ระดมความคิดเห็น ขับเคลื่อนการพัฒนาสถาบันครอบครัวในพื้นที่กรุงเทพฯ

วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2566
image

          สำนักพัฒนาสังคม ร่วมกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวกรุงเทพมหานคร มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และภาคเครือข่าย จัดประชุมสมัชชาครอบครัวกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 ในประเด็น “การเคารพสิทธิของบุคคลในครอบครัวกับการลดความรุนแรง” มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาสถาบันครอบครัวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

          (26 ก.ค. 66) นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม เป็นประธานเปิดการประชุมสมัชชาครอบครัวกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 ในประเด็น “การเคารพสิทธิของบุคคลในครอบครัวกับการลดความรุนแรง” โดยมีผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักอนามัย มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องประชุม ชั้น 6 โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (ดินแดง 1)

          สำนักพัฒนาสังคม โดยสำนักงานสวัสดิการสังคม จัดการประชุมสมัชชาครอบครัวกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 ในประเด็นหลัก “การเคารพสิทธิของบุคคลในครอบครัวกับการลดความรุนแรง” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนในกรุงเทพมหานครมีส่วนร่วมในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาสถาบันครอบครัวในพื้นที่กรุงเทพฯ ในด้านการจัดบริการที่เป็นมิตรแก่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในชุมชน ส่งเสริมการเคารพสิทธิความเท่าเทียมของทุกคนในสังคม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายของการจัดประชุมฯ ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 12 คน ผู้แทนภาคประชาชน จำนวน 24 คน อาสาสมัครสาธารณสุข จำนวน 24 คน รูปแบบการจัดประชุมฯ เป็นการบรรยายให้ความรู้ เรื่อง “การเคารพสิทธิของบุคคลในครอบครัวกับการลดความรุนแรง” โดยนางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม จากนั้นเป็นการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นของผู้ร่วมประชุม เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอมติสมัชชาครอบครัวกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 

          ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวจากศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี (OSCC) ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ และจากศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดสำนักอนามัย พบว่า สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทำให้เกิดความเครียดและนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัว ดังนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงควรมีบทบาทร่วมกันในการแก้ไขปัญหา อาทิ  จัดบริการและสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อผู้ประสบปัญหาความรุนแรง เช่น มีบริการที่ผู้ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ให้ความไว้วางใจและมั่นใจในการขอรับความช่วยเหลือหรือรับคำปรึกษาเพื่อลดความเครียด การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นสุรา ยาเสพติด หรืออาวุธปืน รวมทั้งส่งเสริมการเคารพสิทธิและความเท่าเทียมระหว่างกัน เป็นต้น ทั้งนี้ ขอขอบคุณคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวกรุงเทพมหานคร คณะวิทยากรจากมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และผู้ร่วมประชุมทุกท่านที่ให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และร่วมระดมความคิดเห็น เพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนาสถาบันครอบครัวในพื้นที่กรุงเทพมหานครต่อไป

------------------------