วัดในพื้นที่เขตมีนบุรี จำนวน 6 วัด
1. วัดบำเพ็ญเหนือ

          ที่ตั้ง เลขที่ 65 ซอยเสรีไทย 60 แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กทม.
          โทร. 0 2517 1316
        ที่ตั้งอยู่ติดนิคมอุตสาหกรรมบางชัน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2367 สมัยรัชกาลที่ 3 สร้างโดยชาวเวียงจันทน์ที่เดิมพักอยู่แถวบางปะอิน วัดนี้มีประวัติและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัดบางเพ็งใต้ ปูชนียวัตถุมีพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งสร้างขึ้นเก่าแก่พร้อมกับการสร้างวัด ปัจจุบันได้มีการสร้างโรงเรียนระดับประถมศึกษาของกรุงเทพมหานครในเนื้อที่ของวัด


2. วัดแสนสุข

          ที่ตั้ง เลขที่ 214 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กทม.
          โทร. 0 2540 7235
          เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยกรุงธนบุรีประมาณ พ.ศ.2315 โดยชาวบ้านร่วมใจกันสร้างขึ้นและตั้งชื่อว่า “ วัดแสนแสบ” ตามสถานที่ตั้งวัดซึ่งติดกับคลองแสนแสบ  ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2487 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ วัดแสนสุข” และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2459 ปูชนียวัตถุในพระอุโบสถมีพระพุทธชินราชจำลอง และมีมณฑปพระพุทธบาทจำลองอยู่หน้าพระอุโบสถ

3. วัดใหม่ลำนกแขวก

          ที่ตั้ง เลขที่ 9 หมู่ที่ 10 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กทม.
          โทร. 0 2543 1963
          ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดลำนกแขวก” สร้างเมื่อ พ.ศ. 2440 ที่ตั้งวัดเดิมเป็นที่ลุ่ม เมื่อฝนตกจะมีน้ำขังเป็นทางยาว มีต้นไม้มากจึงมีนกแขวกไปอาศัยอยู่ เดิมมีเพียงโบสถ์ปลูกในลักษณะโรงสังกะสี (ปัจจุบันรื้อถอน) ต่อมาได้มีการสร้างพระอุโบสถใหม่และได้อัญเชิญหลวงพ่อโต ซึ่งขุดพบจากวัดร้างในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระแกะสลักด้วยหินทั้งองค์ปางสมาธิเลียนแบบสุโขทัยเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดนี้แตกต่างจากวัดอื่น ๆ เนื่องจากมีเสมาติดกับตัวพระอุโบสถปัจจุบันมีศาลาการเปรียญหลังใหญ่ราคา 15 ล้านบาท มีอักษรพระนามาภิไธยย่อ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประดับอยู่ที่หน้าบัน พระประธานบนศาลา หลังนี้เป็นพระพุทธสิหิงค์จำลองจัดสร้างเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ทั้ง 2 พระองค์  เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงยกช่อฟ้าศาลาการเปรียญและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในพระเกศพระพุทธสิหิงค์จำลององค์ดังกล่าว


4. วัดบางเพ็งใต้

          ที่ตั้ง เลขที่ 3 ซอยรามคำแหง 187 แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กทม.
          โทร. 0 2517 0446

          สร้างเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2394) โดยชาวเวียงจันทน์ที่อพยพมาอยู่บริเวณคลองแสนแสบ ซึ่งตั้งชื่อหมู่บ้านของตนว่า “ บางเพ็ง ” ได้ร่วมกันสร้าง “วัดบางเพ็งเหนือ” ขึ้นทางฝั่งเหนือ ต่อมาเจ้าอาวาสชื่อ “ พระครูดำ” เกิดวิกลจริตจึงกลับไปรักษาตัวที่กบินทร์บุรี  หมอได้รักษาท่านจนหายแต่ได้บอกว่า “ ถ้ากลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเดิมจะป่วยหนักกว่าเดิม” ชาวบ้านจึงได้สร้างวัดบางเพ็งใต้ขึ้น พื้นที่วัดแวดล้อมไปด้วยหมู่บ้านจัดสรร การคมนาคมสะดวก พระอุโบสถสร้างเมื่อ พ.ศ. 2466  ช่อฟ้าหน้าบันมีลวดลายปิดทองติดกระจก  หอสวดมนต์เป็นไม้สักทั้งหลัง พระประธานในพระอุโบสถหน้าตักกว้าง 1 เมตรเศษ มือถือดอกบัว

5. วัดทองสัมฤทธิ์

          ที่ตั้ง เลขที่ 50/1 หมู่ที่ 18 ถนนคุ้มเกล้า แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กทม.
          โทร. 0 2543 8777

          เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดตารุ่ง” สร้างเมื่อ พ.ศ.2458 เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์ มหานิกายพื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม พระอุโบสถกว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร ศาลาการเปรียญและหอสวดมนต์สร้างเป็นแบบทรงไทยทั้งหมด ปูชนียวัตถุมีพระประธานปูนปั้นปิดทอง หน้าตักกว้าง 3ฟุต และมีโรงเรียนระดับประถมศึกษาของกรุงเทพมหานคร สร้างในเนื้อที่วัดประมาณ 5 ไร่ 

6. วัดศรีกุเรชา

          ที่ตั้ง เลขที่ 69 ซอยราษฎร์อุทิศ 36 แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กทม. 
          โทร. 0 2543 8338

          เดิมเป็นสำนักสงฆ์ มีเนื้อที่ 6 ไร่ ตั้งอยู่ถนนราษฎร์อุทิศ หมู่ที่ 1 แขวงแสนแสบ นายสวัสดิ์  ศรีกุเรชา ซึ่งเป็นชาวอินเดียโดยกำเนิดอุทิศที่ดินเพื่อสร้างวัดประมาณ พ.ศ.2530 ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2541 ได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดชื่อ “วัดศรีกุเรชา” เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้อุทิศที่ดิน วัดนี้เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย แรกเริ่มมีกุฏิไม้ 4 หลัง มีศาลาการเปรียญอยู่ริมน้ำเรียกว่า “สิม หรือ โบสถ์น้ำ”  พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม ปัจจุบันมีอาคารเสนาสนะเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว และศาลาการเปรียญหลัง เนื่องจากอยู่ระหว่างรวบรวมปัจจัยซื้อดินถมที่ เพื่อสร้างอาคารที่มั่นคงถาวร