​ 

ประวัติศาสตร์ของสำนักงานเขตดินแดงและพื้นที่เขตดินแดง

นายวัฒนา กีรติชาญเดชา
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ
ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตดินแดง

ข้อมูลทั่วไป/สถานการณ์ของพื้นที่

เขตดินแดงเป็นหนึ่งใน 50 พื้นที่เขตการปกครองของกรุงเทพมหานคร อยู่ในกลุ่มเขตกรุงเทพกลาง ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือฝั่งพระนคร มีพื้นที่ในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 8.354 ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองภายในออกเป็น 2 แขวง ได้แก่ แขวงดินแดง พื้นที่ 3.736 ตารางกิโลเมตร และแขวงรัชดาภิเษก พื้นที่ 4.618 ตารางกิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อกับเขตจตุจักรทางทิศเหนือ เขตราชเทวีทางทิศใต้ เขตห้วยขวางทางทิศตะวันออก และเขตสามเสนในทางทิศตะวันตก ลักษณะทั่วไปเป็นพื้นที่แหล่งการค้าการบริการ และแหล่งที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก[1]

ประวัติศาสตร์สังคมของเขตดินแดง

ในอดีต พื้นที่เขตดินแดงเดิมเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งสามเสนใน ในช่วงกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระราชดำริปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อพ.ศ. 2437 โดยโปรดให้ยกเลิกระบบจตุสดมภ์และใช้ระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เหตุการณ์นี้นำไปสู่การจัดตั้งมณฑลกรุงเทพ และแบ่งเขตการปกครองภายในจังหวัดพระนครและธนบุรีออกเป็นอำเภอชั้นในและอำเภอชั้นนอก พื้นที่ทุ่งสามเสนในที่เป็นเขตดินแดงในปัจจุบันจึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตำบลสามเสนในและตำบลสามเสนนอก อำเภอบางซื่อ จังหวัดพระนคร ขึ้นตรงกับกระทรวงนครบาล ปกครองโดยมีกำนันผู้ใหญ่บ้านตามลักษณะของอำเภอชั้นนอก เนื่องจากเป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีท้องนาทางทิศตะวันออกและทิศเหนือ จึงมีประชากรอยู่อาศัยไม่หนาแน่นมากนัก ในพ.ศ. 2474 อำเภอบางซื่อมีประชากรเพียง 36,290 คน[2]

ต่อมาในพ.ศ. 2481 รัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลหยุหเสนามี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องยุบรวมอำเภอ และยุบอำเภอลงเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2481 เนื่องจาก “ด้วยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ว่า เนื่องจากอำเภอบางแห่งเป็นอำเภอเล็ก มีปริมาณการงานไม่มากนัก และจำนวนพลเมืองมีน้อย ประกอบด้วยการคมนาคมระหว่างอำเภอเหล่านี้สะดวก สมควรที่จะปรับปรุงเขตต์ปกครองเสียใหม่ให้เป็นการเหมาะสมแก่สภาพท้องที่” เป็นเหตุให้ “ยุบอำเภอบางซื่อ แล้วโอนตำบลสามเสนใน ตำบลถนนนครไชยศรี ตำบลบางซื่อ ไปขึ้นอำเภอดุสิต และโอนตำบลสามเสนนอก ไปขึ้นอำเภอบางกะปิ”[3] ทำให้พื้นที่เดิมของเขตดินแดงกลายเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอดุสิตและอำเภอบางกะปิในช่วงเวลานั้น

ในทศวรรษ 2480 เป็นต้นมา พื้นที่ตำบลสามเสนในหรือเขตดินแดงในปัจจุบันเริ่มมีความสำคัญต่อกรุงเทพมหานครอย่างมีนัยยะสำคัญ ในช่วงเวลานี้มีการตัดถนนต่อจากปลายถนนราชวิถีตรงหัวมุมที่บรรจบกับถนนราชปรารภ (ปัจจุบันคือบริเวณสะพานพรหมโยธีใกล้ทางแยกสามเหลี่ยมดินแดง เขตราชเทวี) เข้ามาในพื้นที่ และสร้างต่อไปจนถึงตำแหน่งปัจจุบันของโรงเรียนพร้อมพรรณวิทยา (ถนนประชาสงเคราะห์) แต่เนื่องจากใช้ดินลูกรังเป็นวัสดุในการก่อสร้าง เมื่อรถยนต์วิ่งผ่านจึงทำให้เกิดฝุ่นสีแดงกระจายไปทั่ว หลังคาบ้านเรือนถูกฝุ่นจับกลายเป็นสีแดง ผู้คนจึงเรียกถนนสายนี้ว่า “ถนนดินแดง” กลายเป็นเส้นทางคมนาคมหลักในพื้นที่นี้[4] ขณะเดียวกันขยะมูลฝอยคือปัญหาสำคัญของกรุงเทพมหานครที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการขยายตัวของเมือง แต่เดิมการกำจัดขยะมูลฝอยนั้น ทางกรมสุขาภิบาล กรมนคราทร หรือเทศบาลนครกรุงเทพจะขนขยะมูลฝอยออกจากกรุงเทพฯ ไปทิ้งยังที่ลุ่มนอกพระนครหรือที่ ๆ เอกชนต้องการถมที่ดิน และเมื่อเต็มแล้วก็ย้ายไปที่อื่นซึ่งห่างไกลจากเมืองขึ้นเรื่อย ๆ หรือการบรรทุกใส่เรือทิ้งลงทะเลปากอ่าว ซึ่งสูญเสียงบประมาณและทรัพยากรเป็นจำนวนมากจากการขนส่งและไม่ถูกหลักสุขาภิบาล เทศบาลนครกรุงเทพและกรมสาธารณสุขกระทรวงมหาดไทยจึงพิจารณาจัดหาพื้นที่เหมาะสมบริเวณทุ่งสามเสนหรือถนนดินแดง จำนวน 667 ไร่สำหรับเป็นพื้นที่ทิ้งขยะมูลฝอยเนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากจังหวัดพระนครช่วยให้ประหยัดเวลาและทรัพยากร ตลอดจนสามารถกำหนดจุดทิ้งขยะที่แน่นอนได้ โดยในพ.ศ. 2484 มีการประกาศ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลพญาไท และตำบลสามเสนใน อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร พ.ศ. 2484 และ พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลพญาไท และตำบลสามเสนใน อำเภอดุสิตจังหวัดพระนคร พ.ศ. 2485 เวนคืนพื้นที่เพื่อรองรับขยะของเทศบาลนครกรุงเทพ[5]

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การขยายตัวของชุมชนเมืองจากถนนประชาธิปัตย์ (หรือถนนพหลโยธิน) ประชิดเข้ามาใกล้พื้นที่ทิ้งขยะถนนดินแดง ตามบริบทของกรุงเทพที่พัฒนาเป็นเมืองโตเดี่ยวที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ราคาที่ดินในเมืองสูงขึ้น มีการอพยพของแรงงานมากขึ้น และชาวบ้านที่ถูกไล่ที่จากบริเวณหัวลำโพง ทำให้มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ[6] ประกอบกับในพ.ศ. 2494 รัฐบาลได้ดำเนินงานด้านเคหะสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยได้จัดสร้างอาคารลักษณะบ้านไม้และเรือนแถวขึ้นจำนวน 1,088 หลัง บริเวณถนนดินแดงซึ่งเดิมเป็นสถานที่ทิ้งขยะและเป็นทุ่งนา[7] พื้นที่ดินแดงเริ่มก่อรูปร่างเป็นชุมชนที่มีผู้อาศัยหนาแน่นคู่ขนานไปกับกองภูเขาขยะที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ มลภาวะจากขยะกลายเป็นปัญหาสำคัญของชุมชนดินแดง ทำให้เทศบาลนครกรุงเทพตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการตั้งโรงงานผลิตปุ๋ย

โครการก่อสร้างโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ เทศบาลนครกรุงเทพเริ่มต้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2500 ในพื้นที่ราว 50 ไร่ บริเวณสถานที่เทขยะถนนดินแดง ทุ่งสามเสนใน มูลค่า 714,130 ปอนด์สเตอร์ลิงก์ หรือประมาณ 42 ล้านบาทตามค่าเงินคณะนั้น โดยเทศบาลนครกรุงเทพได้ตกลงทำสัญญาก่อสร้างกับบริษัท จอห์น ทอมป์สัน อินดัสเตรียล คอนสตรัคชั่น จำกัด (John Thompson Industrial Construction Ltd.) และใช้เครื่องจักรของบริษัท คอมโพสต์ เอ็นจิเนีย (Compost Engineers Ltd.) และสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2504 ในสมัยนายชำนาญ ยุวบูรณ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพ มีหน้าที่ทำลายขยะที่เก็บขนจากพระนคร และธนบุรี และนำผลพลอยได้จากขยะผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ โดยมีนายแพทย์แสง สุทธิพงศ์ เป็นผู้อำนวยการ[8] ในพ.ศ. 2506 กระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบว่าด้วยการควบคุมและดำเนินงานของสำนักงานปุ๋ย เทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ. 2507 ขึ้น โดยระเบียบนี้จึงเปลี่ยนชื่อจาก โรงงานปุ๋ยอินทรีย์ เป็นสำนักงานปุ๋ย เทศบาลนครกรุงเทพ (สปท.) มีสำนักงานตั้งอยู่ที่บริเวณที่ดินของเทศบาลนครกรุงเทพ ถนนดินแดง ตำบลสามเสนในอำเภอพญาไท[9] โดยมีถนนโดยรอบเรียกว่าถนนโรงปุ๋ย ปัจจุบันพื้นที่โรงงานปุ๋ยอินทรีย์ เทศบาลนครกรุงเทพในปัจจุบันคือบริเวณสำนักงานเขตดินแดงและศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) และถนนโรงปุ่ยได้เปลี่ยนชื่อเป็นถนนมิตรไมตรีภายหลังการก่อสร้างศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น)

ภาพประกอบที่ 1 แผนที่จังหวัดพระนคร อำเภอชั้นนอก
(แหล่งที่มา: ถัด พรหมมานพ, ภูมิศาสตร์มณฑลกรุงเทพฯ (พระนคร: โรงพิมพ์ธรรมพิทยาคาร, 2474), 17.)
 

ภาพประกอบที่ 2 แผนที่เวนคืนที่ดินสำหรับสถานที่เทขยะ ถนนดินแดง
(แหล่งที่มา: วิภพ หุยากรณ์, “การเมืองท้องถิ่นกับการจัดการขยะมูลฝอยในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2479-2518)” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565),

 

การกำจัดภูเขาขยะที่ดินแดงทำได้สำเร็จใน พ.ศ. 2520 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด หลังการรัฐประหารรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร โดยสั่งให้กองอำนวยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติจัดให้หน่วยทหาร หน่วยงานราชการ และเอกชนร่วมกันเก็บขนขยะมูลฝอยใส่รถบรรทุกไปถมตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น สวนจตุจักร ฯลฯ ใช้เวลา 80 วันจนกระทั่งกองขยะขนาด 5 แสนลูกบาศก์เมตรในใจกลางเมืองหมดไป[10]

อัตลักษณ์สำคัญของการเปลี่ยนแปลงกายภาพของเขตดินแดง จากพื้นที่ทิ้งขยะทุ่งสามเสนใน สู่การเป็นย่านชุมชนที่มีประชากรอาศัยหนาแน่น คือ โครงการอาคารสงเคราะห์ดินแดง หรือ แฟลตดินแดง ซึ่งต่อยอดมาจากเรือนไม้อาคารสงเคราะห์ที่ทรุดโทรมตามกาลเวลา เปิดใช้ในพ.ศ. 2506 ที่ใช้ต้นแบบจากอาคารการเคหะของประเทศสิงคโปร์ เพื่อจัดระเบียบสลัมหรือชุมชนแออัดในถนนดินแดงและรองรับผู้อาศัยรายได้น้อยในสลัมดินแดงเดิมตลอดจนแรงงานอพยพใหม่ที่เข้ามาเป็นแรงงานในกรุงเทพ การเคหะแห่งชาติ เข้ารับโอนแฟลตดินแดงจากกรมประชาสงเคราะห์ จำนวน 64 อาคาร 4,144 หน่วยเมื่อ พ.ศ. 2516 หลังจากนั้นการเคหะแห่งชาติได้สร้างที่พักอาศัยเพิ่มขึ้นอีก 30 อาคาร จำนวน 5,098 หน่วย ระหว่าง พ.ศ. 2519-2535 รวมเป็นที่พักอาศัยในชุมชนดินแดงทั้งสิ้น 94 อาคาร มีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 36,000 คน[11] แฟลตดินแดงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่ตำบลสามเสนในหรือดินแดงในปัจจุบันมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 30 ปี

เมื่อพื้นที่ตำบลสามเสนในเริ่มมีการขยายตัวของประชากรและครัวเรือนมากขึ้น จึงมีการจัดตั้งอำเภอพญาไท ตำบลสามเสนในของอำเภอดุสิต จึงถูกย้ายเข้ามาอยู่ภายใต้อำเภอพญาไทใน พ.ศ. 2509 และแขวงดินแดงแยกตัวออกจากแขวงสามเสนในแต่ยังคงอยู่ในอำเภอพญาไท ณ ช่วงเวลาหนึ่งภายหลังพ.ศ. 2515 จนกระทั่งเมื่อ ในปี พ.ศ. 2521 ได้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตพญาไท เขตห้วยขวาง และเขตบางกะปิ โดยได้โอนแขวงดินแดงไปขึ้นกับเขตห้วยขวาง[12] และในปี พ.ศ. 2532 กรุงเทพมหานคร ได้จัดตั้งสำนักงานเขตห้วยขวางสาขาดินแดงขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการติดต่อราชการในแขวงดินแดง ต่อมาผู้บริหารกรุงเทพมหานครพิจารณาเห็นว่า เขตห้วยขวาง เขตพญาไท และเขตราชเทวีมีประชากรอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ความสะดวกแก่ประชาชนในท้องที่ไม่ต้องเดินทางไปติดต่อราชการบางแห่งไกลเกินไป กระทรวงมหาดไทยจึงประกาศตั้งเขตดินแดงเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2536 และกรุงเทพมหานครมีประกาศตั้งแขวงดินแดง เขตดินแดงเต็มพื้นที่เขตดินแดง โดยประกาศทั้ง 2 ฉบับเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันเดียวกันคือวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2537 เป็นวันเดียวกับการก่อตั้งสำนักงานเขตดินแดง รวมพื้นที่รับผิดชอบของเขตดินแดงทั้งสิ้น 8.354 ตารางกิโลเมตร[13] และต่อมาในวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 ได้มีการแบ่งเขตการปกครองเป็น 2 แขวง ได้แก่ แขวงดินแดง พื้นที่ 3.736 ตารางกิโลเมตร และแขวงรัชดาภิเษก พื้นที่ 4.618 ตารางกิโลเมตร[14] ปัจจุบัน เขตดินแดงมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 111,052 คน แขวงดินแดงมีจำนวนประชากรรวม 69,396 คน แขวงรัชดาภิเษกมีจำนวนประชากร รวม 41,909 คน[15]

เขียนเมื่อ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2568


อ้างอิง

[1] กองยุทธศาสตร์สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม, ฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาพื้นที่ เขตดินแดง (กรุงเทพฯ: สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร, 2557), https://webportal.bangkok.go.th/upload/user/00000052/plan/pattanaket/row1/dindeang.pdf

[2] ถัด พรหมมานพ, ภูมิศาสตร์มณฑลกรุงเทพฯ (พระนคร: โรงพิมพ์ธรรมพิทยาคาร, 2474), 16 – 17.

[3] ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องยุบรวมอำเภอ และยุบอำเภอลงเป็นกิ่งอำเภอ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 (29 สิงหาคม 2481): 1840-1842.

[4] “รู้ไปโม้ด – ดินแดง,” ข่าวสด, 13 กันยายน 2564, https://www.khaosod.co.th/newspaper-column/general-knowledge/ news_6616457

[5] วิภพ หุยากรณ์, “การเมืองท้องถิ่นกับการจัดการขยะมูลฝอยในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2479-2518)” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565), 80-81.

[6] วิภพ หุยากรณ์, “สำนักงานปุ๋ย เทศบาลนครกรุงเทพ : ประวัติศาสตร์การจัดการขยะมูลฝอยในกรุงเทพ ปลายทศวรรษ 2490 ถึงทศวรรษ 2510,” วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 10, ฉ. 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2566): 95.

[7] “แฟลตเคหะชุมชนดินแดงเก่า,” Docomomo Thailand, สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567, https://www.docomomothailand.org/pages/mb13.html

[8] วิภพ หุยากรณ์, “สำนักงานปุ๋ย เทศบาลนครกรุงเทพ : ประวัติศาสตร์การจัดการขยะมูลฝอยในกรุงเทพ ปลายทศวรรษ 2490 ถึงทศวรรษ 2510,” วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 10, ฉ. 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2566): 99.

[9] กองสารสนเทศภูมิศาสตร์ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล, “เทศบาลนครกรุงเทพ,” ศูนย์สารสนเทศกรุงเทพมหานคร, สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567, https://apps.bangkok.go.th/info/m.info/bmahistory/nakornbma.html

[10] วิภพ หุยากรณ์, “การเมืองท้องถิ่นกับการจัดการขยะมูลฝอยในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2479-2518)” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565), เชิงอรรถที่ 316.

[11] อัจฉรา วะเกิดเป้ม, “การดำเนินนโยบายด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย : กรณีศึกษาการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง,” สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567, http://www3.ru.ac.th/mpa-abstract/files/2561_ 1566438060_ 6014832050.pdf

[12] พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตพญาไท เขตห้วยขวาง และเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2521, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 95 ตอนที่ 48 (2 พฤษภาคม 2521): 180-184.

[13] ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง ตั้งแขวงดินแดง เขตดินแดง, ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 110 ตอนที่ 184 (10 พฤศจิกายน 2536): 11-13; นิกรณ์ สปส., “ครบรอบ 3 ทศวรรษ เขตดินแดง พร้อมทุ่มเทแรงกายแรงใจให้บริการประชาชนเต็มที่ต่อไป,” สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร, 12 มกราคม 2567, https://pr-bangkok.com/?p=253872

[14] ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง เปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวงดินแดง และตั้งแขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 134 ตอนพิเศษที่ 215 ง (26 กรกฎาคม 2560): 38-40

[15] “สถิติจำนวนประชากร เดือนสิงหาคม 2567,” ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง, สืบค้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567, https://stat.bora.dopa.go.th/