“มหกรรมกรุงเทพฯ เพื่อคนพิการ (Bangkok for All)”
(20 ธ.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมกรุงเทพฯ เพื่อคนพิการ (Bangkok for All)” พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติแก่คนพิการตัวอย่างกรุงเทพมหานคร จำนวน 50 คนจาก 50 สำนักงานเขต รวมทั้งหน่วยงานที่ทำประโยชน์ด้านคนพิการให้แก่กรุงเทพมหานคร จำนวน 10 หน่วยงาน ณ ห้องบางกอก ชั้น B2 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง)
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากองค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี เป็น "วันคนพิการสากล" เพื่อให้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนพิการและตื่นตัวในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมกรุงเทพฯ เพื่อคนพิการ (Bangkok for All)” เพื่อส่งเสริม และสร้างความเข้าใจอันดีของสังคมที่มีต่อคนพิการและการยอมรับคนพิการในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม ตลอดจนเป็นการเปิดโอกาสให้คนพิการได้มาพบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีนโยบายขับเคลื่อนงานด้านคนพิการไปสู่การปฏิบัติ จำนวน 5 ด้าน ได้แก่
1. ด้านสุขภาพดี มุ่งส่งเสริมให้คนพิการมีสุขภาพดี สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ เช่น จัดตั้งศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 11 แห่ง และจัดรถโมบายยูนิตทันตกรรมให้บริการแก่คนพิการในชุมชน การตรวจคัดกรองคนพิการในชุมชน รวมถึงการจัดหากายอุปกรณ์ให้แก่คนพิการที่อยู่ในภาวะยากลำบาก การเข้าไปดูแลสุขภาพผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน การจัดบริการรถรับส่งคนพิการและผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ตามนัด
2. ด้านเรียนดี การส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรครูให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการศึกษาพิเศษ สามารถจัดการเรียนการสอนให้เด็กพิการได้ เช่น การฝึกอบรมครูกรุงเทพมหานครทุกคนเป็นครูการศึกษาพิเศษ และการจัดการเรียนร่วมในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 161 โรงเรียน
3. ด้านเศรษฐกิจดี มุ่งเน้นการฝึกอาชีพคนพิการสู่การมีงานทำและการประกอบอาชีพที่ยั่งยืน เช่น การรับคนพิการเข้าเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานคร การจ้างงานคนพิการในสำนักงานเขต 50 เขต และในหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร การส่งเสริมการแสดงดนตรีหรือศิลปะในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร และจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมทักษะทางอาชีพสำหรับคนพิการ เป็นต้น
4. ด้านโครงสร้างและเดินทางดี การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในข้อมูลข่าวสารโครงสร้างพื้นฐานและการเดินทางที่ดี จำเป็นต้องมีต้นแบบที่ดีเป็นรูปธรรม โดยมีส่วนร่วมกับทุกฝ่าย เช่น จัดหารถเพื่อรับส่งคนพิการและผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางได้สะดวก ปรับทางเท้าให้คนพิการสามารถใช้บริการได้ และจัดทำทางม้าลายที่คนพิการทางสายตาสามารถใช้บริการได้
5. ด้านบริหารจัดการดี การพัฒนาต้นแบบหรือมาตรฐาน เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ด้วยการออกแบบที่เป็นสากล (UD) ในอาคารสถานที่การเดินทางหรือระบบขนส่งยานพาหนะ และสภาพแวดล้อม การจัดทำ BANGKOK FOR ALL CAMPAIGN
พร้อมนี้ ขอเป็นกำลังใจ และขอให้คนพิการทุกท่านประสบความสำเร็จในชีวิต มีพลังกาย พลังใจที่เข้มแข็งและมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ตลอดไป
รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กล่าวว่า สำนักพัฒนาสังคม กำหนดจัดงานครั้งนี้ขึ้น เพื่อเสริมสร้างเจตคติเชิงสร้างสรรค์ของประชาชนทั่วไปที่มีต่อคนพิการให้ตระหนักรู้เกี่ยวกับคนพิการซึ่งจะส่งผลให้คนพิการได้เข้าถึงบริการและใช้บริการได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียมและได้รับโอกาสทางสังคมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงให้คนพิการและประชาชนทั่วไปได้รับทราบนโยบาย มาตรการ แนวทางการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ การพัฒนาศักยภาพคนพิการของกรุงเทพมหานคร และส่งเสริมความเสมอภาคในทุกภาคส่วนของสังคม โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ “คนพิการตัวอย่างกรุงเทพมหานคร” และหน่วยงานที่ทำประโยชน์ด้านคนพิการให้แก่กรุงเทพมหานคร การจัดบอร์ดนิทรรศการการดำเนินงานด้านคนพิการกรุงเทพมหานคร ตามนโยบาย 5 ดี 5 ด้าน การออกบูธให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาชีพของคนพิการ การจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 35 โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ การจำลองศูนย์ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการของกรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคมและมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมและเครือข่าย การออกหน่วยทำบัตรแสดงความสามารถของคนพิการ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ การออกหน่วยประเมินความพิการพร้อมรับลงทะเบียนขอรับเบี้ยความพิการ ผ่านศูนย์ (One Stop Service) โดยสำนักการแพทย์ การออกหน่วยตรวจสุขภาพเบื้องต้นให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน โดยสำนักอนามัย การออกบูธให้คำปรึกษา แนะแนวการศึกษาของคนพิการ นวัตกรรมทางการศึกษา และการจำลองห้องเรียนเรียนร่วมสำหรับเด็กพิการของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง และสำนักการศึกษา การออกบูธให้คำแนะนำปรึกษาเรื่องกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การออกบูธให้คำแนะนำปรึกษาเรื่องสิทธิประโยชน์จากกองทุน เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) โดยกรมการขนส่งทางบก
การออกบูธรับสมัครงานคนพิการ โดยบริษัท จ๊อบฟินฟิน จำกัด บริษัท บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท อินเด็กซ์ ลีฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) การออกบูธแนะนำย่านท่องเที่ยวสำหรับคนพิการ คนพิการสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างอิสระ โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว การออกหน่วยบริการทำบัตรประชาชน โดยสำนักงานปกครองและทะเบียนกรุงเทพมหานคร การออกบูธสอนภาษามือพื้นฐาน โดยสมาคมคนหูหนวก แห่งประเทศไทย การจำลองศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กออทิสติก และเด็กพิการทางสติปัญญา โดยมูลออทิสติกไทย และสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย การออกบูธฝึกอาชีพให้แก่คนพิการและผู้เข้าร่วมงาน โดยสำนักพัฒนาสังคม บูธกิจกรรมนันทนาการ และแจกของรางวัล โดยมูลนิธิ Five For All และมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม การบรรยายเรื่อง การจ้างงานคนพิการตาม มาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 การพูดเพื่อสร้างแรงบรรดาลใจให้แก่คนพิการ (Ted Talks) โดยอาสาสมัครปฏิบัติงานด้านคนพิการ ของสำนักงานเขตดุสิต และการออกร้านจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของคนพิการ
สำหรับผู้ร่วมกิจกรรมวันนี้ประกอบด้วย นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายแสนยากร อุ่นมีศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสาวกาญจนา ภูพิพัฒน์ผล นางสมฤดี ลันสุชีพ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรคนพิการ ประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง
------------------------------