กทม. พร้อมให้ความคุ้มครองเด็ก พัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมสวัสดิภาพเด็ก

วันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2566
image

         กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องด้านการคุ้มครองเด็กและเยาวชนในระดับเขต ให้สามารถช่วยเหลือและคุ้มครองเด็กที่ประสบปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          (15 มี.ค. 66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยมี นายแสนยากร อุ่นศรีเมือง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนสังคม ผู้บริหารสำนักพัฒนสังคม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องประชุมรวงเงิน โรงแรมบางกอกพาเลส เขตราชเทวี 

          สำนักพัฒนาสังคม จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ดังกล่าวขึ้น โดยมุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กและเยาวชนในด้านต่างๆ อาทิ การสร้างพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับเด็ก การสังเกตและการคุ้มครองเด็ก บทบาทของผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองเด็ก การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างพนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก และแนวทางในการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ  ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ทั้งนี้ ได้รับการอนุเคราะห์วิทยากรจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) มูลนิธิวายไอวาย และมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 

         สำหรับผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการวันนี้ ประกอบด้วย ผู้ปฏิบัติงานด้านการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กในระดับเขต ได้แก่ ข้าราชการฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม จากสำนักงานเขต 50 เขตๆ ละ 2 คน จำนวน 100 คน โดยเป็นการประชุมฯ แบบไป - กลับ ระยะเวลา 1 วัน  ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้คำปรึกษา ดูแลด้านสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตเด็กในพื้นที่กรุงเทพฯ  อาทิ การเลี้ยงดูไม่เหมาะสม การถูกทารุณกรรม การถูกละเมิดทางเพศ การถูกทอดทิ้งหรือปล่อยปละละเลย เป็นต้น ได้ยิ่งขึ้น

          ทั้งนี้ เด็กเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า เป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของสังคมที่สังคมต้องให้ความสำคัญ และมีภารกิจรับผิดชอบร่วมกันในการดูแล  ส่งเสริม สนับสนุนให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้าน  เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งให้ความสำคัญในสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญของเด็ก 4 ประการ คือ สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอด สิทธิที่จะได้รับการพัฒนารอบด้าน สิทธิที่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง และสิทธิการมีส่วนร่วม จึงได้มีการตรากฎหมายต่างๆ อาทิ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เพื่อให้ความคุ้มครอง และดูแลคุณภาพและสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน

---------------------------------