ภาษีโรงเรือนและที่ดิน คือ ภาษีที่จัดเก็บจากโรงเรือนที่ให้เช่า ที่ใช้ประกอบกิจการค้าและให้ผู้อื่นอยู่อาศัย
  

ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี  
          ประเภททรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี ได้แก่ อาคาร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง รวมถึงบริเวณที่ต่อเนื่อง โดยเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกหาผลประโยชน์ตอบแทนหรือให้ผู้อื่นนำไปใช้ประโยชน์  ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ เช่น ให้เช่า , ใช้เป็นที่ค้าขาย , ใช้ประกอบอุตสาหกรรม รวมทั้งให้ญาติหรือผู้อื่นอยู่อาศัย หรือใช้ประกอบกิจการอื่น ๆ เพื่อหารายได้

ทรัพย์สินแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ 
          (๑) โรงเรือน อาคาร สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ
              โรงเรือน หมายถึง เช่น บ้าน ตึกแถว ร้านค้า สำนักงาน ธนาคาร โรงแรม โรงภาพยนตร์ โรงเรียน โรงพยาบาล สนามมวย อพาร์ทเมนต์ คลังสินค้า 
              สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ เช่น ท่าเรือ สะพาน ถังเก็บน้ำมัน อ่างเก็บน้ำ คานเรือ ฯลฯ  ซึ่งลักษณะการก่อสร้างติดกับที่ดินและสามารถสร้างรายได้ให้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้
          (๒) ที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือน อาคาร สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ
              หมายความว่า เป็นที่ดินที่ใช้ปลูกสร้างโรงเรือน อาคาร สิ่งปลูกสร้างมีที่ดินต่อเนื่องกัน ซึ่งตามปกติใช้ประโยชน์ไปด้วยกันกับโรงเรือน อาคารและสิ่งปลูกสร้างนั้น       

ผู้มีหน้าที่เสียภาษี 
          ผู้มีหน้าที่เสียภาษี คือ “ผู้รับประเมิน” หมายถึง เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี    เว้นแต่ ถ้าที่ดินและอาคารโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นคนละเจ้าของให้เจ้าของกรรมสิทธิ์อาคาร โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี

ฐานภาษี
          ฐานภาษี คือ ค่ารายปีของทรัพย์สิน หมายถึง จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่า และค่าเช่านั้นเป็นจำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ ให้ถือค่าเช่านั้นเป็นค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่ไม่มีค่าเช่าเนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง หรือด้วยเหตุอื่น ๆ ให้พิจารณากำหนดค่ารายปีโดยเทียบเคียงกับค่ารายปีของทรัพย์สินที่ให้เช่าที่มีลักษณะ ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะ ซึ่งทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกัน
กรณีมีเงินอื่นใดที่ต้องนำมาคำนวณภาษีด้วย เช่น ค่าแป๊ะเจี๊ยะ เงินช่วยค่าก่อสร้าง เงินค่าเบี้ยประกันภัย ค่าภาษีที่ผู้เช่าจ่ายแทนผู้ให้เช่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นเงินที่ต้องจ่ายไปเพื่อให้ได้เช่าทรัพย์สิน ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าด้วย

ขั้นตอนการยื่นเสียภาษี
          การยื่นแบบพิมพ์ การยื่นแบบพิมพ์ใหม่ทุกชนิด จะนำส่งด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปส่งแทนหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้ ทั้งนี้ให้ผู้รับประเมินกรอกรายการให้ถูกต้องครบถ้วน ตามความเป็นจริง และรับรองความถูกต้องของเอกสารและข้อความดังกล่าว พร้อมลง วัน เดือน ปี และลายมือชื่อกำกับไว้ หากมีเอกสารอื่นใดที่จำเป็นต้องยื่นประกอบการพิจารณา ให้นำส่งพร้อมกันในคราวเดียว  การส่งแบบพิมพ์ จะนำส่งด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปส่งแทนหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ (ให้ถือวันที่ส่งทางไปรษณีย์เป็นวันที่ยื่นแบบพิมพ์)


เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการยื่นแบบ (กรณีรายใหม่)
          พร้อมสำเนาหลักฐานและลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อง ได้แก่
          ๑. บัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน
          ๒. หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์โรงเรือนและที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน , ใบอนุญาตปลูกสร้าง , หนังสือสัญญาซื้อขาย หรือให้โรงเรือนฯ
          ๓. หลักฐานการประกอบกิจการ เช่น ใบทะเบียนการค้า , ทะเบียนพาณิชย์ , ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือใบอนุญาตประกอบกิจการค้าของฝ่ายสิ่งแวดล้อม , สัญญาเช่าอาคาร 
          ๔. หนังสือรับรองนิติบุคคล และงบแสดงฐานะการเงิน (กรณีนิติบุคคล) 
          ๕. ใบมอบอำนาจกรณีให้ผู้อื่นทำการแทน 
          ๖. อื่น ๆ 

กำหนดระยะเวลาให้ยื่นแบบแสดงรายการ 
           ให้ผู้รับประเมิน (เจ้าของทรัพย์สิน) ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.๒) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี 

สถานที่ยื่นแบบ 
          ๑. ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ 
          ๒. กองรายได้ สำนักการคลัง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร กรณีที่มีทรัพย์สินตั้งอยู่หลายพื้นที่เขต 

การชำระภาษี 
          ให้ชำระเงินภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับใบแจ้งการประเมิน (ภ.ร.ด.๘) โดยชำระที่ 
          ๑. ฝ่ายการคลัง สำนักงานเขตทุกเขต 
          ๒. กองการเงินสำนักการคลัง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) 
          ๓. เคาน์เตอร์ของธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ 

ขั้นตอนการยื่นแบบชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน 
          ๑. การยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.๒) ประชาชน บริษัท ห้างหุ้นส่วน ร้านค้า หรือผู้มีหน้าที่ที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินจากการใช้ประโยชน์ของโรงเรือนจะต้องมาขอกรอกแบบแสดงรายการเสียภาษีต่อเจ้าพนักงานประเมิน ณ ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขต ที่โรงเรือนตั้งอยู่ โดยจะต้องยื่นแบบเพื่อขอประเมินภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ และนำหลักฐานเอกสารประกอบ 
          ๒. การรับแบบยื่น ภ.ร.ด.๒ เจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานเขต รับแบบยื่น ภ.ร.ด.๒ จากประชาชน ทำการตรวจสอบหลักฐานทั้งหมด
          ๓. การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน เมื่อเจ้าหน้าที่รับแบบยื่น ภ.ร.ด.๒ จากประชาชนแล้ว จะต้องไปทำการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ตามสถานที่จริงของโรงเรือนที่ได้มีการแจ้งไว้ จากนั้นก็ทำการกำหนดค่ารายปี ยอดเงินหักลด  เพื่อทำการคำนวณค่าภาษี 
          ๔. การแจ้งการประเมินภาษี เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการประเมินค่าภาษีเสร็จเรียบร้อยแล้วจะออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษี (ภ.ร.ด.๘) ให้ประชาชนทราบ 
          ๕. การชำระเงินค่าภาษี สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้ 
              ๕.๑ การชำระค่าภาษีทั้งหมดในระยะเวลาที่กำหนด 
เมื่อประชาชนรับหนังสือแจ้งการประเมินแล้ว จะต้องชำระเงินที่ฝ่ายการคลัง สำนักงานเขต หรือชำระที่กองการเงิน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) นับถัดจากวันรับหนังสือแจ้งการประเมินไม่เกิน ๓๐ วัน โดยสามารถชำระเงินค่าภาษีทั้งหมดด้วยเงินสด เช็ค หรือธนาณัติ โดยวันที่จ่ายเช็ค วันที่โอนเงินทางธนาณัติจะถือเป็นวันชำระเงิน โดยไม่มีการคิดเงินเพิ่ม 
              ๕.๒ การชำระค่าภาษีผ่านธนาคารกรุงไทย 
                   ๑. เจ้าพนักงานแจ้งประเมินค่าภาษีและออกใบแจ้งหนี้ค่าภาษีให้ผู้เสียภาษี 
                   ๒. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีรับแจ้งยอดค่าภาษี (ภ.ร.ด.๘) พร้อมใบแจ้งหนี้ค่าภาษี 
                   ๓. นำใบแจ้งหนี้ค่าภาษีไปติดต่อชำระเงินที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ รอรับใบเสร็จเก็บไว้เป็นหลักฐาน 
              ๕.๓ การชำระภาษีผ่านตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย


 

สำหรับตู้ ATM ที่มีช่องอ่านบาร์โค๊ด

           สำหรับตู้ ATM ธรรมดา

๑. เลือกช่องบริการอื่น ๆ 
๒. เลือกประเภทบริการชำระด้วยบาร์โค๊ด
๓. สแกนใบนำชำระภาษี 
๔. ดำเนินการตามขั้นตอนที่ตู้ ATM ระบุ

๑. เลือกชำระค่าบริการ
๒. ใส่รหัสของกรุงเทพมหานคร ๙๒๙๙
๓. ดำเนินการตามขั้นตอนที่ตู้ ATM 

 

๕.๔. การชำระภาษีผ่านทาง Internet
                   ๑ สมัคร KTB Online กรณีบุคคลธรรมดา และ KTB Corporate Online กรณีนิติบุคคลที่ www.ktb.co.th
                   ๒ ลงทะเบียนใช้บริการกรุงเทพมหานครที่ http://epay.bangkok.go.th เพื่อขอ Username และ Password
                   ๓ เลือกชำระเงินผ่านธนาคารกรุงไทยออนไลน์ และใส่ Username / Password ของธนาคารกรุงไทยที่สมัครไว้ แล้วเลือกบัญชีที่ประสงค์จะให้หักเงิน

หมายเหตุ.-
          เฉพาะการชำระภาษีประจำปีภายในกำหนดเวลา/ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมการชำระภาษีรายการละ 10 บาท