การให้บริการของสัสดีเขต
สัสดีเขต อยู่ในความปกครองบังคับบัญชาของสัสดีกรุงเทพมหานคร หรือกระทรวงกลาโหมจะมอบการปกครองบังคับบัญชาต่อผู้อำนวยการเขตตามความจำเป็น มีหน้าที่ดำเนินการควบคุม กำกับดูแล และประสานกิจการสัสดีทั้งปวง ซึ่งได้กำหนดในกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง แบบธรรมเนียม และบันทึกข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับท้องที่เขต โดยมีภารกิจหลัก คือ การควบคุมทหารกองเกิน และทหารกองหนุนในพื้นที่เขต บันทึก รายงานตรวจสอบ โต้ตอบ และชี้แจงปัญหาในกิจการสัสดี และรวมรวม ข้อมูล สถิติ และสภาพของทหารกองเกิน ทหารกองหนุนในเขตพื้นที่ เพื่อนำมาใช้ในการเข้ารับราชการทหารและเตรียมกำลังพล ตลอดจนกิจการสัสดีทั้งปวงหรืองานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับราชการทหารตามที่ได้รับมอบหมาย
“ชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน”
- มาตรา 7 แห่ง พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 -
1. การลงบัญชีทหารกองเกิน (เมื่ออายุครบ 17 ปีบริบูรณ์)
มาตรา 4(2) “ทหารกองเกิน” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์และยังไม่ถึงสามสิบปีบริบูรณ์ ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา 16 หรือผู้ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา 18 แล้ว
หลักเกณฑ์:
- บุคคลที่มีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ (พ.ศ.ปัจจุบัน ลบ พ.ศ.เกิด) ตามมาตรา 16
- บุคคลที่ยังไม่เคยลงบัญชีทหารกองเกินพร้อมคนเกิด พ.ศ. เดียวกันทุกกรณี ตามมาตรา 18
สถานที่ไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกิน มีดังนี้
กรณี | สถานที่ลงบัญชีทหาร |
บิดา มารดา จดทะเบียนสมรส | สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอตามภูมิลําเนาของบิดา |
บิดา มารดา หย่าและบันทึกการหย่าระบุความเป็นผู้ปกครอง | สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอตามภูมิลําเนาบิดาหรือ มารดา แล้วแต่กรณีตามบันทึกการหย่าให้เป็นผู้ปกครอง |
บิดา มารดา มิได้จดทะเบียนสมรส แต่บิดาได้จดทะเบียนรับรองบุตร | สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอตามภูมิลําเนาของบิดา |
บิดา มารดา มิได้จดทะเบียนสมรส | สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอตามภูมิลําเนาของมารดา |
บิดาหรือมารดาตาย ทั้งบิดา มารดาตาย บิดาหรือมารดาหรือทั้งบิดามารดาไม่ปรากฏ | สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอตามภูมิลำเนาบิดาหรือมารดาหรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณี |
ไม่สามารถแสดงตัวภายในกำหนดด้วยตนเอง เนื่องจาก
| สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอตามเงื่อนไขของผู้ปกครองในตารางด้านบน โดยให้ผู้แทนเป็นผู้ดำเนินการ “การลงบัญชีทหารกองเกินแทน" |
หลักฐานที่ต้องใช้:
- สําเนาทะเบียนบ้านของผู้แจ้งขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน
- สูติบัตรของผู้แจ้งขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน (ถ้ามี)
- สำเนาทะเบียนบ้านชื่อของ บิดา มารดา ของผู้แจ้ง
- หนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นไทยหรือหนังสือสำคัญแสดงการได้กลับคืนสัญชาติ (กรณีแปลงสัญชาติ)
- หลักฐานอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ (ถ้ามี)
- กรณี “การลงบัญชีทหารกองเกินแทน" ให้มีเอกสารเพิ่มเติมต่อไปนี้
- บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ที่ดำเนินการแทน
- หนังสือรับรองจากหน่วยงานตามแต่ละกรณี เช่น หนังสือรับรองสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศกำลังศึกษา หรือ หนังสือรับรองจากโรงพยาบาล หรือสถานศึกษา
- หนังสือมอบอำนาจแสดงตนลงบัญชีทหารกองเกินแทน รับรองโดยนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต
ข้อควรทราบ:
- บุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ได้สัญชาติเป็นไทยหรือได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติหรือได้กลับคืนสัญชาติไทยต้องไปแสดงตนลงบัญชีทหารกองเกินภายในกำหนด 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต
- กรณีบุคคลที่ถือ 2 สัญชาติ คือ สัญชาติไทยและสัญชาติอื่นใดก็ตาม สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ (สฝคป.) ชี้แจงว่า ตามกฎหมายไทยถือว่ายังเป็นบุคคลที่ถือสัญชาติไทยอยู่ และเมื่อเป็นผู้มีสัญชาติไทยจึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 หากไม่ปฏิบัติตามย่อมมีความผิดตามกฎหมาย
- บุคคลที่ไม่ได้ไปลงบัญชีทหารกองเกินพร้อมคนเกิด พ.ศ. เดียวกัน มีความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 44 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 300 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เอกสารที่ได้รับ:
- ใบสำคัญ (แบบ สด.9)
2. การรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์)
หลักเกณฑ์:
- บุคคลที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์และได้ไปแสดงตนลงบัญชีทหารกองเกินไว้ที่อําเภอแล้ว
หลักฐานที่ต้องใช้:
- ใบสําคัญ (แบบ สด.9)
- บัตรประจําตัวประชาชน
- หนังสือมอบอํานาจ (กรณีไม่สามารถไปรับด้วยตนเองได้)
- สําเนาบัตรประจําตัวประชาชนทั้งของผู้มอบและผู้รับมอบอํานาจ
กรณีที่ไม่สามารถไปแสดงตนรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหารด้วยตนเองได้:
- ผู้ใดไม่สามารถจะไปรับหมายเรียกด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะ และเชื่อถือได้ไปรับหมายเรียกฯ (แบบ สด.35) ถ้าไม่มีให้ถือว่า ผู้นั้นหลีกเลี่ยงขัดขืน
- การรับแทนจะต้องเป็นกรณีใกล้วันหมดเขตรับหมายเกณฑ์ (ประมาณเดือนธันวาคม) โดยต้องเข้าหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด ดังนี้
- ป่วย ไม่สามารถจะไปรับหมายเรียกฯ (แบบ สด.35) ด้วยตนเองได้และกระชั้นวันหมด เขตการรับหมายเรียกฯ
- ไปอยู่ต่างประเทศยังไม่มีกำหนดกลับ หรือมีกำหนดกลับ แต่วันที่จะกลับนั้นเลยกำหนดเวลาการรับหมายเรียกฯ
- ไปศึกษาต่างท้องที่ ไม่สามารถจะไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกฯ ได้ เพราะติดการสอบไล่ซึ่งกระชั้น หรือคาบเกี่ยววันหมดกำหนดการรับหมายเรียกฯ
- การที่จะให้รับหมายเรียกฯ (แบบ สด.35) แทนหรือไม่นั้นอยู่ในดุลพินิจของนายอำเภอ
- การรับหมายเรียกฯ (แบบ สด.35) แทน จะต้องมีหนังสือมอบหมายหรือมอบฉันทะของทหารกองเกินผู้นั้น ถึงผู้อำนวยการเขตโดยผู้รับแทนนำมาแสดง แล้วให้สัสดีเขตลงทะเบียนรับหนังสือ
- ทางอำเภอทำการสอบสวนปากคำ ผู้รับแทนนั้นไว้เป็นหลักฐาน
- ผู้รับแทน จะต้องให้คำรับรองในการสอบสวนว่า จะมอบหมายเรียกฯ (แบบ สด.35) ที่รับไปนั้น นำไปมอบให้แก่ทหารกองเกินผู้นั้น พร้อมกับแจ้งวันเวลา และสถานที่เกณฑ์ทหารให้ทราบ แล้วเสนอนายอำเภอ ขออนุมัติก่อนมอบหมายเรียกฯ (แบบ สด.35) ให้รับไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ ทหารกองเกินผู้นั้นอ้างว่า ไม่ได้รับหมายเกณฑ์ในกรณีที่หลีกเลี่ยงขัดขืน ไม่ไปเข้ารับการเกณฑ์ทหาร
เอกสารที่ได้รับ:
- หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35)