กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมกรุงเทพมหานคร
กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการสังคมตามกฎหมายนี้
สวัสดิการสังคม หมายถึง ระบบการจัดบริการทางสังคมซึ่งเกี่ยวกับการป้องกัน การแก้ไขปัญหา การพัฒนา และการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม เพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสม เป็นธรรม และให้เป็นไปตามมาตรฐานทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การทำงานและการมีรายได้ นันทนาการ กระบวนการยุติธรรม และบริการทางสังคมทั่วไป โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สืทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับ และการมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ ทั้งนี้ การจัดสวัสดิการสังคมต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติกำหนด
ผู้มีสิทธิขอใช้เงินกองทุนองค์การสวัสดิการสังคม
1. องค์กรสาธารณประโยชน์ มูลนิธิ สมาคม หรือ องค์กรเอกชนที่มีวัตถุประสงค์ ในการจัดสวัสดิการสังคม มีผลงานเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการสังคมตามมาตรฐานที่กำหนด และได้รับการรับรองเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
2. องค์กรสวัสดิการชุมชน องค์กรภาคประชาชนที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่สมาชิกในชุมชนหรือปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมของเครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
3. หน่วยงานของรัฐ กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐที่ดำเนินงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม
การดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
1. ระบบปกติ เป็นระบบที่คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมเป็นผู้พิจารณาอนุมัติโครงการที่องค์การสวัสดิการสังคมเสนอขอรับการสนับสนุน โดยมีคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมมีอำนาจหน้าที่พิจารณากลั่นกรองโครงการดังกล่าวในชั้นต้นก่อนเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
2. ระบบการกระจายกองทุนสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น เป็นระบบที่คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติกำหนดขึ้นเป็นนโยบายเพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนฯ เป็นไปอย่างทั่วถึงและเหมาะสม โดยมีการดำเนินการ ดังนี้
1. กระจายวงเงินเพื่อให้มีการจัดทำโครงการเชิงประเด็น/กลุ่มเป้าหมาย ในภาพรวมของกรุงเทพมหานคร โดยในการจัดทำโครงการต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าควรทำโครงการใดถึงตอบสนองต่อความต้องการของพื้นที่และให้องค์การสวัสดิการสังคมในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีส่วนสมทบด้วย
2. คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมกรุงเทพมหานคร จากผู้แทนภาคส่วนต่างๆ และมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการดังกล่าวพิจารณาอนุมัติโครงการในกรุงเทพมหานครตามวงเงินที่คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ จัดสรรให้ในแต่ละปี
โครงสร้างคณะกรรมการและกลไกการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ มีปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นรองประธาน มีผู้แทนจากสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กรุงเทพมหานคร และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๕ คน เป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่บริหารกองทุน พิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนองค์การสวัสดิการสังคม และรายงานสถานะการเงินตามระเบียบที่คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติกำหนด
คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมกรุงเทพมหานคร
เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนฯ เป็นไปอย่างทั่วถึงและเหมาะสม คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมกรุงเทพมหานคร โดยองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการดังกล่างคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนองค์การสวัสดิการสังคมตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ กำหนด
ลักษณะโครงการที่สามารถขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ
โครงการที่สามารถขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ได้ต้องมีลักษณะตามข้อ 9 และข้อ 10ของระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ว่าด้วยการพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงิน การรายงานสถานะการเงิน และการบริหารกองทุน และการควบคุมการใช้จ่ายเงินของกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2562 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. โครงการด้านการจัดสวัสดิการสังคม ต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาสวัสดิการสังคมไทยและต้องเป็นโครงการที่มีลักษณะเป็นการป้องกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคม ส่งผลต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในสภาวะยากลำบากหรือที่จำต้องได้รับการช่วยเหลือตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติกำหนด โดยมุ่งเน้นการส่งเสริม การพัฒนา การสงเคราะห์ การคุ้มครอง การป้องกัน การแก้ไข
และการบำบัดฟื้นฟู ในสาขาใดสาขาหนึ่ง ประกอบด้วย การบริการทางสังคม การศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การฝึกอาชีพ การประกอบอาชีพ นันทนาการและกระบวนการยุติธรรม
2. โครงการสนับสนุนงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นโครงการที่มีลักษณะ ดังนี้
- การจัดทำแผน ศึกษา วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับงานส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
- การดำเนินการและสนับสนุนให้มีการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม
- การจัดทำระเบียบกลางเกี่ยวกับองค์การสวัสดิการสังคม
- การกำกับ ดูแลและตรวจสอบการดำเนินงานของแต่ละองค์กรสาธารณประโยชน์และองค์กรสวัสดิการชุมชน
- การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามแผนพัฒนางานสวัสดิการสังคม
- การประสานงาน เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดสวัสดิการสังคม
- การใช้จ่ายในงานธุรการของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนฯ และคณะอนุกรรมการ
การเสนอโครงการขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุน
องค์การสวัสดิการสังคม สามารถเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ได้ 2 ช่องทาง ดังนี้
ช่องทางที่ 1 ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ
กรณีที่ตั้งสำนักงานขององค์การสวัสดิการสังคมอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและกลุ่มเป้าหมายตามโครงการอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานครให้ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ
ช่องทางที่ 2 ยื่นต่อสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร
กรณีที่ตั้งสำนักงานขององค์การสวัสดิการสังคมและกลุ่มเป้าหมายตามโครงการตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นต่อสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร
เกณฑ์การพิจารณาโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ
1. วัตถุประสงค์ของโครงการต้องมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์กร หรือหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุน
2. โครงการที่เสนอขอต้องสามารถตอบวัตถุประสงค์ของกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมได้และมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์สวัสดิการสังคมไทย นโยบายของรัฐ นโยบายของกรุงเทพมหานคร นโยบายของกระทรวง หรือนโยบายของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
3. หลักการโครงการ วัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย กิจกรรม ต้องมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกัน
4. การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการดำเนินโครงการ เช่น การร่วมคิดร่วมทำ การวางแผนงาน การสนับสนุนงบประมาณ วิชาการ หรือสถานที่จัดประชุมเป็นต้น
5. ความสัมพันธ์ของโครงการที่ขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนกับโครงการอื่นที่ดำเนินการในพื้นที่เดียวกันเพื่อประกอบการพิจารณา และป้องกันความซ้ำซ้อนของการขอรับการสนับสนุนเงินเพื่อจัดทำโครงการ
6. การสนับสนุนเงินกองทุนฯ ควรจัดลำดับความสำคัญของปัญหาในการพึ่งพาตนเองและการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เป็นเครือข่าย
7. วิธีการประเมินผลสำเร็จ ต้องเป็นรูปธรรมและชัดเจน เช่น วัดระดับความรู้ก่อนและหลังเข้ารับการอบรม การนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการทำงานหรือประกอบอาชีพ เป็นต้น
- ผลผลิต Output
- ผลลัพธ์ Outcome
- ผลกระทบ Impact (ถ้ามี)
8. ระยะเวลาดำเนินโครงการ ควรมีความสอดคล้องกับระยะเวลาที่รับเงินกองทุน
การดำเนินกิจกรรม และการติดตามผลสำเร็จของโครงการ
9. ความยั่งยืนของโครงการ
10. เป็นโครงการนวัตกรรม หรือความคิดสร้างสรรค์ (ถ้ามี)
ปรับปรุงล่าสุด 20 พฤษภาคม 2565