กทม. ติดตามงานด้านการยกระดับสวัสดิการและคุณภาพชีวิต เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง

วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2567
image

           (3 ธ.ค. 67) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมระหว่างผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคมกับหัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม 50 สำนักงานเขต ครั้งที่ 2/2567 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเรื่องต่าง ๆ โดยมี นายแสนยากร อุ่นมีศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

           รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การยกระดับสวัสดิการและคุณภาพชีวิต ประกอบด้วย 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1. ส่งเสริมการพัฒนาคนและองค์กรชุมชน 2. ส่งเสริมระบบเงินทุนโอกาส รายได้ อาชีพ และ 3. ส่งเสริมระบบข้อมูล การจัดสวัสดิการ และสร้างกลไกการพึ่งพาตนเอง ซึ่งการดำเนินงานและโครงการต่าง ๆ ของสำนักพัฒนาสังคมและฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมจะเดินหน้าตามแนวทางหลักเหล่านี้ โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตั้งแต่ระดับเส้นเลือดฝอยเพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง

           จากนั้น สำนักพัฒนาสังคมได้รายงานผลการดำเนินงานตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ประชาชน ในปี พ.ศ. 2567 ระหว่างเดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน 2567 ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ กลุ่มเขต กลุ่มเขตละ 6 ครั้ง รวม 36 ครั้ง โดยมียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 18,951,686 บาท ดังนี้ กลุ่มเขตกรุงธนใต้ ยอดรวมกว่า 2.60 ล้านบาท กรุงเทพเหนือ ยอดรวมกว่า 9.99 แสนบาท กรุงเทพกลาง ยอดรวมกว่า 8.17 ล้านบาท กรุงเทพใต้ ยอดรวมกว่า 3.82 ล้านบาท กรุงธนเหนือ ยอดรวมกว่า 1.61 ล้านบาท กรุงเทพตะวันออก ยอดรวมประมาณ 1.74 ล้านบาท

           สำหรับงบประมาณปี พ.ศ. 2568 สำนักพัฒนาสังคมกำหนดจัดโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ประชาชน ในพื้นที่กลุ่มปฏิบัติงานของสำนักงานเขต 6 กลุ่มเขต กลุ่มเขตละ 5 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 30 ครั้ง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2568 เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหามคร (Bangkok Brand) สินค้าและบริการ (Made in Bangkok) สินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าทางการเกษตร สินค้าวิสาหกิจชุมชน สินค้าราคาถูกราคาโรงงาน อาหารอร่อย ของดี 50 เขต สร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการและลดรายจ่ายในการซื้อสินค้าแก่ประชาชน ทั้งนี้ มีมติให้กลุ่มปฏิบัติงานของสำนักงานเขต 6 กลุ่มเขต จัดทำแผนการจัดงาน จัดหาสถานที่ กำหนดวัน เวลา และผู้ประกอบการร่วมจำหน่ายสินค้า กลุ่มเขตละ 5 ครั้ง ครั้งละ 3 วัน ตามความเหมาะสม และส่งข้อมูลให้สำนักพัฒนาสังคมต่อไป

           ต่อมา ได้รายงานเรื่อง โครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว 50 เขต ซึ่งสามารถเบิกจ่ายภายในปีงบประมาณและมีการกันงบประมาณไว้เบิกเหลื่อมปีรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 196,936,496 บาท คิดเป็นร้อยละ 48.87 ของยอดงบประมาณ 403,000,000 บาท ส่วนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้รับงบประมาณ 2,009 ชุมชน เป็นเงิน 401,800,000 บาท โอนงบประมาณให้สำนักงานเขต จำนวน 2,007 ชุมชน เป็นเงิน 401,400,000 บาท (เนื่องจากมีการยุบชุมชนก่อนโอนงบประมาณ) มีชุมชนขอรับงบประมาณ จำนวน 1,806 ชุมชน คิดเป็นร้อยละ 89.98 ซึ่งสามารถเบิกจ่ายภายในปีงบประมาณและมีการกันงบประมาณไว้เบิกเหลื่อมปีรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 56,629,803.70 บาท คิดเป็นร้อยละ 14.11 พร้อมรายงานความคืบหน้าโครงการฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

           ในส่วนของ โครงการ BKK Food Bank ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม สำนักพัฒนาสังคมได้รายงานว่าปัจจุบันได้ดำเนินการทั้ง 50 สำนักงานเขตแล้ว โดยมีรูปแบบการดำเนินการ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 สำนักงานเขตรับ - ส่งต่ออาหารส่วนเกิน (Food Surplus) จากผู้บริจาคสู่ผู้รับในพื้นที่และให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางครอบคลุมทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ซึ่งมีผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 30 พฤศจิกายน 2567 ดังนี้ น้ำหนักอาหารบริจาค จำนวน 295,043.31 กิโลกรัม ปริมาณคาร์บอนที่ลด จำนวน 746,459.57 kgCO2e ได้รับเป็นมื้ออาหาร จำนวน 1,239,181.89 มื้อ และมีผู้รับมอบอาหารส่วนเกิน จำนวน 36,005 คน และรูปแบบที่ 2 การดำเนินการจัดตั้ง BKK Food Bank สำนักงานเขต ซึ่งมีแนวคิดรูปแบบการแบ่งปันและส่งต่ออาหาร สิ่งของจำเป็นต่าง ๆ เครื่องอุปโภค บริโภค (Food Donation) โดยจัดให้มีสถานที่เพื่อจัดเก็บของและส่งต่อให้กับผู้รับ (กลุ่มเป้าหมาย) โดยสำนักงานเขตมีหน้าที่ประเมินและให้แต้มคะแนนกลุ่มเป้าหมาย และให้กลุ่มเป้าหมายนำคะแนนที่ได้รับมาเลือกรับสิ่งของจาก BKK Food Bank สำนักงานเขต ซึ่งมีผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ดังนี้ มีผู้ร่วมแบ่งปันกับ BKK Food Bank สำนักงานเขต จำนวน 900 ราย ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางแล้วทั้งสิ้น 7,656 ราย

           นอกจากนี้ ยังได้รายงานความคืบหน้าเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ โครงการจ้างอาสาสมัครพัฒนาชุมชน กิจกรรมการจัดเก็บข้อมูลแบบสำรวจข้อมูลครัวเรือนในชุมชน (ระดับหลังคาเรือน) รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม Active Leaning ผ่านกิจกรรม playday โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อยู่อาศัยกรุงเทพมหานคร โครงการใช้ รู้เก็บ คนกรุงเทพฯ ชีวิตมั่นคง ซึ่งเป็นการจัดอบรมสัมมนาผู้ปฏิบัติงานด้านการออม เพื่อเพิ่มพูนความรู้และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเจ้าที่ที่ปฏิบัติงานศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัวและแก้ไขปัญหาหนี้สิน โครงการเสริมสร้างความรู้ด้านกองทุนสู่กรรมการชุมชนรุ่นใหม่ โครงการพลเมืองขับเคลื่อนมหานคร ประจำปี 2568 เพื่อให้ความรู้เบื้องคันเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ด้านการพัฒนาชุมชน การเป็นแกนนำในการพัฒนาชุมชน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน ระเบียบ กฎหมายของกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน ตลอดจนการจัดทำแผนพัฒนาชุมชมชน 

           รวมถึงรายงานความคืบหน้าเรื่องการใช้กลไกของคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขต (คคพ.) ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต ความคืบหน้าเรื่องการดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ความคืบหน้าโครงการการบริหารจัดการข้อมูลครัวเรือนยากจนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตลอดจนความคืบหน้าเรื่องการจัดอบรมหลักสูตรพนักงานเจ้าหน้าที่ในโครงการสงเคราะห์เด็ก และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

—————————