ความก้าวหน้าการดำเนินงาน
รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานสนองพระราชดำริ
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สนองพระราชดำริโดย กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2565
……………………………………………….
กรุงเทพมหานคร ร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ โดยมีผลการดำเนินงานครบ 3 กรอบการดำเนินงาน จำนวน 5 กิจกรรม ดังนี้
กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร
กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากร
1. สำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืชควรค่าแก่การอนุรักษ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขต ดำเนินการสำรวจพืช ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาควรค่าแก่การอนุรักษ์พันธุกรรมภายในพื้นที่กรุงเทพมหานครเช่น
- พืชควรค่าแก่การอนุรักษ์ในพื้นที่เขตจตุจักรที่พบ คือ ต้นโพธิ์ทอง (ชุมชนพหลโยธิน 45) และต้นยางนา (ชุมชนโรงเจ: อายุ 100 ปี)
- พืชควรค่าแก่การอนุรักษ์ในพื้นที่เขตสาทรที่พบ คือ ต้นกร่าง (ไทรกร่าง) ปลูกอยู่ในย่านเจริญกรุงที่ชุมชนศรีสุริโยทัยซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ในซอยเจริญกรุง 57 ปัจจุบันมีอายุมากกว่า 200 ปี
- ภูมิปัญญาชุมชนในพื้นที่เขตราชเทวี คือ ผ้าไหมบ้านครัว ยังคงทอด้วยกี่กระตุก ทั้งผ้าไหมสีพื้น และผ้าไหมลายตาราง โดยนายนิพนธ์ มนูทัศน์ ผู้ผลิตและจำหน่ายผ้าไหมบ้านครัวได้พัฒนาลวดลายให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ลายลูกฟูก ลายลูกฟูกหัวยืนเกล็ดเต่า ลายเกล็ดเต่าประยุกต์ เป็นต้น
ภาพตัวอย่าง ต้นโพธิ์ทองและต้นยางนาที่พบในพื้นที่เขตจตุจักร
ภาพตัวอย่าง ต้นกร่าง (ไทรกร่าง) ย่านเจริญกรุงที่ชุมชนศรีสุริโยทัย
กิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร
1. การปลูกรักษาพันธุกรรมพืชควรค่าแก่การอนุรักษ์
(1) ปลูกและดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ในสวนสาธารณะหลัก จำนวน 39 แห่ง พื้นที่ 3,928 ไร่ 70 ตารางวา (อ้างอิงวันที่ 31 สิงหาคม 2565)
(2) ปลูกและดูแลบำรุงรักษาต้นไม้อนุรักษ์และหายากในพื้นที่สำนักงานเขต เช่น สำนักงานเขตบางกอกน้อยดูแลรักษาพืชที่มีอายุมากหลายชนิด เช่น ต้นเลียบ ต้นคะเคียนทอง ต้นโพธิ์ลังกาหางสั้น เป็นต้น
ภาพตัวอย่าง สำนักงานเขตบางกอกน้อยดูแลรักษาพืชที่มีอายุมากหลายชนิด เช่น ต้นเลียบ ต้นคะเคียนทอง ต้นโพธิ์ลังกาหางสั้น เป็นต้น
(3) ดำเนินการรวบรวมพันธุ์กล้วยไม้หายากของไทย กล้วยไม้เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร กล้วยไม้ต้น พ่อพันธุ์แม่พันธุ์กล้วยไม้พืชดั้งเดิม จำนวน 410 ต้น มาไว้ที่โรงเรือนอนุบาลต้นไม้ บริเวณดาดฟ้า ชั้น 7 อาคารสำนักพัฒนาสังคม
2. การขยายพันธุ์พืชควรค่าแก่การอนุรักษ์เพื่อปลูกหรือแลกเปลี่ยนหรือแจกจ่ายพันธุกรรม
(1) สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขต ดำเนินการขยายพันธุ์พืชที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์พันธุกรรม และดำเนินการขยายพันธุ์พืช เช่น สำนักงานเขตหนองจอกปลูกพืชพุทธรักษา จำนวน 180 ต้น ปลูกและขยายบริเวณชุมชนวัดวงษ์ลาภาราม
ภาพตัวอย่าง สำนักงานเขตหนองจอกร่วมกันปลูกพืชพุทธรักษาบริเวณชุมชนวัดวงษ์ลาภาราม
(2) สำนักพัฒนาสังคมได้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue culture) และแจกจ่ายให้กับประชาชนผู้สนใจทั่วไป จำนวน 10,500 ต้น
กรอบการใช้ประโยชน์
กิจกรรมศูนย์ข้อมูลทรัพยากร
1. การจัดทำฐานข้อมูลพืชควรค่าแก่การอนุรักษ์พันธุกรรมกรุงเทพมหานครและฐานข้อมูลไม้ยืนต้นในสวนสาธารณะและดำเนินการปรับปรุงสื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินงาน อพ.สธ.-กทม.
2. การจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่นพื้นที่เขต สำนักงานเขตมีการบันทึกฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่นให้เป็นปัจจุบัน
กรอบการสร้างจิตสำนึก
กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร
1. การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพมหานคร ณ อาคารศูนย์พันธุกรรมพืชกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถนนบางขุนนนท์ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย
2. งานพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับทรัพยากรทั้ง 3 ฐาน เช่น พิพิธภัณฑ์ หอศิลปวัฒนธรรม นิทรรศการถาวร สำนักงานเขตมีการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขต เช่น พิพิธภัณฑ์เขตจอมทอง ตั้งเมื่อปี พ.ศ.2548 รวบรวมเรื่องราวความเป็นมาของท้องถิ่นย่าน "จอมทอง" ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและความสัมพันธ์กับชุมชนรอบข้าง เป็นต้น
3. งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โดยการดูแลรักษา พัฒนาสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และจัดกิจกรรมการเรียนรู้งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน เช่น เก็บตัวอย่างพรรณไม้ สำรวจพืชหายากในชุมชน จัดทำป้ายชื่อพันธุ์ไม้ เป็นต้น
กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร
1. สนับสนุนการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
(1) โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นสมาชิกงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน 306 แห่งจากโรงเรียนทั้งหมด 437 โรงเรียน คิดเป็น 70 %
(2) สำนักการศึกษา สำนักงานเขตส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนใน เข้าร่วมสมัครเป็นสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
(3) สำนักการศึกษาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนจำนวน ๒๕ โรงเรียน ๆ ละ ๑4,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๔๐๕,๖๐๐ บาท และอบรมเชิงปฏิบัติการ (5 องค์ประกอบ) ให้กับข้าราชการครูกรุงเทพมหานคร จำนวน 50 คน ระหว่างวันที่ 22 - 25 มีนาคม ๒๕๖5 ณ โรงแรมปรินท์พาเลซ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
2. สนับสนุนการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น
(1) สำนักงานเขตแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานการจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น ประกอบด้วย
- คณะกรรมการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น อพ.สธ. – เขต จำนวน 50 สำนักงานเขต
- คณะอนุกรรมการศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่น เขต จำนวน 50 สำนักงานเขต
(2) สนับสนุนสำนักงานเขตในการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น
3. สำนักสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราชดำริโดย กรุงเทพมหานคร กิจกรรมการอบรมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ “งานฐานทรัพยากรท้องถิ่น” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชน ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ได้มีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรทั้ง 3 ฐานในท้องถิ่นของตนเอง ได้แก่ ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เกิดความรู้สึกหวงแหนและร่วมกันปกปักรักษาไว้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน กำหนดฝึกอบรม จำนวน 4 วัน แบบไป – กลับ ระหว่างวันที่ 9 – 12 พฤษภาคม 2565 ณ อาคารธานีนพรัตน์ ชั้น 8 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ – ชำนาญการพิเศษ และประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน – ชำนาญงาน ที่มีผลการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น จำนวน 100 คน
4. ปรับปรุงข้อมูลในเว็บไซด์และสื่อประชาสัมพันธ์ อพ.สธ. - กทม.
5. การจัดทำป้ายชื่อพรรณไม้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
สำนักสิ่งแวดล้อมจัดทำป้ายชื่อและบอกลักษณะทางพฤกษศาสตร์พืชควรค่าแก่การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชให้แก่สวนสาธารณะ จำนวน 1,000 ป้าย
ภาพตัวอย่าง ป้ายชื่อต้นไม้ที่ติดในสวนสาธารณะหลัก กรุงเทพมหานคร