พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ.2558

               กรุงเทพมหานครได้รับการถ่ายโอนภารกิจหอพัก ตามพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2558 จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2558 โดยปลัดกรุงเทพมหานคร (นายสัญญา ชีนิมิตร) ได้เข้าร่วมการแถลงข่าว และมีพิธีลงนามส่งมอบภารกิจหอพัก แทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ได้กำหนดให้โอนอำนาจในการกำกับดูแลการประกอบกิจการหอพักให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้กรุงเทพมหานครมีภารกิจเพิ่มขึ้นในการกำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบกิจการหอพัก

               สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ มุ่งเน้นในการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนที่อยู่ระหว่างการศึกษา อาศัยในหอพักให้ได้รับความปลอดภัย และมีสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยอย่างเหมาะสม เช่น ป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ท้องก่อนวัยอันควร และห่างไกลจากยาเสพติด เป็นต้น โดยในการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจากสำนักงานเขต เพื่อขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้อย่างแท้จริง

               “หอพัก” หมายความว่า สถานที่ที่รับผู้พักตามพระราชบัญญัตินี้เข้าพักอาศัย โดยมีการเรียกเก็บค่าเช่า ซึ่ง “หอพัก”มี ๒ ประเภท ได้แก่ (๑) หอพักชาย (๒) หอพักหญิง

               “ผู้พัก” หมายความว่า ผู้ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาในสถานศึกษาในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี และมีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปี

               ในการขับเคลื่อนภารกิจตามพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2558 กรุงเทพมหานครดำเนินการดังนี้

               1. มีการมอบหมายผู้บริหารระดับสูงรับผิดชอบหอพัก ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพักกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่ดังนี้

                              1.1 เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการในการดำเนินการ ตามมาตรา ๑๕ (๑) (๒) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2558 

                              1.2 เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการในการออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับหอพักตามพระราชบัญญัตินี้  

                              1.3 ติดตาม ประเมินผล และตรวจสอบประสิทธิภาพในการบังคับใช้และเสนอแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัตินี้ต่อคณะกรรมการ

                              1.4 ดําเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

               2. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามการดำเนินงานหอพักกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2558 มีหน้าที่ในการกำกับ ติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมกิจการหอพักกรุงเทพมหานคร สรุปผลการปฏิบัติงานและรายงานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพักกรุงเทพมหานคร

               3. ในระดับเขต ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมกิจการหอพักกรุงเทพมหานครระดับเขต โดยมีผู้อำนวยการเขตเป็นประธานกรรมการ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยผู้อำนวยการเขต (ในฐานะนายทะเบียนหอพัก) มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

                              3.1 พิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตแก่ผู้ขอจัดตั้งหอพักหรือเป็นผู้จัดการหอพักใน 7 กระบวนการ ดังนี้ 

                                             1. การขออนุญาตให้ตั้งหอพัก

                                             2. การขออนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพัก

                                             3. การเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมหอพักและระเบียบหอพัก 

                                             4. การเปลี่ยนแปลงเจ้าของหอพักหรือผู้จัดการหอพัก

                                             5. การต่อใบอนุญาตให้ตั้งหอพักและเป็นผู้จัดการหอพัก

                                             6. การขอรับใบแทนใบอนุญาต 

                                             7. การเลิกกิจการหอพัก

                              3.2 มีอำนาจเข้าไปในหอพักในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เพื่อตรวจตราควบคุมให้การปฏิบัติงานเป็นไปตาม พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ. 2558 และในกรณีจำเป็นให้มีอำนาจเข้าไปตรวจหอพักนอกเวลาดังกล่าวได้ โดยจะต้องมีบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ที่พร้อมจะแสดงด้วย

                              3.3 มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหอพักหรือผู้จัดการหอพักจัดการหรือแก้ไขหอพักในกรณีที่หอพักไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนด ภายในกำหนดเวลาที่นายทะเบียนเห็นสมควร

                              3.4 มีอำนาจสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมหรือดำเนินกิจการหอพัก หรือถ้าเห็นสมควรจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ตั้งหอพัก หรือใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพัก โดยขออนุญาตจากรัฐมนตรีใน 3 กรณี ได้แก่

                                             1. เจ้าของหรือผู้จัดการหอพัก ขาดคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด

                                             2. ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

                                             3. ดำเนินกิจการหอพัก เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีหรือเป็นภัย ต่อประเทศชาติ

               4. มีการจัดทำฐานข้อมูลหอพักรายปี โดยรวบรวมข้อมูลหอพักที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียน จำแนกตามพื้นที่ หอพักเอกชน หอพักสถานศึกษา ประเภทหอพัก (ชาย - หญิง) 

               5. มีการพัฒนาผู้ปฏิบัติงาน โดยการจัดอบรมสัมมนาเพื่อเพิ่มศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่หอพักตามพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2558 ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานจากสำนักงานเขต ผู้ประกอบกิจการหอพักทุกปี 

               6. จัดทำแผนส่งเสริมการประกอบกิจการหอพักกรุงเทพมหานคร ประจำปี โดยมีการตรวจเยี่ยมการดำเนินงานหอพักในระดับเขต ปีละ 4 ครั้ง

               7. มีการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานหอพักกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติหอพักพ.ศ. 2558

               8. จัดทำบัตรประจำตัวนายทะเบียน และพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติหอพักพ.ศ. 2558

 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง