กทม.-จุฬาฯ จับมือยกระดับและขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ด้านงานไม้

วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2566
image

       กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาการเรียนรู้งานไม้จากย่านถนนสายไม้บางโพ (ชุมชนประชานฤมิตร) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และสร้างอาชีพ ยกระดับและขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทย 

        (29 ก.ย. 66) ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม ในฐานะผู้แทนกรุงเทพมหานคร กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรายุทธ ทรัพย์สุข คณะบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในฐานะผู้แทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับกรอบการวิจัย “การยกระดับและขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)”ภายใต้แผนงานย่อยรายประเด็น “พัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)” 

        กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมดำเนินโครงการยกระดับและขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทย : การเรียนรู้งานไม้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และสร้างอาชีพ Bangkok’s Learning City Bang Pho’s Creative Woodworking Course (BPCWC) ผ่านโครงการวิจัย “การยกระดับและขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทย ด้านการเรียนรู้งานไม้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และสร้างอาชีพจากย่านถนนสายไม้บางโพ (ชุมชนประชานฤมิตร)” รวมทั้งร่วมสร้างพื้นที่และนิเวศของเมืองแห่งการเรียนรู้ (City Learning Ecology) ซึ่งประกอบด้วย องค์ความรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ พื้นที่การเรียนรู้ และนักจัดการการเรียนรู้ในเมืองด้านงานไม้สร้างสรรค์ ด้วยกลไกของการหารือ ร่วมวางแผน และดําเนินงานให้ถนนสายไม้บางโพที่เป็นหนึ่งใน 20 ย่านสร้างสรรค์ของกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่การเรียนรู้งานไม้สำหรับทุกคนที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับการเป็นแหล่งเรียนรู้

       ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ชอบงานไม้ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า มีความสวยงามตามธรรมชาติ จึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขับเคลื่อนการเรียนรู้งานไม้ย่านถนนสายไม้บางโพ (ชุมชนประชานฤมิตร) ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และสร้างอาชีพดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจเมือง ส่งเสริมอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของคนในย่านต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ย่านถนนสายไม้บางโพซึ่งมีผลิตภัณฑ์ไม้และมีสินค้าอื่นๆ ที่จะสามารถต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ของย่านบางโพได้ในอนาคต อย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญคือการทำให้เกิดความยั่งยืน ดึงดูดผู้คนให้เข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง พัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นเศรษฐกิจเมืองได้ในอนาคต ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม จะร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จัดทำหลักสูตรงานไม้สร้างสรรค์ และจะเปิดการเรียนการสอนในโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครต่อไป

--------------------------------