ติวเข้มภาคีเครือข่ายด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

วันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2566
image

            สำนักพัฒนาสังคม จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ดึงมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมช่วยเสริมความรู้ผู้ปฏิบัติงาน หวังลดความรุนแรงในครอบครัว   

            (29 มิ.ย. 66) นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กทม. เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2566 โดยมี ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคมและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องชฎา แกรนด์บอลรูม โรงแรม Graph Hotels เขตห้วยขวาง

          สำนักพัฒนาสังคม โดยสำนักงานสวัสดิการสังคม จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2566 ขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมความรู้ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ให้แก่บุคลากรของหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร และผู้แทนชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ข้าราชการสังกัดสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักการศึกษา จำนวน 138 คน ข้าราชการสังกัดสำนักงานเขต จำนวน 50 คน และผู้แทนชุมชนจาก 50 เขต จำนวน 100 คน 

            สำหรับการสัมมนาดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เป็นวิทยากรตลอดการสัมมนาฯ โดยช่วงเช้าเป็นการอภิปราย เรื่อง “การจัดการความรุนแรงในครอบครัวด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมและการบริการที่เป็นมิตร” ส่วนในช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น เรื่อง “แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร”                 

          ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวจากศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี (OSCC) ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ และจากศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดสำนักอนามัย พบว่า สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทำให้เกิดความเครียดและนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัว ดังนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงควรมีบทบาทร่วมกันในการจัดบริการและสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อผู้ประสบปัญหาความรุนแรง เช่น มีบริการที่ผู้ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ให้ความไว้วางใจและมั่นใจในการขอรับความช่วยเหลือหรือรับคำปรึกษาเพื่อลดความเครียด การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นสุรา ยาเสพติด หรืออาวุธปืน รวมทั้งส่งเสริมการเคารพสิทธิและความเท่าเทียมระหว่างกัน เป็นต้น 

----------------------