ประวัติความเป็นมา

          สำหรับการจัดตั้งสำนักงานเขตสะพานสูงนั้น มีประวัติความเป็นมาตามลำดับดังนี้
         “สะพานสูง” เป็นชื่อของแขวงแขวงหนึ่ง เดิมอยู่ในพื้นที่การปกครองเขตบางกะปิ ซึ่งขณะนั้นเขตบางกะปิได้แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 8 แขวง ได้แก่ แขวงคลองจั่น แขวงหัวหมาก แขวงวังทองหลาง แขวงลาดพร้าว แขวงจระเข้บัว แขวงคลองกุ่ม แขวงสะพานสูง และแขวงคันนายาว ต่อมาเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2532 มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่การปกครองและจัดตั้งสำนักงานเขตใหม่ขึ้นอีก 4 สำนักงานเขต ได้แก่ สำนักงานเขตดอนเมือง สำนักงานเขตจตุจักร สำนักงานเขตลาดพร้าว การปกครองของเขตบางกะปิ และได้แยกแขวงคลองกุ่ม แขวงสะพานสูง และแขวงคันนายาว ไปขึ้นกับเขตบึงกุ่ม และแยกแขวงลาดพร้าวกับแขวงจระเข้บัวไปขึ้นอยู่กับเขตลาดพร้าว
         ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2540 ให้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตการปกครองและจัดตั้งสำนักงานเขตใหม่เพิ่มขึ้นอีก 6 สำนักงานเขต ได้แก่ สำนักงานเขตคลองสามวา สำนักงานเขตคันนายาว สำนักงานเขตวังทองหลาง สำนักงานเขตสะพานสูง สำนักงานเขตสายไหม และสำนักงานเขตหลักสี่ โดยเขตบางกะปินั้นได้แยกแขวงวังวังทองหลางออกมา และจัดตั้งเป็นสำนักงานเขตวังทองหลาง สำนักงานเขตบึงกุ่ม ได้แยกแขวงคันนายาวออกมาจัดตั้งเป็นสำนักงานเขตคันนายาว และแยกแขวงสะพานสูงออกมาจัดตั้งเป็นสำนักงานเขตสะพานสูงเช่นกัน โดยทั้ง 6 สำนักงานเขตใหม่นี้ได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นมา สำหรับสำนักงานเขตสะพานสูงนั้นได้นำพื้นที่ของแขวงสะพานสูง เขตบึงกุ่ม และพื้นที่บางส่วนของแขวงประเวศ เขตประเวศ มารวมกัน

ที่มาของคำว่า “สะพานสูง”
          คำว่า “สะพานสูง” เป็นชื่อของท้องถิ่นดั้งเดิมซึ่งมีลำคลองมากมาย คลองใหญ่ ๆ ที่ใช้สัญจรมาช้านาน และมีชื่อเสียงมากคือ คลองแสนแสบ คลองบ้านม้า คลองลาดบัวขาว คลองแม่จันทร์ และคลองวังใหญ่ เป็นต้น การสัญจรใช้ทางน้ำเป็นหลักมาตั้งแต่โบราณจึงจำเป็นต้องสร้างสะพานสูง ซึ่งเป็นลักษณะที่มีอยู่โดยทั่วไป ในพื้นที่ให้เรือน้อยใหญ่ลอดผ่านใต้สะพานได้สะดวก รวมถึงประชาชนสามารถใช้สะพานเดิมข้ามคลองไปมาหาสู่กัน ได้ทั้งสองฝั่งคลองอีกทางหนึ่งด้วยเหตุผลนี้เอง จึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นที่มาของคำว่า “สะพานสูง”



คำขวัญเขตสะพานสูง
 

“หลวงพ่อทองคู่เมือง เลื่องลือมัสยิด ร่วมจิตสามัคคี นกเขาชวาเสียงดี เขียวขจีสวนเกษตร"

 

สัญลักษณ์ของสำนักงานเขตสะพานสูง
 
ความหมายของสัญลักษณ์

 

๑. พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณบนก้อนเมฆแบบด้านตรง เป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานครซึ่งได้จำลองจากภาพฝีพระหัตถ์ของพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ซึ่งได้ทรงเขียนทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษาของพระองค์ โดยพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ได้ให้ความหมายแก่ภาพฝีพระหัตถ์นี้ว่า หมายถึง การบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ปวงประชาและทายาทของพระองค์ท่านได้ทรงอนุมัติให้กรุงเทพมหานครจำลองภาพไปเป็นเครื่องหมาย เพื่อให้สมเกียรติกับความหมายที่พระองค์ท่านได้ประทานไว้แต่ก่อน และกรุงเทพมหานครได้ใช้ภาพนี้เป็นเครื่องหมายต้นแบบตราเครื่องหมายของกรุงเทพมหานคร
๒. สะพาน เป็นเอกลักษณ์ของเขตสะพานสูง ซึ่งมีลำคลองมากมายการสัญจรใช้ทางน้ำเป็นหลัก  จึงจำเป็นต้องสร้างสะพานทรงสูงเข้าไว้ เพื่อให้เรือน้อยใหญ่ลอดผ่านใต้สะพานได้สะดวก รวมถึงประชาชนสามารถใช้สะพานเดินข้ามคลองไปมาหาสู่กันได้ทั้งสองฝั่งคลองอีกทางหนึ่ง  
๓. น้ำ หมายถึง เขตสะพานสูงเป็นเขตที่มีคลองมากมาย และประชาชนมีความผูกพันกับคลอง
๔. ดอกไม้  หมายถึง ความเป็นธรรมชาติ และความร่มรื่น
๕. สีเขียว  หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่ดี ปราศจากมลพิษ
๖. สีส้ม  หมายถึงเป็นสีประจำสำนักงานเขตสะพานสูง