวัดราชสิทธาราม  ในเวลาต่อมาได้พบหลวงพ่อเกษรลอยน้ำมาที่คลองหน้าวัด ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ วัดท่าพระ” แทนชื่อวัดเกาะจากเดิม 

แผนที่การเดินทาง  (ระบบ Gis กรุงเทพมหานคร)

 เลขที่ 20/1 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600  โทร. 02-467-4719 , 02-467-3522   รถโดยสารประจำทางที่ผ่าน สาย 42, 57, 68, 81, 91, 108

street  view


 
สิ่งสำคัญ ที่น่าชม  
1. พระอุโบสถ  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลังคาลด ๓ ชั้น หน้าบันมีพระปรมาภิไธย สก และปั้นเป็นรูปครุฑ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๘ เมตร เป็นอุโบสถสร้างใหม่ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ โดยศรัทธาในหลวงพ่อ เกษร อุโบสถมีขนาดใหญ่ผนังด้านนอกประดับกระเบื้องเบญจรงค์ลายเทพพนม ฝีมือประณีตงดงามทุกตารางนิ้ว การติด กระเบื้องเบญจรงค์จะมีลวดแสตนเลสทำเป็นหูยึดติดผนังทำให้ไม่หลุดร่อน แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานก็ตาม พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ซึ่งทางวัดมีโครงการที่จะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในโอกาสต่อไป ถัดลงมาเป็นพระพุทธรูปลงรักปิดทอง ด้านซ้ายและขวาเป็นพระมหาโมคคัลลานะและพระสารีบุตร ผนังรายรอบ อุโบสถงดงามด้วยภาพเขียนฝีมือช่างชั้นครู ที่ผนังด้านหลังพระประธานเขียนภาพเทพชุมนุม ระหว่างช่องหน้าต่างเขียน เรื่องมหาเวสสันดรชาดก เหนือหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติ  ช่างเขียนใช้กรรมวิธีสมัยใหม่ที่เขียนลงบนผ้าก่อนที่จะผนึกติดผนังซึ่งเป็นที่นิยม บานประตูหน้าต่างแกะสลักเรื่องพระเจ้า ๑๐ ชาติ ลายแกะสลักแต่ละบานช่างได้เขียนแบบให้มีความแตกต่างกันทุกบาน รวม ๑๔ บาน 
2. วิหารหลวงพ่อเกษร  เป็นอาคารจตุรมุข ทางวัดสร้างครอบวิหารหลังเดิมเพื่ออนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษากรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุและโบราณสถานตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ เป็นต้นมา สร้างเพื่อเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเกษร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัด เชื่อว่าเป็นพระพี่พระน้องกับหลวงพ่อวัดบ้านแหลมและหลวงพ่อโสธร เพราะลอยน้ำมาขึ้นที่วัดเหมือนกัน มีความศักดิ์สิทธิ์มากเช่นเดียวกัน  วิหารหลวงพ่อเกษร มีศิลปกรรมโบราณครั้งอยุธยาตอนปลายที่ปรับรูปแบบจากสมัยอยุธยาตอนต้น  คือบานประตูไม้สักแกะสลักรูปทวารบาลทั้ง ๒ บาน มีนักประวัติศาสตร์ศิลปะผู้มีชื่อเสียงอธิบายไว้ว่าเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ทำตามเดิมเหมือนอยุธยาตอนต้น เป็นรูปทวารบาลเต็มบาน ยืนบนแท่น มียักษ์แบกองค์เทวดาสวมเทริด ทรงสูง (เทริด:เป็น มงกุฎรูปแบบหนึ่ง โบราณเป็นรูปกรวยสูงปลายแคบ ทำจากผ้าหรือหนังสัตว์ อลงกตด้วยอัญมณีต่าง ๆ เป็นราชภัณฑ์สำหรับกษัตริย์หรือจักรพรรดิ โดยเฉพาะในยุคเมโสโปเตเมีย ต่อมาเปลี่ยนไปเป็นทรงเตี้ย ทำจากโลหะต่าง ๆ ประดับอัญมณี)  
3. หลวงพ่อเกษร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อโลหะ หน้าตักกว้าง ๔๐ นิ้ว สูงจากปลายรัศมีถึงทับเกษร ๖๓ นิ้ว เมื่อครั้งที่วัดมีสภาพเป็นเกาะมีลำน้ำล้อมรอบ หลวงพ่อเกษรลอยมาที่ท่าน้ำบริเวณกุฏิสามัคคีซึ่งปัจจุบันถมแล้ว วันนั้นตรงกับ ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๔ ท่านเจ้าอาวาสพระครูมงคลกิจจานุกูลทำพิธีบวงสรวงขออนุญาต บูรณะหลวงพ่อเกษร ช่างทำการลอกทองที่ปิดพระองค์หนึ่งลักษณะคล้ายภิกษุณีพบข้อความจารึกว่า หลวงมหานาควัดประสาท ศักราช ๒๒๖๙ และมีจารึกต่อว่า พระวสา ปีมะเมีย อรรถ ๓ เดือน ๔ วัน ๕ เป็นศักราชก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา ๔๑ ปี
 
สถานที่ถัดไป (วัดนาคกลาง)