ภาษีบำรุงท้องที่ คือ ภาษีที่จัดเก็บจากที่ดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัย ทำการเกษตรและที่ดินว่างเปล่า 

ผู้มีหน้าที่เสียภาษี 
         คือ เจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นบุคคลหรือคณะบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล

ฐานภาษีและอัตราภาษี 
         ฐานภาษี คือ ราคาปานกลางที่ดินที่คณะกรรมการซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งได้กำหนดขึ้น ปกติให้เสียภาษีตามบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ ท้ายพระราชบัญญัติโดยจะกำหนดตามที่ตั้งที่ดิน เช่น ที่ดินติดถนน ตรอก ซอยและอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันราคาปานกลางที่ดินที่ใช้ประเมินภาษีบำรุงท้องที่เป็นราคาที่ใช้ประเมินตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ -๒๕๒๔ โดยราคาต่ำสุด คือ ราคาปานกลางไร่ละ ๑,๖๐๐ บาท อัตราภาษีไร่ละ   ๘ บาท และสูงสุด คือ ราคาปานกลางไร่ละ ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท อัตราภาษีไร่ละ ๒๒,๔๙๕ บาท 
ที่ดินที่ใช้ประกอบกสิกรรมเฉพาะประเภทไม้ล้มลุกให้เสียกึ่งอัตรา แต่ถ้าเจ้าของที่ดินประกอบกสิกรรมประเภทไม้ล้มลุกนั้นด้วยตนเอง ให้เสียอย่างสูงไม่เกินไร่ละ ๕ บาท 
ที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพของที่ดิน ให้เสียเงินเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่า 

ขั้นตอนการยื่นเสียภาษี 
          การยื่นแบบพิมพ์ ให้เจ้าของที่ดินในวันที่ ๑ มกราคมของปีใด มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ในปีนั้น และยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.๕) ต่อเจ้าพนักงานประเมิน ณ สำนักงานเขตที่ที่ดินตั้งอยู่ เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการยื่นแบบ กรณีที่ดินรายใหม่หรือปีที่มีการตีราคาปานกลางให้เจ้าของที่ดินยื่นแบบเสียภาษีภายในเดือนมกราคมของปีที่มีการตีราคาปานกลางที่ดินหรือทุกรอบระยะเวลา ๔ ปี หรือภายใน ๓๐ วัน กรณีที่ได้กรรมสิทธิ์ใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ โดยยื่นแบบ ภ.บ.ท.๕ พร้อมสำเนาหลักฐานประกอบการพิจารณา ได้แก่ 
         ๑. บัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน 
         ๒. โฉนดที่ดินและหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินหรือหนังสือสัญญาอย่างอื่น 
         ๓. ใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีครั้งสุดท้าย (ถ้ามี) 
         ๔. ใบมอบอำนาจ กรณีให้ผู้อื่นทำการแทน 
         ๕. อื่น ๆ 

กำหนดระยะเวลาให้ยื่นแบบแสดงรายการ 
         ๑. ครั้งแรกยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.๕) ภายในเดือนมกราคมของปี และให้ได้เป็นเวลาสี่ปี 
         ๒. ถ้าที่ดินมีการเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนเจ้าของอันเป็นเหตุให้อัตราภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินเปลี่ยนแปลงไปต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่มีเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น  ๆ 

การขอลดหย่อนภาษี
         เจ้าของที่ดินใช้ปลูกบ้านอยู่อาศัยของตนเอง ใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ของตนเองและประกอบกสิกรรมของตนเอง เช่น ทำนา ทำสวน จะมีสิทธิได้รับการลดหย่อนไม่ต้องเสียบำรุงท้องที่ ดังนี้ต่อไปนี้ 
ได้รับการลดหย่อน ๑๐๐ วา ถ้ามีที่ดินอยู่ในพื้นที่เขตดุสิต 

การชำระภาษี
          ๑. ในปีแรกที่มีการตีราคาปานกลางของที่ดิน ให้ยื่นหลักฐานการแจ้งการประเมิน (ภ.บ.ท.๙) พร้อมชำระเงินภายในเดือนเมษายน กรณีได้รับแจ้งการประเมินหลังเดือนมีนาคมให้ชำระภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน 
         ๒. กรณีอื่น ๆ ให้ชำระภายในเดือนเมษายนของทุกปี
                  ๒.๑ ปีแรกให้ยื่นหลักฐานการแจ้งการประเมิน (ภ.บ.ท.๙) พร้อมชำระเงินภายในเดือนเมษายน ถ้าเลยกำหนดให้ชำระภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน 
                  ๒.๒ กรณีอื่น ๆ ให้ชำระภายในเดือนเมษายนของทุกปี 

ขั้นตอนการยื่นแบบชำระภาษีบำรุงท้องที่ 
         ๑. การยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.๕) 
ผู้มีหน้าที่ที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ ต้องมาขอกรอกแบบแสดงรายการเสียภาษีต่อเจ้าพนักงานประเมิน ณ ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขต ที่ที่ดินตั้งอยู่ โดยจะต้องยื่นแบบเพื่อขอประเมินภาษีภายในเดือนมกราคมของปีแรกที่มีการตีราคาปานกลางที่ดิน 
         ๒. การตรวจสอบและคำนวณภาษี รับแบบยื่น (ภ.บ.ท.๕) 
เจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานเขตรับแบบยื่น ภ.บ.ท.๕ จากประชาชน โดยทำการตรวจสอบหลักฐานทั้งหมด เพื่อทำการคำนวณค่าภาษี 
         ๓. การแจ้งการประเมินภาษี 
เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการประเมินค่าภาษีเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีดังกล่าวให้ประชาชนทราบ (ภ.บ.ท.๙ และ ภ.บ.ท.๑๐) 
         ๔. การชำระเงินค่าภาษี 
สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้ 
              ๔.๑ การชำระค่าภาษีทั้งหมดในระยะเวลาที่กำหนด (ภายในเดือนเมษายนของทุกปี) เว้นแต่กรณีที่ได้รับแจ้งการประเมินหลังเดือนมีนาคม ต้องชำระภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันรับหนังสือแจ้งการประเมิน ชำระเงินที่ฝ่ายการคลัง สำนักงานเขต หรือชำระที่กองการเงิน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร   (เสาชิงช้า) โดยสามารถชำระเงินค่าภาษีทั้งหมดด้วยเงินสด เช็ค หรือธนาณัติ โดยวันที่จ่ายเช็ค วันที่โอนเงินทางธนาณัติจะถือเป็นวันชำระเงิน โดยไม่มีการคิดเงินเพิ่ม
              ๔.๒ การชำระค่าภาษีผ่านธนาคารกรุงไทย 
                    ๑ เจ้าพนักงานแจ้งประเมินค่าภาษีและออกใบแจ้งหนี้ค่าภาษีให้ผู้เสียภาษี 
                    ๒. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีรับใบแจ้งหนี้ค่าภาษี 
                    ๓ นำใบแจ้งหนี้ค่าภาษีไปติดต่อชำระเงินที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ รอรับใบเสร็จเก็บไว้เป็นหลักฐาน 

              ๔.๓ การชำระภาษีผ่านตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย

สำหรับตู้ ATM ที่มีช่องอ่านบาร์โค๊ด

           สำหรับตู้ ATM ธรรมดา

๑. เลือกช่องบริการอื่น ๆ 
๒. เลือกประเภทบริการชำระด้วยบาร์โค๊ด
๓. สแกนใบนำชำระภาษี 
๔. ดำเนินการตามขั้นตอนที่ตู้ ATM ระบุ

๑. เลือกชำระค่าบริการ
๒. ใส่รหัสของกรุงเทพมหานคร ๙๒๙๙
๓. ดำเนินการตามขั้นตอนที่ตู้ ATM ระบุ

 

๔.๔ การชำระภาษีผ่านทาง Internet
                      ๑. สมัคร KTB Online กรณีบุคคลธรรมดา และ KTB Corporate Online กรณีนิติบุคคลที่ www.ktb.co.th
                      ๒. ลงทะเบียนใช้บริการกรุงเทพมหานครที่ http://epay.bangkok.go.th เพื่อขอ Username และ Password
                      ๓. เลือกชำระเงินผ่านธนาคารกรุงไทยออนไลน์ และใส่ Username / Password ของธนาคารกรุงไทยที่สมัครไว้ แล้วเลือกบัญชีที่ประสงค์จะให้หักเงิน

หมายเหตุ.- 
              เฉพาะการชำระภาษีประจำปีภายในกำหนดเวลา/ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมการชำระภาษีรายการละ ๑๐ บาท