วัดดีดวด

วัดดีดวด เป็นวัดราษฎร์ ตำนานเรื่องราวของวัดดีดวดนั้น ไม่มีหลักฐานซึ่งผู้ใดได้จดบันทึกไว้ เพราะเหตุที่วัดนี้เป็นวัดเล็กวัดน้อย ไม่เป็นที่น่าสนใจของใคร ตั้งอยู่กลางสวนเงียบสงบเป็นที่พำนักอย่างผาสุกของพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น มีผู้สันนิษฐานว่า วัดดีดวดเป็นวัดที่มอญสร้างขึ้น เป็นวัดสร้างมาเก่าแก่มีอายุอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ข้อสันนิษฐานนี้น่ารับฟังด้วยเหตุผลที่ว่า วัดนี้ตั้งอยู่ใกล้คลองมอญทั้งชื่อวัดว่า “ดีดวด”ก็ว่าเป็นภาษามอญจากคำเดิมว่า “ดีด๊วด” หรือจะว่าเป็นทั้งภาษาไทยปนมอญก็ได้ คือ “ดี” คำหนึ่ง “ด๊วด”อีกคำหนึ่ง ด๊วด ภาษามอญแปลว่าเล็ก,ไม่ใหญ่โต “ดี” เป็นชื่อคนอาจเป็นชื่อของผู้สร้างวัดนี้ ชื่อดีรูปร่างเล็กก็ได้ หรือดีเป็นชื่อคนหนึ่ง ด๊วดเป็นชื่ออีกคนหนึ่งรวมกันเป็นผู้สร้างวัดนี้ก็ได้ ข้อสันนิษฐานหลังนี้มีฐานะด้วยมีหลายปากเล่าสืบๆกันมาว่ามีมอญสองคนผัวเมีย ผัวชื่อดี เมียชื่อด๊วด ได้นำอิฐล่องเรือมาขาย เมื่อมาถึงถิ่นนี้เห็นเป็นทำเลดีพอที่จะตั้งโรงทำอิฐขายต่อไปได้ จึงได้ตั้งหลักฐานบ้านช่องทำอิฐขายเป็นอาชีพต่อไป จึงอาจสันนิษฐานว่า นายดีและนางด๊วดจะเป็นหัวหน้าสร้างวัดนี้ และดีด๊วดก็กลายเป็นชื่อวัด จนเปลี่ยนเป็น “ดีดวด” จนทุกวันนี้ก็เป็นได้ มีข้อมูลจากกองพุทธศาสนสถาน ปรากฏว่าวัดดีดวด ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2317 ได้รับวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2417 (รหัส 1016007 วัดดีดวด) 
 
แผนที่การเดินทาง  (ระบบ Gis กรุงเทพมหานคร)

116 จรัญสนิทวงศ์ 12 แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ 10600   โทร. 02-864-0384  รถโดยสารประจำทางที่ผ่าน 42, 57, 68, 81, 91, 108

street  view

 
สิ่งสำคัญ ที่น่าชม  

1. พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาลด 2 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบมีขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 17 เมตร เดิมวัดดีดวดมีฐานะแต่เพียงสำนักสงฆ์เท่านั้นยังไม่มีพระอุโบสถ ปฐมเหตุที่จะได้มีการก่อสร้างพระอุโบสถหลังนี้ขึ้น     ก็เพราะเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2447 นางจันทร์  สุทธิศรีศิลป์ คหปตานีตรอกเจ๊สัวเนียม เยาวราช ได้มาทำการทอดกฐินที่วัดดีดวด ซึ่งในขณะนั้นมีพระภิกษุจำพรรษาแต่เพียงรูปเดียวเท่านั้น กุฏิที่พำนักอาศัยอยู่ก็ชำรุดผุพังทั้งสิ้น กุฏิเสนาสนะ ต่างๆ เท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น ก็คือวิหารเล็กๆ เป็นโรงไม้หลังคามุงสังกะสี กุฏิไม้สูงมีหอระฆัง กุฏิไม้ใต้ถุนสูง 3 หลัง ปลูกติด ต่อกัน มีหอสวดมนต์อยู่กลาง กับศาลาการเปรียญเท่านั้น บริเวณที่วัดดีดวดนี้มีส่วนมากเป็นสวนมะขวิดบ้าง ดงตะขบบ้าง และรกร้างว่างเปล่า ยังไม่มีพระอุโบสถให้พระภิกษุที่จำพรรษาลงกระทำสังฆกรรมตามพระวินัยบัญญัติ เป็นที่น่าสังเวชยิ่งนัก จึงได้ปวารณาตัวไว้ หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 แล้วท่านสมภารบุตร ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส ในขณะนั้นได้พบกับนางจันทร์ สุทธิศรีศิลป์ ร้องขอให้ดำเนินการสร้างพระอุโบสถ เพราะถึงปักษ์ที่จะต้องลงกระทำสังฆกรรม ต้องไปอาศัยวัดอื่น ไม่เป็นที่สะดวกและมักจะถูกรังเกียจ พระอุโบสถที่จะสร้างขอเพียงให้สร้างเป็นไม้หลังคามุงสังกะสีไปก่อนเท่านั้นก็พอ แต่ก็ถูกคัดค้านจากบรรดาลูกหลาน ดังนั้น จึงดำริที่จะปลูกสร้างให้เป็นอาคารถาวรสืบไป โดยได้เริ่มขอพระราชทานวิสุงคามประมาณกลางปี พ.ศ. 2477 ต่อจากนั้นมาอีก 3 เดือน ก็ได้รับพระราชทานวิสุงคามตามความประสงค์ แล้วจึงลงมือทำการก่อสร้างเสร็จ ยกช่อฟ้าและผูกพัทธสีมา เมื่อประมาณ พ.ศ. 2478 ภายในพระอุโบสถ หลังใหม่นี้ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ปางสมาธิเป็นพระประธาน กับมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลทรงกลมแบน หล่อด้วยโลหะรมดำอีก 1 องค์


2. วิหารน้อย เดิมเป็นโรงไม้ชั้นเดียวหลังเล็กๆเตี้ยๆ คลุมด้วยสังกะสี สร้างอยู่บริเวณที่ตั้งพระอุโบสถหลังปัจจุบันเป็นดงตะขบ ต่อมาเมื่อจะมีการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่นี้ขึ้น จึงได้จัดการย้ายมาก่อสร้างใหม่หน้าศาลาการเปรียญเดี๋ยวนี้เป็นอาคารหลังเล็กๆ ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร พร้อมกับอัญเชิญพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปางป่าเลไลยก์ ที่เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ดั้งเดิม และเคยประดิษฐานอยู่ในวิหารมาประดิษฐานอยู่ในวิหารมาประดิษฐานในวิหารหลังใหม่นี้ด้วย แต่รูปปั้นช้างและลิงประกอบปางได้สูญหายไปเสียแล้ว
 
สถานที่ถัดไป (วัดประดู่ในทรงธรรม)