กทม. หนุนเกษตรกรกรุงเทพฯ ยกระดับการผลิตสู่มาตรฐาน “Bangkok G” สร้างความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
image

           (28 พ.ย. 67) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมสัมมนาโครงการส่งเสริมมาตรฐานสินค้าด้านการเกษตรของกรุงเทพมหานคร สร้างความเข้าใจในเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรของกรุงเทพมหานคร “Bangkok G” พร้อมมอบใบรับรองมาตรฐาน “Bangkok G” แก่เกษตรกรที่ผลผลิตผ่านเกณฑ์มาตรฐานฯ  โดยมีนางสมฤดี ลันสุชีพ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม นายธงอาจ จันทร์แดง เกษตรกรุงเทพมหานคร  และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ โรงแรมกราฟ เขตห้วยขวาง 

           รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า งานเกี่ยวกับการเกษตรในกรุงเทพฯ ดูแล้วอาจมีไม่มาก แต่ในเขตพื้นที่รอบนอก เช่น หนองจอก หนองแขม มีนบุรี ก็ยังมีการทำการเกษตรอยู่ และในเขตเมืองก็มีเกษตรที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน ปี 2567 ที่ผ่านมาเราพยายามจะสร้างมาตรฐานในเรื่องการเกษตร เช่น ดูเรื่องที่ดิน การตรวจสารเคมี เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ คือ ช่องทางการขาย ทางกรุงเทพมหานครจะมีโครงการที่จะร่วมมือกับห้างสรรพสินค้นหรือตลาดที่เปิดทุกวัน ในการเปิดเชลฟ์วางสินค้า Bangkok G ให้แก่ผู้ที่ผ่านมาตรฐานสามารถวางขายสินค้าได้ เบื้องต้นจะมีประมาณ 10 แห่ง นอกจากนี้ยังมีตลาดเกษตรกร Farmer Market ในสวนสาธารณะทั้งหมด 7 แห่ง ที่จัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์อีกด้วย โดยวันนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้ และสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อสร้างผลิตผลทางการเกษตรที่มีคุณภาพต่อไป

           สำนักพัฒนาสังคม จัดการอบรมตามโครงการส่งเสริมมาตรฐานสินค้าด้านการเกษตรของกรุงเทพมหานคร สร้างความเข้าใจในเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกร ประชาชน และชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานตรงตามข้อกำหนดการรับรองมาตรฐานสินค้าการเกษตรของกรุงเทพมหานคร “Bangkok G” ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าทางการเกษตรของเกษตรกรชาวกรุงเทพฯ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยกำหนดจัดอบรมฯ ให้แก่เกษตรกร ประชาชน เจ้าหน้าที่ส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรสำนักงานเขต 50 เขต และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 90 คน 

           สำหรับมาตรฐานสินค้าการเกษตรของกรุงเทพมหานคร “Bangkok G” เป็นการตรวจเข้ม 8 หัวข้อ ตั้งแต่แหล่งน้ำ แหล่งดิน รวมถึงการเก็บเกี่ยว ประกอบด้วย 1.น้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกต้องเป็นน้ำที่สะอาดปลอดภัยจากสารเคมี ต้องไม่ใช้น้ำจากโรงงานหรือโรงพยาบาลโดยเด็ดขาด และต้องมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอ  2.แหล่งดินหรือพื้นที่ปลูก ต้องปลอดภัยจากการปนเปื้อนของสารอันตราย มีการจัดทำประวัติการใช้ที่ดิน และมีการปรับปรุงบำรุงดินอย่างสม่ำเสมอ 3.วัตถุอันตรายหรือสารเคมีทางการเกษตร ต้องใช้อย่างถูกต้องตามคำแนะนำ ห้ามใช้สารต้องห้าม และต้องมีการจัดเก็บอย่างปลอดภัย  4.การจัดการคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรก่อนการเก็บเกี่ยว ต้องมีการวางแผนการผลิตที่ดี ไม่ใช้สิ่งปฏิกูลจากมนุษย์เป็นปุ๋ย และต้องดูแลรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์ให้สะอาดอยู่เสมอ  5.หลังการเก็บเกี่ยว ต้องคัดแยก และบรรจุผลผลิตอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการปนเปื้อน  6.การพักผลผลิต การขนย้าย และการเก็บรักษา ดำเนินการอย่างระมัดระวังและรักษาความสะอาด สถานที่พักและเก็บรักษาผลผลิตต้องสะอาด 7.เกษตรกรและผู้ปฏิบัติงานต้องมีสุขลักษณะส่วนบุคคล รักษาความสะอาด แต่งกายให้รัดกุม  และ 8.ต้องบันทึกข้อมูลทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

------------------------