ฝ่ายปกครอง
►ถาม   บุคคลที่มีภูมิลำเนาอยู่แห่งหนึ่ง จะขอทำพินัยกรรม จะขอทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ณ อำเภออีกแห่งหนึ่งจะได้หรือไม่?
ตอบ   การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองในที่ว่าการอำเภอ ใครๆ จะมาขอรับให้ทำพินัยให้ก็ได้ โดยมิต้องคำนึงถึงว่าผู้นั้นจะมีภูมิลำเนาในท้องที่ หรือนอกท้องที่อำเภอนั้น

►ถาม    งานบริการและงานรับจ้าง สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้หรือไม่ ?
ตอบ    งานบริการและงานรับจ้าง ประกาศกระทรวงพาณิชย์ มิได้กำหนดให้ต้องจดทะเบียนพาณิชย์

►ถาม     การรับรองลายมือ ยินยอมให้บุตรเดินทางไปต่างประเทศ สามารถยื่นคำขอได้ที่ใด ?
ตอบ     ยื่นคำร้องได้ที่ ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตที่ บิดาหรือมารดา ผู้ยินยอมมีข้อมูลอยู่ในทะเบียนบ้านของสักนักงานเขตนั้นๆ
ฝ่ายโยธา
►คำถาม การขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคาร (แบบ ข.1) ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการกี่วัน
ตอบ     ภายในระยะเวลา 45 วัน 

►คำถาม อัตราค่าธรรมเนียมการออกแบบใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคาร เป็นเท่าใด
ตอบ    1. ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต
            - ใบอนุญาตก่อสร้าง   ฉบับละ 20 บาท
            - ใบอนุญาตดัดแปลง   ฉบับละ 10 บาท
            - ใบอนุญาตรื้อถอน    ฉบับละ 10 บาท
          2. ค่าธรรมเนียมการตรวจแบบ
            - อาคารสูงไม่เกิน 2 ชั้นหรือสูงไม่เกิน 12 เมตร ตารางเมตรละ 0.50 บาท
            - อาคารสูงเกิน 2 ชั้น แต่ไม่เกิน 3 ชั้น หรือสูงเกิน 12 เมตร แต่ไม่เกิน 15 เมตร ตารางเมตรละ 2 บาท
            - อาคารประเภทซึ่งต้องรับน้ำหนักบรรทุกชั้นใดชั้นหนึ่งเกิน 500 กก./ตร.ม. ตารางเมตรละ 4 บาท
            - ที่จอดรถที่กลับรถและทางเข้าออกของรถ ภายนอกอาคาร ตารางเมตรละ 0.50 บาท
            - ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ตารางเมตรละ 4 บาท
            - อาคารประเภทซึ่งต้องวัดความยาว เช่น ทางหรือท่อระบายน้ำ รั้วหรือกำแพง ตารางเมตรละ 1 บาท 

►คำถาม ใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคาร มีอายุการใช้งานเท่าใด
ตอบ        ภายในระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต 

►คำถาม  อาคารอยู่อาศัยรวม ลักษณะใดที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
ตอบ     อาคารที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 4,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
ฝ่ายการศึกษา
►คำถาม หลักเกณฑ์ในการแจ้งเด็กเข้าเรียน ต้องใช้หลักฐานเอกสารอะไรบ้าง
ตอบ       การแจ้งเด็กเข้าเรียน เพื่อเป็นการติดตามการเข้าเรียนของเด็กที่มีอายุถึงเกณฑ์เข้ารับการศึกษา ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม  พ.ศ.2545 และพ.ศ.2553 กำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองมีหน้าที่จัดให้บุตรหรือบุคคล ซึ่งอยู่ในความดูแลได้รับการศึกษาภาคบังคับตาม มาตรา 17 ให้มีการศึกษาภาคบังคับ จนถึง 9 ปี โดยให้เด็กที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 7 เข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่ 16 เว้นแต่จะสอบได้ชั้นปีที่ 9 ของการศึกษาภาคบังคับ  โดยใช้เอกสารประกอบด้วย
                1.สูติบัตรหรือทะเบียนบ้านของเด็ก
                2.แบบแจ้งเด็กเข้าเรียน
​โดยถ้าบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง กรอกแบบแจ้งเด็กเข้าเรียนเรียบร้อย สามารถฝากแบบแจ้งฯ พร้อมเอกสารตามที่แจ้งข้างต้น ให้ผู้อื่นยื่นแทนได้ 

►คำถาม เด็กไปเรียนนอกเขตภูมิลำเนา สามารถแจ้งนอกเขตภูมิลำเนาได้หรือไม่
ตอบ       เด็กที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขต แต่ไปเรียนนอกเขต สามารถแจ้งที่เขตที่มีภูมิลำเนาได้ 

►คำถาม เด็กเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แล้ว สามารถแจ้งเข้าเรียนได้หรือไม่
ตอบ       เด็กขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แล้ว ผู้ปกครองสามารถแจ้งเด็กเข้าเรียนได้ เพราะถือว่าเด็กได้เข้าเรียนตามที่กฎหมายบังคับ 
 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ฝ่ายเทศกิจ
►คำถาม ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของฝ่ายเทศกิจ มีอะไรบ้าง
ตอบ    1. ทางเท้า
            - เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารไม่ดูแลรักษาความสะอาดทางเท้าที่อยู่ติดกับอาคารหรือบริเวณอาคาร
            - เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารปล่อยปละละเลยกระถางต้นไม้บนทางเท้าที่ตนเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้เหี่ยวแห้งหรือรกรุงรังหรือปล่อยให้มีสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยในกระถ่างต้นไม้หรือบริเวณภายนอกอาคาร
           2. ถนนหรือสถานสาธารณะ
            - อาบน้ำหรือซักล้างสิ่งใด ๆ บนถนนหรือสถานสาธารณะ อาบน้ำหรือซักล้างสิ่งใด ๆ บริเวณทางน้ำที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ประกาศห้ามไว้
           3. ถนน
            - เจ้าของรถซึ่งให้บรรทุกสัตว์กรวดหินดินเลนทรายสิ่งปฏิกูลมูลฝอยหรือสิ่งอื่นใดไม่ป้องกันให้สิ่ง ดังกล่าวตกหล่นรั่วไหลปลิวฟุ้มกระจายลงบนถนน
            -  ปล่อยสัตว์นำสัตว์หรือจูงสัตว์ไปตามถนนหรือเข้าไปในบริเวณที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ประกาศห้ามไว้

►คำถาม ความผิดตาม พรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2536 หากพบตัวผู้กระทำ หรือ ไม่พบตัวผู้กระทำผิด มีแนวทางปฎิบัติอย่างไร
ตอบ      1. พบตัวผู้กระทำผิด
               ในกรณีที่เห็นสมควรให้ ว่ากล่าวตักเตือนผู้กระทำความผิด หรือสั่งให้แก้ไขหรือขจัดความสกปรกหรือความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยให้หมดไป ถ้าผู้กระทำผิดยินยอมปฏิบัติตามให้คดีเป็นอันเลิกกัน หากไม่แก้ไข หรือ ไม่เชื่อฟังให้จับกุม พร้อมของกลาง (ถ้ามี) ส่งงานคดีและธุรการ ดำนินคดีต่อไป
             2. ไม่พบตัวผู้กระทำผิด หรือไม่อาจทราบตัวผู้กระทำผิด จะมีของกลางด้วยหรือไม่ก็ตาม
                  -  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกคนร่วมกันขจัดหรือแก้ไขไม่ให้สิ่งที่ผิดกฎหมายปรากฏอยู่ในที่/สถานสาธารณะอีกต่อไป
                  - สืบเสาะหาตัวผู้กระทำความผิดจากพยานแวดล้อม เอกสาร ภาพถ่าย แผนผัง
                  - เมื่อทราบตัวผู้กระทำผิดให้ส่งของกลาง (ถ้ามี) ให้งานคดีและธุรการ พร้อมทั้งเสนอให้หัวหน้าฝ่ายมอบหมายนิติกร ดำเนินการต่อไป



 
ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม
►คำถาม   การขอยื่นเอกสารเกี่ยวกับผู้สูงอายุ สามารถดำเนินการได้ทุกเขตหรือไม่ และสามารถทำได้เมื่อไหร่
ตอบ      ต้องยื่นตามทะเบียนบ้านที่มีชื่อผู้สูงอายุอาศัยอยู่เท่านั้น และ การยื่นเอกสารเปิดให้ยื่นเอกสารในช่วงเดือนมกราคม ถึง เดือนกันยายน ของทุกปี และช่วงเดือนตุลาคม ถึง เดือนกันยายน ของทุกปี (ในกรณีย้ายที่อยู่แล้วลงทะเบียนใหม่)

►คำถาม   ผู้สูงอายุอยู่บ้านพักคนชรา และผู้สูงอายุที่มีสภาพเป็นผู้ป่วยติดเตียง มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพหรือไม่
ตอบ      กรณีผู้สูงอายุอยู่บ้านพักคนชรา ถ้ายังพักอยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐบาล จะไม่มีสิทธิได้รับเบี้ย
             กรณีผู้สูงอายุที่มีสภาพเป็นผู้ป่วยติดเตียง
            1. ให้ติดต่อขอทำบัตรคนพิการ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่- การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมประชาสงเคราะห์ เขตราชเทวี
               - สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต เขตดินแดง
               - โรงพยาบาลนพรัตน์ เขตคันนายาว
               - โรงพยาบาลสิรินธร เขตประเวศ
               - โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน และ โรงพยาบาลพระราม 2 เขตบางขุนเทียน
               - โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) จ.นครปฐม
            2. ประสานเจ้าหน้าที่ (พยาบาลในพื้นที่) ลงเยี่ยมบ้าน และสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้
ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ฟรี

 ►คำถาม เด็กอายุเท่าไหร่ ที่สามารลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดได้
ตอบ       เด็กเกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป สามารถยื่นลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดได้ตามที่อยู่ปัจจุบันที่เลี้ยงดูเด็ก (กทม.ลงทะเบียนที่สำนักงานเขต) และรอผลการพิจารณาจากกรมกิจการเด็ก กระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นผู้พิจารณา 
ฝ่ายทะเบียน
คำถามเกี่ยวกับงานทะเบียนทั่วไป
 
►คำถาม การเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล สามารถทำต่างเขตหรือต่างอำเภอได้หรือไม่
ตอบ    ไม่ได้ การเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล ต้องดำเนินการตามที่ผู้ร้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเท่านั้น
 
►คำถาม กรณีมารดายื่นคำร้องขอเปลี่ยนชื่อสกุลให้บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จากชื่อสกุลของบิดามาใช้ ชื่อสกุลของมารดา และมารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับบิดา และบิดาไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร ผู้เป็นมารดาสามารถดำเนินการการเปลี่ยนชื่อสกุลให้กับบุตรได้หรือไม่
ตอบ    กรณีบุตรผู้เยาว์ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะเปลี่ยนชื่อสกุลจากเดิมใช้ชื่อสกุลของบิดา มาใช้ชื่อสกุลของ
มารดา โดยที่บิดา มารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน  และบิดาไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร มารดาสามารถดำเนินการเปลี่ยนชื่อสกุลให้บุตรได้โดยไม่ต้องให้บิดาให้ความยินยอม (แต่นายทะเบียนท้องที่อาจใช้ดุลยพินิจในการสอบปากคำมารดาถึงเหตุผลความจำเป็นโดยมีพยานบุคคล 2 คน ลงลายมือชื่อในการสอบปากคำ (ปค.14)) ด้วย    
 
►คำถาม เป็นคนไทยอยากเปลี่ยนชื่อตัวเป็นสำเนียงต่างประเทศสามารถทำได้หรือไม่
ตอบ    การเปลี่ยนชื่อตัวที่มีสำเนียงต่างประเทศสามารถทำได้ หากสามารถยืนยันความหมาย หรือคำแปลที่กำหนดในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หรือพจนานุกรมฉบับอื่น หรือที่หน่วยราชการกำหนดความหมายไว้ ใช้ตัวสะกดการันต์ ถูกต้องตามหลักภาษาไทย ไม่ขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีและความสงบเรียบร้อยของสังคม รวมทั้งกรณีของผู้ที่เคร่งครัดต่อศาสนาบางศาสนา เช่น บุคคลสัญชาติไทยที่นับถือศาสนาอิสลามขอตั้งหรือเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อรอง หรือชื่อสกุลไม่เป็นภาษาไทย หากสามารถยืนยันความหมายตามหลักศาสนาหรือคำแปลได้ นายทะเบียนท้องที่ก็สามารถใช้ดุลพินิจในการอนุญาตได้
 
►คำถาม  การจดทะเบียนสมรส ทะเบียนการหย่า ทะเบียนรับรองบุตร ทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรม บันทึกฐานะแห่งครอบครัว ต้องใช้พยานด้วยหรือไม่
ตอบ    การจดทะเบียนสมรส ทะเบียนการหย่า ทะเบียนรับรองบุตร ทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรม บันทึกฐานะแห่งครอบครัว ต้องใช้พยานบุคคลอย่างน้อย 2 คน 
 
►คำถาม ผู้ที่มีสิทธิเป็นพยานคือใครบ้าง
ตอบ    1. บุคคลที่บรรลุนิติภาวะ
          2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
          3. ไม่เป็นบุคคลที่หูหนวก หรือเป็นใบ้ หรือจักษุบอดทั้งสองข้าง
 
►คำถาม เมื่อบิดายื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตร แต่มารดาไม่อาจให้ความยินยอมได้ เนื่องจากเสียชีวิต  
          มีวิธีการอื่นใดที่จะจดทะเบียนรับรองบุตร
ตอบ    บิดาต้องยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วให้นำคำพิพากษาพร้อมหนังสือสำคัญแสดงว่าคดีถึงที่สุดมาแสดง นายทะเบียนจึงจะดำเนินการจดทะเบียนรับรองบุตรให้ได้

คำถามเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน
 
►คำถาม บัตรประจำตัวประชาชนสูญหายต้องแจ้งความไหมค่ะ
ตอบ    เมื่อบัตรประจำตัวประชาชนสูญหายหรือถูกทำลายให้แจ้งบัตรหายหรือถูกทำลายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่      ที่สำนักทะเบียนที่ประสงค์จะทำบัตร โดยไม่ต้องไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และต้องยื่นคำขอมีบัตรใหม่ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดหกสิบวัน นับแต่วันที่บัตรเดิมสูญหายหรือถูกทำลาย หากพ้นกำหนดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท
 
►คำถาม เด็กทำบัตรประจำตัวประชาชนครั้งแรกอายุเท่าไรค่ะ และต้องใช้หลักฐานอะไรบ้างค่ะ
ตอบ    ผู้ที่มีอายุครบเจ็ดปีบริบูรณ์ มีสัญชาติไทย มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านให้ยื่นคำขอมีบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยนำหลักฐานเอกสารไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้แก่ สูติบัตร หากไม่มีสูติบัตรให้ใช้หลักฐานเอกสารอื่นที่ทางราชการออกให้อย่างใดอย่างหนึ่งมาแสดง เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนนักเรียน ใบสุทธิ ประกาศนียบัตร หนังสือเดินทาง เป็นต้น พร้อมด้วยบิดา มารดา เจ้าบ้าน หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือรับรอง   การทำบัตรประจำตัวประชาชนครั้งแรก
 
►คำถาม ย้ายที่อยู่แต่บัตรประจำตัวประชาชนยังไม่หมดอายุ ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ไหมค่ะ
ตอบ    ผู้ถือบัตรผู้ใดย้ายที่อยู่จะขอเปลี่ยนบัตรก็ได้ หากไม่ขอเปลี่ยนบัตรก็สามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนนั้นได้ จนกว่าบัตรจะหมดอายุ

คำถามเกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร
►คำถาม 
บุคคลใดที่จะทำหน้าที่เจ้าบ้านได้บ้าง
ตอบ    บุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้าน ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งพิจารณาตามลำดับ ดังนี้
  1. ให้พิจารณาจากทะเบียนบ้านว่าได้มีการระบุให้ผู้ใดทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านก่อน
  2. หากบุคคลตามข้อ (1) ไม่สามารถปฏิบัติกิจการได้ ให้พิจารณาบุคคลอื่นซึ่งมีชื่อในทะเบียนบ้านทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านแทน โดยให้บันทึกถ้อยคำให้ได้ข้อเท็จจริงว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลบ้านแทนเจ้าบ้านในขณะนั้น
  3. บ้านว่างให้บุคคลซึ่งครอบครองบ้านในขณะนั้นไม่ว่าจะครอบครองในฐานะใด ให้บุคคลดังกล่าวทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้าน โดยให้ตรวจสอบหรือสอบถามให้ได้ข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้มีหน้าที่ครอบครองดูแลบ้านในขณะนั้น 
►คำถาม การขอเลขหมายประจำบ้านต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
ตอบ      1. หลักฐานแสดงสิทธิครอบครองที่ดินที่ปลูกสร้างบ้าน  ไม่ว่าจะครอบครองในฐานเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้เช่าที่ดิน หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดิน หนังสืออนุญาตปลูกสร้าง
            2.บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง

►คำถาม กรณีทะเบียนบ้านฉบับเดิมสูญหาย ต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง
ตอบ      1. ให้เจ้าบ้านหรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นผู้ยื่นคำร้อง
             2. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง
             3. เสียค่าธรรมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงจำนวนเงิน 30 บาท

►คำถาม  เมื่อทำการแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านแล้ว ต้องดำเนินการย้ายเข้าภายในกี่วัน
ตอบ       เมื่อผู้ร้องทำการย้ายออกจากทะเบียนบ้านแล้ว ให้ดำเนินการย้ายเข้าทะเบียนบ้านภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้ย้ายออกจากทะเบียนบ้าน หากเกินกำหนดถ้านายทะเบียนตรวจพบว่าบุคคลใดยังไม่ได้ ย้ายเข้าทะเบียนภายในสามสิบวัน ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งย้ายชื่อและรายการบุคคลของผู้นั้นไว้ใน ทะเบียนบ้านกลาง

 
ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล
►คำถาม  การขอใบอนุญาตประกอบกิจการมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการอย่างไร
ตอบ     หลังจากรับคำขออนุญาตประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสาร และความครบถ้วนของเอกสารทันที หากเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้แก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หลังจากยื่นเอกสารครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสุขลักษณะของสถานประกอบการตามข้อบัญญัติท้องถิ่นและกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน หลักจากเข้าตรวจสถานประกอบการเสร็จสิ้น เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะออกใบอนุญาต หรือออกหนังสือแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตพร้อมด้วยเหตุผลภายใน 30 วัน ในกรณีจำเป็นที่ไม่สามารถออกคำสั่งได้จะขยายเวลาออกไปได้อีก 2 ครั้ง ๆ ละไม่เกิน 15 วัน 

►คำถาม  การต่อใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในกรณีนิติบุคคลและกรณีบุคคลธรรมดา ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
ตอบ      กรณีนิติบุคคล 
  1. คำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (แบบ อภ.3)
  2. ใบอนุญาตตัวจริง (พร้อมค่าธรรมเนียม)
  3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้จัดการผู้มีสิทธิลงนาม
  4. สำเนาทะเบียนบ้านสถานที่ตั้งของสถานประกอบการ
  5. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (ไม่เกิน 6 เดือน)
  6. หนังสือมอบอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีเจ้าของไม่สามารถมายื่นคำขอด้วยตนเอง)
              กรณีบุคคลธรรมดา
  1. คำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (แบบ อภ.3)
  2. ใบอนุญาตตัวจริง (พร้อมค่าธรรมเนียม)
  3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านเจ้าของกิจการ (ผู้ประกอบการ/ผู้ถือ
  4. สำเนาทะเบียนบ้านสถานที่ตั้งของสถานประกอบการ
  5. หนังสือมอบอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีเจ้าของไม่สามารถมายื่นคำขอด้วยตนเอง)
►คำถาม   การต่อใบอนุญาตจำหน่ายอาคาร ในกรณีบุคคลธรรมดา ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
ตอบ       1.  คำขอต่ออายุใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร (แบบ สอ.5/สอ.1)
             2.   ใบอนุญาตตัวจริง (พร้อมค่าธรรมเนียม)
             3.   สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านเจ้าของกิจการ (ผู้ประกอบการ/ผู้ถือ
             4.   สำเนาทะเบียนบ้านสถานที่ตั้งของสถานประกอบการ
             5.   หนังสือมอบอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีเจ้าของไม่สามารถมายื่นคำขอด้วยตนเอง)
             6.   บัตรผ่านการอบรมผู้สัมผัสอาหาร และใบรับรองแพทย์การตรวจโรคติดต่อ 9 โรค

►คำถาม    ถ้าต้องการมีบัตรผู้สัมผัสอาหารต้องทำอย่างไร
ตอบ       สามารถยื่นใบสมัครได้โดยตรงที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และทางเว็บไซต์กองสุขาภิบาลอาหาร สำนักอนามัย (http://www.foodsanitation.bangkok.go.th

►คำถาม    จะต้องยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในเมื่อไหร่
ตอบ       ควรยื่นขอต่อและชำระค่าธรรมเนียมก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ เนื่องจากหากมายื่นขอหลังใบอนุญาตสิ้นอายุ หรือยื่นต่อใบอนุญาตแล้วแต่ไม่ชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนดจะต้องเสียค่าปรับเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินที่ค้างชำระ    
ฝ่ายรายได้
►ถาม การยื่นคำร้องขอแก้ไขแบบบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องมาด้วยตนเองหรือไม่
ตอบ ไม่จำเป็นต้องมาด้วยตัวเอง สามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาแจ้งแทน หรือส่งทางไปรษณีย์ หรือวิธีการอื่นที่ ธปท.กำหนด

►ถาม บุคคลทั่วไปสามารถมีบ้านหรือห้องชุด เพื่ออยู่อาศัยได้กี่หลัง
ตอบ สามารถมีบ้านหรือห้องชุดได้หลายหลัง แต่เจ้าของบ้านหรือห้องชุดนั้นจะได้รับยกเว้นต้องพิจารณาตาม
หลักเกณฑ์ ดังนี้
            1. เป็นเจ้าของที่ดินและเป็นเจ้าของบ้าน มีชื่อในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นหากมีมูลค่าของที่ดินและบ้านรวมกันไม่เกิน 50 ล้นบาท
            2. เป็นเจ้าของบน มีชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ไม่ใช่เจ้าของที่ดินจะได้รับยกเว้นภาษี หากมีมูลค่าของบ้านไม่เกิน 10 ล้านบาท

►ถาม กรณีบนหรือห้องชุดที่ซื้อไว้เพื่ออยู่อาศัยเองหรือให้คนในครอบครัวอยู่อาศัย แต่ยังไม่ได้เข้าไปอยู่อาศัยหรืออยู่อาศัยไม่ตลอดทั้งปี จะต้องเสียภาษีหรือไม่ในอัตราใด
ตอบ ต้องเสียภาษีแต่เสียในอัตราอยู่อาศัย โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
            1.หากเป็นเจ้าของบ้านหรือห้องชุด มีชื่อในทะเบียนบ้านได้รับยกเว้นภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท
            2.หากเจ้าของบ้านหรือห้องชุด ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านต้องเสียภาษีประเภทอยู่อาศัยเริ่มต้นอัตราร้อยละ 0.02

►ถาม กรณีคอนโดมิเนียม (ห้องชุด) ถ้ามีสองห้องติดกันและเปิดหากันได้ แต่ได้รับหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ใน
ห้องชุด 2 ฉบับ จะถือว่าได้รับยกเว้นทั้งสองหลังหรือไม่
ตอบ ห้องชุดพิจารณาแยกตามหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ของห้องชุดแต่ละห้อง เมื่อมีหนังสือได้ 2 หลัง แม้จะเปิดทะลุหากันได้ ก็ไม่สมารถรวมพื้นที่เพื่อยกเว้นมูลค่าฐานภาษีได้ ดังนั้นหลังที่สองจะเป็นหลังอื่นทันทีเพื่อต้องเสียภาษีประเภทอยู่อาศัย เริ่มต้นอัตราร้อยละ 0.02

►ถาม ชาวต่างชาติมีชื่อในทะเบียนบ้าน(ทร.13) ซื้อห้องชุดไว้ 2 ห้องในต่างท้องที่กัน ต้องเลียภาษีหรือไม่ถ้าเสียจะเสียภาษีอย่างไร
ตอบ ต้องเสียภาษีเหมือนคนไทยทั่วไป โดยได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่กิน 50 ล้านบาท เพียงห้องเดียว ส่วนอีกห้องจะถือเป็นหลังอื่น หากใช้เพื่ออยู่อาศัยก็ต้องเสียภาษีประเภทอยู่อาศัย เริ่มต้นอัตราร้อยละ 0.02

►ถาม อาคารที่สร้างไว้แต่ไม่ได้อยู่อาศัย ไม่ได้ค้าขาย ปล่อยทิ้งว่างไว้ จะทำอย่างไร
ตอบ สิ่งปลูกสร้างหรืออาคารที่ปล่อยทิ้งไว้ว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพดลอดปีที่ผ่านมาจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ร้อยละ 0.3 ตามมูลค่าของฐานภาษีตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป และหากไม่ทำประโยชน์อีกจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.3 ทุก 3 ปี

►ถาม ปลูกสร้างบ้านในที่ดินของบิดามารดาหรือบุคคลอื่นโดยไม่เสียค่าเช่า และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้รับยกเว้นภาษี 10 ล้านบาท เจ้าของที่ดินเสียภาษีอย่างไร ในอัตราที่อยู่อาศัยหรือในอัตราอื่น ๆ
ตอบ บ้านได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท แต่ที่ดินของบิดามารดาต้องเสียภาษี เมื่อที่ดินใช้เพื่ออยู่อาศัย ต้องเสียภาษีประเภทอยู่อาศัย เริ่มต้นอัตราร้อยละ 0.02

►ถาม กรณีโรงงานมีทรัพย์สินหลายประเภท เช่น สำนักงาน ห้องน้ำ โกดัง จะคิดภาษีอย่างไร
ตอบ สำนักงาน ห้องน้ำ และโกดัง เป็นสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้ในการประกอบกิจการ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการ
ประกอบกิจการ ดังนั้น จึงต้องเสียภาษีในอัตราอื่นๆ

►ถาม บริษัทเป็นผู้สร้างบ้านและให้พนักงานหรือคนงานอยู่อาศัยโดยไม่มีชื่อผู้อยู่อาศัยในทะเบียนจะต้องเสียภาษีในประเภทที่อยู่อาศัยหรืออื่นๆ
ตอบ บ้านของบริษัทที่สร้างเพื่อให้พนักงานหรือคนงานอยู่อาศัยต้องเสียภาษีประเภทอยู่อาศัย เริ่มต้นอัตราร้อยละ 0.02

►ถาม บ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จอยู่ในระหว่างการก่อสร้างบ้านพักอาศัย จะถือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษี
หรือไม่
ตอบ บ้านยังสร้างไม่เสร็จ ไม่ถือเป็นสิ่งปลูกสร้าง จึงเสียภาษีเฉพาะที่ดินประเภทอยู่อาศัย เริ่มต้นอัตราร้อยละ 0.02
ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ
►คำถาม   การชำระค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยสามารถชำระได้อย่างไรบ้าง   
ตอบ
    การชำระค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอย สามารถชำระกับเจ้าหน้าที่ที่ออกไปบริการเก็บค่าธรรมเนียม โดย เจ้าหน้าที่จะออกใบเสร็จรับเงินให้กับผู้ชำระเงินไว้เป็นหลักฐาน หรือถ้าไม่สะดวกสามารถชำระได้ทางธนาณัติสั่งจ่ายกรุงเทพมหานคร หรือชำระได้โดยตรงที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ สำนักงานเขตตลิ่งชัน

 ►คำถาม   ค่าบริการสูบสิ่งปฏิกูลคิดราคาเท่าไหร่   
ตอบ
    คิดราคาลูกบาศก์เมตรละ 250 บาท หากเศษไม่ถึงครึ่งลูกบาศก์เมตร คิดราคาละ 150 บาท ถ้าเศษเกินครึ่งลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 1 ลูกบาศก์เมตร

 ►คำถาม    ค่าบริการในการตัดต้นไม้ คิดค่าบริการอย่างไร   
ตอบ
    1. ค่าบริการตัดต้นไม้
                  1.1 บริเวณที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง คิดค่าบริการ ดังนี้
                            - ขนาดรอบโคนต้น ไม่เกิน 100 ซม.        ต้นละ 200 บาท
                            - ขนาดรอบโคนต้น 101 – 150 ซม.       ต้นละ 500 บาท
                            - ขนาดรอบโคนต้น 151 – 200 ซม.       ต้นละ 800 บาท
                            - ขนาดรอบโคนต้น 201 – 250 ซม.       ต้นละ 1,000 บาท
                            - ขนาดรอบโคนต้น 251 – 300 ซม.       ต้นละ 1,400 บาท
                            - ขนาดรอบโคนต้น 301 ซม. เป็นต้นไป    ต้นละ 1,700 บาท
                   1.2 บริเวณที่จำกัดหรือมีสิ่งกีดขวาง คิดค่าบริการ ดังนี้
                            - ขนาดรอบโคนต้น ไม่เกิน 100 ซม.        ต้นละ 400 บาท
                            - ขนาดรอบโคนต้น 101 – 150 ซม.       ต้นละ 1,000 บาท
                            - ขนาดรอบโคนต้น 151 – 200 ซม.       ต้นละ 1,600 บาท
                            - ขนาดรอบโคนต้น 201 – 250 ซม.       ต้นละ 2,200 บาท
                            - ขนาดรอบโคนต้น 251 – 300 ซม.       ต้นละ 2,800 บาท
                            - ขนาดรอบโคนต้น 301 ซม. เป็นต้นไป    ต้นละ 3,400 บาท
              2. ค่าบริการขุดโคนต้นที่ตัดแล้ว คิดค่าบริการ ดังนี้ 
                            - ขนาดรอบโคนต้น 50 – 100 ซม.         ต้นละ 600 บาท
                            - ขนาดรอบโคนต้น 101 – 150 ซม.       ต้นละ 1,000 บาท
                            - ขนาดรอบโคนต้น 151 – 200 ซม.       ต้นละ 1,400 บาท
                            - ขนาดรอบโคนต้น 201 – 250 ซม.       ต้นละ 2,000 บาท
                            - ขนาดรอบโคนต้น 251 – 300 ซม.       ต้นละ 3,000 บาท
                            - ขนาดรอบโคนต้น 301 ซม. เป็นต้นไป    ต้นละ 4,000 บาท
             3. ค่าเก็บขน (ระยะทาง ต่อ กิโลเมตร)
                        3.1 ไม่เกิน 10 กิโลเมตร            เที่ยวละ 500 บาท
                        3.2 เกิน    10 กิโลเมตร            เที่ยวละ 700 บาท
    กรณีผู้ขอรับบริการเป็นหน่วยงานของรัฐ ให้ลดค่าบริการลงร้อยละ 20 จากอัตราที่กำหนด
 
►คำถาม  หากต้องการให้สำนักงานเขตไปเก็บขยะเป็นครั้งคราว คิดอัตราค่าบริการอย่างไร   
ตอบ
    คิดราคาลูกบาศก์เมตรละ 150 บาท ถ้าเต็มรถบรรทุกขนาด 60 ล้อ เท่ากับ 8 ลูกบาศก์เมตร คิดราคา 1,200 บาท

 
ฝ่ายการคลัง
►คำถาม การจ่ายชำระเงินภาษี ค่าธรรมเนียม ใบอนุญาต ค่าบริการ และค่าปรับ สามารถชำระด้วยอะไรได้บ้าง
ตอบ        1. เงินสด
               2. เช็คหรือแคชเชียร์เช็ค เฉพาะธนาคารที่มีสำนักงานหรือสาขาในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น โดยเช็คลงวันที่นั้นหรือก่อนวันนั้นไม่เกิน 30 วัน พร้อมขีดคร่อมจ่ายให้แก่ “กรุงเทพมหานคร” กับขีดฆ่าคำว่า “ผู้ถือ” และหรือ “ตามคำสั่ง”
               3. บัตรเครดิต มีค่าธรรมเนียมบัตร 1% ของยอดที่จ่ายชำระ

►คำถาม การมารับเช็ค ต้องมีเอกสารหรือหลักฐานอะไรบ้าง
ตอบ       1. ใบเสร็จรับเงินของบริษัท/ห้าง/ร้าน กรณีที่เจ้าของบริษัท/ห้าง/ร้าน ไม่สามารถมารับเช็คด้วย                                 ตนเองได้ ให้จัดทำหนังสือมอบอำนาจ พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจ และเอกสารแสดงชื่อผู้มีอำนาจในการลงนามของบริษัท/ห้าง/ร้าน    
              2. บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของผู้มารับเช็ค เพื่อเป็นการยืนยันตัวบุคคล

►คำถาม การปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจ มีกี่กรณี
ตอบ    แบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
  1. กรณีมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว ปิดอากรแสตมป์ จำนวน 10 บาท
  2. กรณีมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ปิดอากรแสตมป์ จำนวน 30 บาท
  3. กรณีมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ คิดตามรายตัวบุคคลที่มอบอำนาจ ค่าอากรแสตมป์ คนละ 10 บาท
►คำถาม บริษัท/ห้าง/ร้าน ที่หน่วยงานทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% เมื่อมียอดการจัดซื้อจัดจ้างจำนวนเงินเท่าใด
ตอบ    1. กรณีเป็นบุคคลธรรมดา/ร้าน/ห้างหุ้นส่วนสามัญ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อมียอดการจัดซื้อจัดจ้าง               จำนวน 10,000 บาท ขึ้นไป         
           2. กรณีเป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด/บริษัท ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อมียอดการจัดซื้อจัดจ้าง จำนวน 500 บาท ขึ้นไป


 
Page 1 of 1