เสริมสร้างความรู้ด้านการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด

วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2566
image

          (23 มิ.ย. 66) นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพส่งเสริมให้ความรู้ผู้ปฏิบัติงานด้านการฟื้นฟูสภาพทางสังคม และผู้เกี่ยวข้องด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องชฎา แกรนด์บอลรูม โรงแรมบางกอกชฎา เขตห้วยขวาง 

           ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม เปิดเผยว่า สำนักพัฒนาสังคม โดยสำนักงานสวัสดิการสังคม จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพ เสริมสร้างความรู้ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านการฟื้นฟูสภาพทางสังคม และผู้เกี่ยวข้องด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการสำนักงานเขตรับผิดชอบศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 50 เขต ผู้แทนสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักการศึกษา รวมจำนวน 104 คน สำหรับรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เป็นการอภิปราย และแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น ประกอบด้วย 1. การอภิปราย ให้ความรู้เรื่อง การดำเนินงานศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 โดยวิทยากรจาก สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข 2. การแบ่งกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในกระบวนการทำงานของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม เพื่อนำเสนอปัญหาอุปสรรค แนวทางแก้ไข จากนั้นเป็นการนำเสนอผลประชุมกลุ่มย่อย และสรุปผลการประชุม 

          ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ในด้านการบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด ซึ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย 1. ด้านการบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ดำเนินงานโดยสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ และ 2. ด้านการฟื้นฟูสภาพทางสังคม ดำเนินงานโดยสำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขต 50 เขต โดยได้จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมทั้งสิ้น 51 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมเขต (ศฟส.เขต) ซึ่งตั้งอยู่ ณ สำนักงานเขต 50 แห่ง ทำหน้าที่เป็น “ส่วนปฏิบัติการ” และ “ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมกรุงเทพมหานคร” (ศฟส.กทม.) ตั้งอยู่ ณ สำนักพัฒนาสังคม ทำหน้าที่เป็น “หน่วยปฏิบัติงานกลาง” ในการติดตามดูแล ให้คำปรึกษาแนะนำ การปฏิบัติงานของ ศฟส.เขต  ซึ่งการดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมดังกล่าว เป็นไปตามมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ที่กำหนดให้กรุงเทพมหานครจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมขึ้น โดยมีแนวทางการดำเนินงานศูนย์ฯ เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดตั้งและรับรองคุณภาพศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม พ.ศ. 2565 

          สำหรับศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม มีหน้าที่ติดตามดูแล ให้คำปรึกษาแนะนำ ให้ความช่วยเหลือและสงเคราะห์แก่ผู้เข้ารับการบำบัดรักษาเพื่อให้ได้รับการฟื้นฟูสภาพทางสังคม ได้รับบริการด้านสิทธิสวัสดิการสังคม เช่น การเรียน การฝึกอาชีพ การหางาน การสังคมสงเคราะห์ที่จำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งช่วยเหลือสนับสนุนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว เพื่อให้บุคคลดังกล่าวสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้โดยไม่กลับมากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีก  โดยได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน ป.ป.ส. สถานประกอบการ องค์กรชุมชน และภาคประชาชน ตลอดจนหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร เช่น สำนักพัฒนาสังคม สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักการศึกษา และสำนักงานเขต เป็นต้น 

--------------------