Chat Icon

รองผู้ว่าฯกทม. ลงพื้นที่ #เขตบางขุนเทียน ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
image

รองผู้ว่าฯกทม. ลงพื้นที่ #เขตบางขุนเทียน ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

(7 ก.พ.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ประกอบด้วย

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เขตการเดินรถที่ 5 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ถนนพระรามที่ 2 ซอย 94 จุดตรวจวัดควันดำรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ และรถโดยสารประจำทาง บริเวณท่าปล่อยรถสาย 68 76 140 และ 141 มีรถโดยสาร รวมทั้งสิ้น 168 คัน โดยใช้เครื่องตรวจวัดควันดำด้วยระบบความทึบแสง จากนั้นเร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่ง และคงไว้ที่ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 2 วินาที ทำการตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสงต้องไม่เกิน 30% และตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรองต้องไม่เกิน 40% ส่วนค่ามาตรฐานเสียงระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบกิจการที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยกำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามแนวทางป้องกันฝุ่น PM2.5 เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด

ตรวจพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน และพื้นที่จัดทำ Hawker Center บริเวณปากซอยถนนพระราม 2 ซอย 69 ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ยกเลิกจุดผ่อนผันในพื้นที่ทั้งหมด จำนวน 5 จุด ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2548 ต่อมามีการกำหนดพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ทำการค้าบริเวณถนนพระรามที่ 2 ซอย 69 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 จนกระทั่งสำเร็จตามขั้นตอนโดยการจับสลากได้ผู้ค้ารายใหม่ 45 ราย แต่เกิดการร้องเรียนจากผู้ค้ารายเดิมที่ถูกยกเลิกทำการค้า และนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ยกคำร้อง ส่วนผู้ค้ารายใหม่ 45 ราย ยังไม่ได้เข้าทำการค้าแต่อย่างใด ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2566 เขตฯ ส่งหนังสือแจ้งตัดสิทธิผู้ค้ารายใหม่ 22 ราย ที่ไม่มารายงานตัว และวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ดำเนินการเรียกผู้ค้ารายใหม่ 23 ราย มารายงานตัวแจ้งความประสงค์จะจำหน่ายสินค้า ให้มาขอใบอนุญาตจำหน่ายสินค้าและทำบัตรประจำตัวผู้ค้า จากนั้นเขตฯ ได้ดำเนินการตีเส้นกำหนดแนวแผงค้า ออกแบบและจัดทำแผงค้าในรูปแบบเดียวกัน รวมถึงประสานภาคเอกชนในการขอรับการสนับสนุนแผงค้า ต่อมากลุ่มผู้ค้ารายเก่ายินยอมที่จะส่งรายชื่อผู้ค้า 22 ราย เพื่อเข้าทำการค้าต่อจากผู้ค้ารายใหม่ โดยเขตฯ จะเปิดให้ผู้ค้า 23 ราย เข้าพื้นที่ทำการค้า ภายในเดือนมีนาคม 2566

สำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บริเวณหมู่บ้านพิศาล ท่าข้าม 28 ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 98,001 แปลง สำรวจแล้ว 84,043 แปลง คงเหลือ 13,958 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 74,156 แห่ง สำรวจแล้ว 62,071 แห่ง คงเหลือ 12,085 แห่ง ห้องชุด 18,977 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 191,134 รายการ สำรวจแล้ว 165,091 รายการ คงเหลือ 26,043 รายการ ซึ่งปัจจุบันอาจมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากที่ดินรกร้างว่างเปล่าอาจเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่ทำการเกษตร หรือมีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น หรือมีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป เพื่อทำประโยชน์อย่างอื่นหรือปล่อยทิ้งไว้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เขตฯ จึงต้องลงสำรวจสภาพพื้นที่จริง เพื่อจัดเก็บข้อมูลให้เป็นปัจจุบันตามความเป็นจริง เพื่อนำไปประเมินการจัดเก็บภาษีให้มีความถูกต้องครบถ้วน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนนานาชาติเบซิส พระราม 2 ซอย 54 มีนักเรียน 420 คน ครู 60 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล นำไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่า โดยจัดเป็นสวัสดิการเพื่อนำกลุ่มแม่บ้านในโรงเรียน 2.ขยะอินทรีย์ เศษอาหารนำเข้าโครงการไม่เทรวมกับทางเขตฯ นอกจากนี้โรงเรียนได้จัดซื้อเครื่องแยกเศษอาหาร โดยบดย่อยเข้าสู่กระบวนการแยกกากและน้ำเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียและนำน้ำกลับมาใช้รดน้ำต้นไม้ ส่วนกากจากเศษอาหารส่งให้เขตฯ นำไปทำปุ๋ย 3.ขยะอันตราย มีการคัดแยกขยะ โดยจัดเก็บเดือนละ 1 ครั้ง เขตฯ นำมาที่จุด drop off เพื่อรวบรวมส่งโรงงานกำจัดมูลฝอยหนองแขม 4. ขยะทั่วไป จัดเก็บอาทิตย์ละ 2 ครั้ง (วันอังคารและวันศุกร์) ครั้งละประมาณ 1,000 กิโลกรัม จากเดิมเคยเก็บครั้ง 2,500 กิโลกรัม/ครั้ง อีกทั้งโรงเรียนได้จัดซื้อเครื่องบดย่อยเศษอาหารมาใช้ ทำให้น้ำหนักขยะลดลงกว่าครึ่ง นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังมีบ่อดักไขมัน บ่อบำบัดน้ำเสีย โดยนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดมาใช้รดน้ำต้นไม้ รวมถึงมีการทำปุ๋ยหมักแบบพลิกกลับจากใบไม้แห้ง สำหรับเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ในโรงเรียน

ตรวจเยี่ยมการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตบางขุนเทียน วิธีการคัดแยกขยะ โดยมีถังขยะแยกประเภทในแต่ละอาคาร ดังนี้ ถังขยะทั่วไป (สีน้ำเงิน) ได้แก่ ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ ย่อยสลายยาก แต่ไม่เป็นพิษ ถังขยะเศษอาหาร (สีเขียว) ได้แก่ ขยะเศษอาหาร เศษผักผลไม้ ถังขยะรีไซเคิล (สีเหลือง) ได้แก่ กระดาษ พลาสติก กระป๋อง ถังขยะอันตราย (สีส้ม) ได้แก่ ขยะที่มีสารปนเปื้อน วัตถุอันตราย สารเคมี ถังขยะติดเชื้อ (สีแดง) ได้แก่ หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว หรือสิ่งของที่สัมผัสกับสารคัดหลั่ง นอกจากนี้เขตฯ ได้ตั้งจุดแยกขยะขวดพลาสติกตามโครงการแยกขวดเพื่อพี่ไม้กวาด จัดทำคอกหมักปุ๋ยอินทรีย์ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์โครงการไม่เทรวม ขอความร่วมมือบุคลากรของเขตฯ และประชาชนที่มาติดต่อราชการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บและนำไปใช้ประโยชน์ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยก 1,296 กิโลกรัม/วันเฉลี่ยต่อคน 1.5 กิโลกรัม/วัน ปริมาณขยะหลังคัดแยก 1,000 กิโลกรัม/วัน เฉลี่ยต่อคน 0.9 กิโลกรัม/วัน ปริมาณขยะส่วนต่างที่ลดลง 296 กิโลกรัม/วัน เฉลี่ยประมาณ 77.16%

นอกจากนี้ เขตฯ ได้รายงานความคืบหน้าการจัดทำสวน 15 นาที บริเวณที่ว่างชุมชนการเคหะธนบุรีโครงการ 1 ส่วน 4 (ส่วนต่อขยาย) ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะ พื้นที่ 1 งาน 50 ตารางวา ด้านหน้ากว้าง 16 เมตร ลึก 40 เมตร ประธานชุมชนและคณะกรรมการชุมชน มีความประสงค์ให้จัดทำสวน 15 นาที ในรูปแบบสวนหย่อมขนาดเล็ก (Pocket Park) เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีความร่มรื่นสวยงาม เป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการออกกำลังกาย และพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งในส่วนแรกบริเวณพื้นที่ว่างด้านหน้าชุมชน เขตฯ ได้จัดทำเป็นสวนหย่อมขนาดเล็ก (Pocket Park) เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยรองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้ร่วมเปิดสวนและส่งมอบให้กับชาวชุมชน เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา สำหรับส่วนต่อขยายซึ่งเป็นพื้นที่ว่างด้านหลังชุมชน ขณะนี้เขตฯ ได้ดำเนินการออกแบบภายใต้แนวคิด Kids Park (สวน 15 นาที สำหรับเด็ก) เป็นเรียบร้อยแล้ว โดยจะปรับพื้นเดิมให้เรียบและทาสีพื้นเป็นเกมสันทนาการ เพื่อให้เด็กสามารถเล่นได้ รวมถึงรักษาต้นไม้ยืนต้นเดิมไว้เพื่อให้ร่มรื่นและร่มเงา ปรับปรุงเพิ่มเติมไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้พุ่มที่มีความแข็งแรง กิ่งก้านเหนียวไม่หักง่าย หรือมีใบละเอียด เช่น ไทรเกาหลี เข็ม หมากเหลือง จั๋ง ยี่โถ จัดทำทางเดินโดยรอบและภายในสวน จัดหาม้านั่งสนาม เพิ่มไฟฟ้าและแสงสว่าง โดยจะประสานชุมชนและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ เช่น ขอสนับสนุนไฟฟ้าโซล่าเซลล์จากภาคเอกชน เพื่อเพิ่มแสงสว่างภายในสวน

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน นายโกศล สิงหนาท นางสุพิชญา โรงคำ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางขุนเทียน สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา เขตการเดินรถที่ 5 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โรงเรียนนานาชาติเบซิส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี 
#สุขภาพดี 
#เศรษฐกิจดี 
#บริหารจัดการดี