วิสัยทัศน์เขตสาทร
 

 

สาทรพัฒนา          สู่เศรษฐกิจใหม่

ใส่ใจสิ่งแวดล้อม     พร้อมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม

 

 New Developing Sathon to Glorious Business, 

Protective Environment, Arts and Culture.
 คำขวัญเขตสาทร
 

 

สำเภาทองล้ำค่า
สุสานสวนป่าร่มเย็น
เน้นนโยบายเมืองน่าอยู่
สถาบันให้ความรู้มากมี
จุดรวมสถานที่แหล่งทูต

 

 

 พันธกิจ

 


1.   การสนับสนุนการดำเนินงานภาคธุรกิจ และส่งเสริมการสร้างงาน ให้ประชาชน ชุมชน เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้  

2.   การสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรให้กับเมือง โดยเปิดโอกาสให้ภาครัฐ เอกชน และประชาชนเขามามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาท้องถิ่น  

3.   การอนุรักษ์ ส่งเสริม สืบสาน ศิลปวัฒนธรรมไทย
 ประวัติความเป็นมา

 


 

     

      



          ประเทศไทยได้ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินเป็นแบบประเทศตะวันตกเมื่อ พ.ศ. 2435 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสถาปนาการปกครองส่วนกลางขึ้นเป็นกระทรวงต่างๆ และยกฐานะ กรมพระนครบาล ขึ้นเป็น กระทรวงนครบาล ทำหน้าที่ปกครองราชธานีและพื้นที่มณฑลกรุงเทพมหานคร ต่อมาในช่วงปลายรัชกาลได้แบ่งการปกครองออกเป็นอำเภอชั้นใน 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระนคร อำเภอสามเพ็ง อำเภอบางรัก อำเภอปทุมวัน อำเภอดุสิต อำเภอบางกอกน้อย อำเภอบางกอกใหญ่ และอำเภอบางลำภูล่าง และอำเภอชั้นนอก 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางซื่อ อำเภอบางเขน อำเภอบางกะปิ อำเภอบางขุนเทียน อำเภอราษฎร์บูรณะ อำเภอตลิ่งชัน อำเภอภาษีเจริญ และอำเภอหนองแขม โดยพื้นที่ปัจจุบันของเขตสาทรในครั้งนั้นขึ้นกับอำเภอบ้านทะวาย เมืองนครเขื่อนขันธ์ ต่อมาได้รับการจัดตั้งเป็นจังหวัดพระประแดงในภายหลัง

          ครั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประกาศขยายมณฑลกรุงเทพมหานครออกไป และแบ่งเขตออกเป็นจังหวัดต่างๆ ได้แก่ จังหวัดพระนคร จังหวัดธนบุรี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดมีนบุรี จังหวัดพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และได้โปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงนครบาล ออก “ประกาศยกเลิกอำเภอชั้นใน 7 อำเภอ และตั้งขึ้นใหม่ 25 อำเภอ” เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2548 ในการจัดตั้งอำเภอใหม่ในครั้งนี้ ได้ยกเอาอำเภอบ้านทะวาย ซึ่งแต่ก่อนอยู่ในเขตจังหวัดพระประแดง มาจัดตั้งเป็นอำเภอบ้านทะวาย จังหวัดพระนคร ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังเปลี่ยนชื่อ อำเภอบ้านทะวาย เป็น อำเภอยานนาวา ตามชื่อวัดยานนาวา ซึ่งเป็นอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอยานนาวา ต่อมามีประกาศคณะปฏิวัติให้อำเภอยานนาวามีฐานะเป็นเขตยานนาวา และเปลี่ยนเป็นสำนักงานเขตยานนาวา ตามลำดับ

          พื้นที่การปกครองของสำนักงานเขตยานนาวามีอาณาเขตกว้างขวางมาก และมีประชากรอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น ท้องที่บางแขวงอยู่ห่างไกลจากสำนักงานเขต ทำให้การบริหารการปกครองและการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนไม่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับกรุงเทพมหานครมีนโยบายตั้งสำนักงานเขตเพิ่มขึ้น ดังนั้น สำนักงานเขตยานนาวา จึงแบ่งพื้นที่ตั้งเป็นสำนักงานยานนาวา สาขา 1 จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2532 โดยมีพื้นที่ปกครอง ประกอบด้วย แขวงยานนาวา แขวงทุ่งวัดดอน แขวงทุ่งมหาเมฆ เนื้อที่ประมาณ 9.326 ตารางกิโลเมตร ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ให้เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตยานนาวา ตั้งเป็น เขตยานนาวา เขตสาธร และเขตบางคอแหลม เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2532 สำนักงานเขตยานนาวา สาขา 1 จึงเปลี่ยนเป็น “สำนักงานเขตสาธร” สถานที่ตั้งเดิมอยู่ที่อาคารสำนักงานเขตยานนาวา ปลายถนนสาธรใต้ ติดกับถนนเจริญกรุง สภาพคับแคบ เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ไม่สะดวกแก่ประชาชนและข้าราชการลูกจ้างที่เพิ่มมากขึ้น จึงได้ซื้อที่ดินบริเวณซอยแยกเซ็นต์หลุยส์ 3 เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 8 ตาราวา ทำการก่อสร้างอาคารคอนกรีตสูง 10 ชั้น พื้นที่อาคาร 11,346 ตารางเมตร งบประมาณก่อสร้าง 127,890,000 บาท ปีงบประมาณ 2533-2535 เปิดทำการวันที่ 2 มิถุนายน 2537 ตั้งเป็นอาคารสำนักงานถาวร โดยย้ายมาเปิดบริการประชาชน ณ อาคารแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2536

ที่มาของชื่อ “สาธร” และ “สาทร” 
          คำว่า “สาทร” ได้มาจากชื่อคลองสาทร และถนนสาทร ซึ่งมีที่มา คือ เมื่อปีพุทธศักราช 2438 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการค้าข้าวของประเทศรุ่งเรืองมาก มีชาวจีนและฝรั่งเข้ามาค้าขายมากขึ้น แต่การคมนาคมขนส่งมีความยากลำบาก ทางราชการต้องการพัฒนาที่ดินและขุดคลองเป็นจำนวนมาก จึงเชิญชวนเอกชนทำการขุดคลอง โดยจะยกสิทธิ์ในที่ดินสองฟากคลองเป็นการตอบแทน ต่อมา คหบดีชื่อ เจ๊สัวยม ได้จัดตั้ง บริษัทขุดคลองและคูนาสยาม และได้กว้านซื้อที่ดินระหว่างถนนสีลมกับบ้านทวายแล้วให้ขุดคลองผ่านที่ดิน จากนั้นนำดินที่ขุดได้มาถมเป็นถนนสองฝั่งคลอง โดยจ้างกรรมกรจีนทำการขุดคลองขนาดใหญ่ผ่านที่ดินจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกไปบรรจบกับคลองถนนตรง (คลองวัดหัวลำโพง) คลองที่ขุดขึ้นนั้น ชาวบ้านเรียกชื่อตามนามของผู้ขุดว่า “คลองเจ๊สัวยม” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เรียก “คลองนายยม” และได้นำดินที่ขุดมาถมเป็นถนนทั้ง 2 ฝั่งคลองด้วย ภายหลังเจ๊สัวยมได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสาทรราชายุตก์” ราษฎรพากันเรียกคลองขุดใหม่นี้ว่า “คลองสาทรราชายุตก์” ต่อมา จึงเหลือสั้นลงเป็น “คลองสาทร” ส่วนดินที่ได้จากขุดคลองนำมาถมสองฟาก และตัดเป็นถนนสาทรเหนือและถนนสาทรใต้ในภายหลัง

ทำไม ? "สาธร"  ใช้  ธ ธง  จึงเป็น  “สาทร”  ใช้  ท ทหาร 
          สืบเนื่องคำว่า “สาธร” ซึ่งเป็นชื่อ สำนักงานเขตสาธร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยไม่มีประวัติความเป็นมาและไม่มีความหมายคำแปลในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2535 แต่คำว่า “สาทร” นั้น จากการตรวจสอบเอกสารสมัยรัชกาลที่ 5 พบว่า ใช้ทั้ง “สาทร” และ “สาธร” ราชบัณฑิตสถานได้ตรวจสอบแล้วพบว่า นามศักดิ์ของขุนนางที่มีคำว่า “สาทร” นำหน้า มักใช้ว่า “สาทร” แต่ก็มีการใช้คำว่า “สาธร” ด้วย และเมื่อตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับบรรดาศักดิ์ หลวงสาทรราชายุตก์ ในเอกสารชั้นต้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เกี่ยวข้องกับ หลวงสาทรราชายุตก์ (ยม) ก็ใช้ทั้ง หลวงสาทรราชายุตก์ และ หลวงสาธรราชายุตก์ แต่เอกสารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนชื่อ ถนนสาทร ว่า “สาทร” และปรากฏในลายพระราชหัตถเลขาพระราชทานนามสกุลแก่ นายเสถียรรักษา หรือ หมื่นอินทรประภาษ (หลี) ปลัดวังซ้าย เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 ว่า “สาทรานนท์” โดยทรงหมายเหตุไว้ว่า พระเสถียรรักษา มีปู่ชื่อ “พระสาทรราชายุตก์ (เผง)” ซึ่งเป็นเหตุผลที่พระราชทานนามสกุลแก่ผู้สืบสายตระกูลว่า “สาทรานนท์” ต่อมาเมื่อการเขียนภาษาไทยได้มีการเขียนผิดเพี้ยนไปเป็น “สาธร” ซึ่งเป็นการเขียนชื่อคลอง และถนนสาทรผิดไปจากความเป็นมาในอดีต เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า การเขียนชื่อ เขตสาธร คลองสาธร และถนนสาธรเหนือ-ใต้ ไม่ถูกต้องตามประวัติความเป็นมาของคลองและถนน ดังนั้น ราชบัณฑิตสถานจึงแจ้งกรุงเทพมหานครว่า ควรใช้ “สาทร” เพื่อเป็นเกียรติแก่ หลวงสาทรราชายุตก์ กรุงเทพมหานครจึงได้เสนอกระทรวงมหาดไทย โดยคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 2 เปลี่ยนแปลงชื่อ “เขตสาธร” เป็น “เขตสาทร” รวมทั้งชื่อถนน คลอง และสะพาน ตั้งแต่ พ.ศ. 2541 ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คำว่า “สาธร” ไม่มีความหมายและคำแปลตามหลักภาษาไทย ส่วนคำว่า “สาทร” มีความหมายและคำแปลว่า “เอื้อเฟื้อ เอาใจใส่” ตามหลักภาษาไทยในพจนานุกรม และเป็นคำที่มาจากบรรดาศักดิ์ของ หลวงสาทรราชายุกต์ (เจ๊สัวยม) ซึ่งตามประวัติอักขรานุกรมขุนนางในสมัยรัชการที่ 5 จะใช้ ท ทหาร ทั้งหมด เมื่อเขตสาธรจัดตั้งขึ้น และใช้ชื่อคลองและถนนสาธรเป็นชื่อสำนักงานเขตสาธร จึงเป็นการเขียนไม่ตรงกับที่มาชื่อบรรดาศักดิ์และหลักภาษาไทย กระทรวงมหาดไทยจึงได้ ประกาศลงวันที่ 23 เมษายน 2542 เปลี่ยนแปลงชื่อ “เขตสาธร” เป็น “เขตสาทร” ตามหลักฐานดังกล่าว ดังนั้น ชื่อ สำนักงานเขตสาทร ต้องใช้ ท ทหาร และถนนสาทรเหนือ - ใต้ ตลอดจนซอยแยกจากถนนสาทรต้องเขียนป้ายชื่อเป็น ท ทหาร ทั้งหมด ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 116 ตอนพิเศษ 35 ง. ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2542 เป็นต้นไป “สาธร” เป็น “สาทร” ที่ถูกต้องตามหลักฐานประวัติศาสตร์ความเป็นมาแต่อดีตและถูกต้องตามหลักภาษาไทย ซึ่งจะเป็นสำนักงานเขตสาทรที่ “เอื้อเฟื้อ เอาใจใส่ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ราษฎรในพื้นที่ตามอำนาจหน้าที่สืบไป  

สภาพพื้นที่และประชากร 

 

                                                                                                             ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 6 มี.ค. 58

 


เขตสาทร   มีพื้นที่  9.326  ตารางกิโลเมตร

เขตสาทร  ประกอบด้วย 3 แขวง คือ

1.  แขวงทุ่งวัดดอน      3.343   ตารางกิโลเมตร

2.  แขวงยานนาวา       2.464   ตารางกิโลเมตร

3.  แขวงทุ่งมหาเมฆ     3.519  ตารางกิโลเมตร

                เขตสาทร อยู่ในพื้นที่กลุ่มกรุงเทพใต้  พื้นที่เดิมเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเกษตร  มีการทำสวนพืชผักผลไม้ แต่สภาพปัจจุบันได้กลายเป็น ชุมชนหนาแน่น  เป็นศูนย์กลางย่านธุรกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพธุรกิจ ค้าขายและรับจ้างทั่วไป

 พื้นที่เขตสาทรติดต่อกับหลายเขตและติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาบางส่วน 

โดยเริ่มจาก



ทิศเหนือ จรดเขตบางรัก โดยมีแนวคลองสาทรเป็นแนวแบ่งเขต

ทิศใต้ จรดเขตยานนาวา และเขตบางคอแหลม ส่วนใหญ่จะใช้แนวถนนจันทน์เป็นแนวแบ่งเขต

ทิศตะวันออก จรดเขตปทุมวัน และเขตคลองเตย โดยมีแนวถนนพระราม 4 และถนนเชื้อเพลิง เป็นแนวแบ่งเขต

ทิศตะวันตก จดแม่น้ำเจ้าพระยา

            การแบ่งพื้นที่เขตรายละเอียดปรากฏตามแผนที่ แต่เดิมใช้แนวคลองลำรางสารธารณะ ลำปะโดงเป็นแนวแบ่งเขต ทำให้สภาพพื้นที่ไม่สามารถแยกแยะพื้นที่ได้ชัดเจน และไม่เหมาะสมกับการบริหารงาน การให้บริการประชาชน ตลอดจนบางครั้งอาจเป็นเหตุให้ มีข้อโต้แย้งในเรื่องพื้นที่แนวเขตได้ ทางกรุงเทพมหานครจึงได้มีการ พิจารณาที่จะแบ่งพื้นที่เขตใหม่ โดยยึดหลักเรขาคณิต คือ ใช้แนวถนน ซอย เป็นแนวแบ่งเขต จะทำให้ประชาชน สามารถแยกแยะพื้นที่ได้งานและชัดเจน เขตสาทรมีการคมนาคม ติดต่อกับพื้นที่เขตอื่นได้สะดวก เพราะมีถนนสายหลัก สายรอง และระบบทางด่วนพาดผ่าน ทำให้ประชาชนสัญจรไปมาได้สะดวก  ถนนสายหลัก และสายรองประกอบด้วย ถนนสาทร ถนนพระราม 4 ถนนเจริญกรุง ถนนจันทน์ ถนนเซนต์หลุยส์ 3 (สาทร 11)  ถนนนางลิ้นจี่ ถนนสาธุประดิษฐ์ ถนนเย็นอากาศ ถนนสวนพลู และซอยงามดูพลี เป็นต้น

            ต่อมาได้มีการตัดถนนผ่านอีกหลายสาย ได้แก่ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ถนนเลียบคลองช่องนนทรี) ตัดจากถนนสุริวงศ์ ผ่านถนนสีลม ถนนสาทร ถนนจันทน์ ไปออกถนนพระราม 3 อีกสาย คือ ถนนเจริญราษฎร์ (ถนนสายเหนือ-ใต้) จากถนนสาทรใต้ผ่านใต้ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนบี ผ่านถนนจันทน์ ไปออกถนนพระราม 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่เขตสาทรยังมีระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนบี พาดผ่านมีทางขึ้นทางลงที่ด่านถนนจันทน์ ด่านถนนสาทร และนอกจากนี้ มีเส้นทางของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) จากสถานีสะพานตากสิน (สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน) วิ่งขนานไปกับถนนสาทร เลี้ยวซ้ายตามถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ไปยังสถานีช่องนนทรี และเลี้ยวขวาเข้าถนนสีลม ไปยังสถานีสีลม ฉะนั้น จากเดิมที่เขตสาทร ได้มีปัญหาการจราจรติดขัด จึงมีความสะดวก และคล่องตัวในการเดินทางสัญจรมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีท่าเรือสาทร (อยู่ใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน) ซึ่งเป็นศูนย์การคมนาคมทางเรือที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร

ข้อมูลสำนักงานเขตสาทร

พื้นที่เขต จำนวน 9.326 ตารางกิโลเมตร

 

ประชากร