ศูนย์สร้างโอกาสเด็กกรุงเทพมหานคร
ศูนย์สร้างโอกาสเด็กกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานครกับการดำเนินงานด้านเด็กศูนย์สร้างโอกาสเด็กกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาสังคม (กองสังคมสงเคราะห์ สำนักสวัสดิการสังคม) ดำเนินงานด้านเด็กเร่ร่อนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ในระยะแรกดำเนินงานโครงการครูข้างถนนในพื้นที่ 3 แห่ง คือ พื้นที่วงเวียนใหญ่ สี่แยก อสมท. และรามคำแหงเป็นโครงการนำร่องโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ(ยูนิเซฟ) ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์สร้างโอกาสเด็กกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นมีจำนวน 7 แห่ง อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักงานสวัสดิการสังคม สำนักพัฒนาสังคม ดังนี้
1. ศูนย์สร้างโอกาสเด็กสวนลุมพินี เขตปทุมวัน เริ่มดำเนินการปี 2541
2. ศูนย์สร้างโอกาสเด็กทุ่งครุ เขตทุ่งครุ เริ่มดำเนินการปี 2545
3. ศูนย์สร้างโอกาสเด็กพระราม 8 เขตบางพลัด เริ่มดำเนินการปี 2545
4. ศูนย์สร้างโอกาสเด็กจตุจักร เขตจตุจักร เริ่มดำเนินการปี 2543
5. ศูนย์สร้างโอกาสเด็กสะพานพระปกเกล้า เขตคลองสาน เริ่มดำเนินการปี 2545
6. ศูนย์สร้างโอกาสเด็กพฤกษชาติคลองจั่น เขตบางกะปิ เริ่มดำเนินการปี 2545
7. ศูนย์สร้างโอกาสเด็กพระราม 9 เขตราษฎร์บูรณะ (ปิดทำการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2560 เนื่องจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเวนคืนพื้นที่ โดยปรับเปลี่ยนไปใช้พื้นที่บริเวณสวนสุขภาพใต้สะพานยกระดับราชพฤกษ์ เขตธนบุรี ทดแทน อยู่ระหว่างของบประมาณในการปรับปรุง)
1. ศูนย์สร้างโอกาสเด็กกรุงเทพมหานคร ให้บริการกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
กลุ่มเด็กเร่ร่อน เด็กกลุ่มเสี่ยง เด็กในภาวะยากลำบาก และเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิให้ได้รับสวัสดิการการสงเคราะห์ และการคุ้มครองสวัสดิภาพ ตามความต้องการขั้นพื้นฐานและสิทธิตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. ลักษณะของศูนย์สร้างโอกาสเด็กกรุงเทพมหานคร
เป็นตู้คอนเทนเนอร์ ตั้งอยู่ในบริเวณสวนสาธารณะ ใกล้ชุมชนแออัด ชุมชนเมือง ชุมชนอาคารสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้างประจำของกรุงเทพมหานคร
3. แนวทางการดำเนินงาน
3.1 การดำเนินงานในพื้นที่ (Street - based Approach)
3.1.1 จัดให้มีนักพัฒนาสังคม (ครูข้างถนน) ในพื้นที่ที่มีเด็กเร่ร่อน เด็กกลุ่มเสี่ยง และเด็กในภาวะยากลำบาก โดยมุ่งเน้น
- การเสริมสร้างทักษะชีวิต
- การป้องกันเด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะออกมาเร่ร่อน
- การพัฒนา/การฟื้นฟู
3.1.2 การประสานการปฏิบัติงานกับองค์กรภาครัฐและเอกชน
3.1.3 การจัดสวัสดิการ
- การให้คำปรึกษาแนะนำ
- การส่งต่อความช่วยเหลือ/ส่งกลับภูมิลำเนา
- การส่งเสริมการฟื้นฟูสุขภาพ อนามัย
- การรักษาพยาบาล
- การการสอนหนังสือและสร้างความรู้ทักษะด้านการดำรงชีวิตในสังคม
- การเสริมทักษะด้านอาชีพและหางานทำ เช่น พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร รับจ้างทั่วไป เป็นต้น
- การสงเคราะห์ช่วยเหลือ ตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ พ.ศ. 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 เช่น เงินสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษา ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องในการรักษาพยาบาล ทุนฝึกอาชีพ และเครื่องอุปโภคและบริโภค เป็นต้น
- การจัดกิจกรรมเสริมทักษะด้านต่างๆ เช่น กีฬา ศิลปะ ดนตรี ฯลฯ
- กิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ กิจกรรมส่งเสริมการรักการอ่าน กิจกรรมเนื่องในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันเด็กแห่งชาติ, วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา, กิจกรรมจิตอาสา เป็นต้น
3.2 สร้างฐานครอบครัวอบอุ่น (Home - based approach)
3.2.1 การเยี่ยมบ้าน ร่วมกันระหว่างนักสังคมสงเคราะห์ (ของสำนักพัฒนาสังคมโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร และศูนย์บริการสาธารณสุข) นักพัฒนาสังคมและอาสาสมัครช่วยงาน สังคมสงเคราะห์ของฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขต และองค์กรภาคเอกชน
3.2.2 การจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ครอบครัว อาทิ การให้คำปรึกษาครอบครัว การดูแลสุขภาพ ค่าสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษา การฝึกอาชีพ ทุนประกอบอาชีพ เป็นต้น
3.2.3 การสร้างเสริมศักยภาพให้กับเด็ก
1. กิจกรรมนันทนาการ
- กิจกรรมกีฬา
- ทัศนศึกษา
- ค่ายพักค้าง
- การฝึกอบรมธรรมะ
2. การฝึกอาชีพ ได้แก่ การตัดผม, การเพาะเห็ดนางฟ้า, การปลูกและขยายพันธุ์แคคตัส และการปลูกพืชผักสวนครัวสำหรับบริโภคและจำหน่าย เป็นต้น
3. การหาอาชีพโดยพาไปสมัครงาน
4. การพาไปสมัครเรียนการศึกษานอกโรงเรียน
4. บุคลากรที่สร้างชื่อเสียงให้แก่กรุงเทพมหานคร
- นายเชาวลิต สาดสมัย (ครูเชาว) นักพัฒนาสังคม ศูนย์สร้างโอกาสเด็กพระราม 8 เขตบางพลัด ได้แก่
4.1 รางวัลบุคคลคุณภาพแห่งปี 2017 ด้านเด็กและเยาวชน
4.2 รางวัลนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น พ.ศ. 2558 โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
**************************************