การให้บริการของฝ่ายรายได้
1. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน   ติต่อสอบถาม  คุณวรัตน์ทอร  รังสิยวงศ์  โทร 02-326-9148  หรือ 089-1993765
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน คือ ภาษีที่จัดเก็บจากโรงเรือนที่ให้เช่า ที่ใช้ประกอบกิจการค้าและให้ผู้อื่นอยู่อาศัย
ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี 
ประเภททรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี ได้แก่ อาคาร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง รวมถึงบริเวณที่ต่อเนื่อง โดยเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกหาผลประโยชน์ตอบแทนหรือให้ผู้อื่นนำไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ เช่น ให้เช่า , ใช้เป็นที่ค้าขาย , ใช้ประกอบอุตสาหกรรม รวมทั้งให้ญาติหรือผู้อื่นอยู่อาศัย หรือใช้ประกอบกิจการอื่น ๆ เพื่อหารายได้

ทรัพย์สินแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ 
(๑) โรงเรือน อาคาร สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ
โรงเรือน หมายถึง เช่น บ้าน ตึกแถว ร้านค้า สำนักงาน ธนาคาร โรงแรม โรงภาพยนตร์ โรงเรียน โรงพยาบาล สนามมวย อพาร์ทเมนต์ คลังสินค้า 
สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ เช่น ท่าเรือ สะพาน ถังเก็บน้ำมัน อ่างเก็บน้ำ คานเรือ ฯลฯ ซึ่งลักษณะการก่อสร้างติดกับที่ดินและสามารถสร้างรายได้ให้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้
(๒) ที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือน อาคาร สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ
หมายความว่า เป็นที่ดินที่ใช้ปลูกสร้างโรงเรือน อาคาร สิ่งปลูกสร้างมีที่ดินต่อเนื่องกัน ซึ่งตามปกติใช้ประโยชน์ไปด้วยกันกับโรงเรือน อาคารและสิ่งปลูกสร้างนั้น
ผู้มีหน้าที่เสียภาษี 
ผู้มีหน้าที่เสียภาษี คือ “ผู้รับประเมิน” หมายถึง เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี เว้นแต่ ถ้าที่ดินและอาคารโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นคนละเจ้าของให้เจ้าของกรรมสิทธิ์อาคาร โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี
ฐานภาษี
ฐานภาษี คือ ค่ารายปีของทรัพย์สิน หมายถึง จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่า และค่าเช่านั้นเป็นจำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ ให้ถือค่าเช่านั้นเป็นค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่ไม่มีค่าเช่าเนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง หรือด้วยเหตุอื่น ๆ ให้พิจารณากำหนดค่ารายปีโดยเทียบเคียงกับค่ารายปีของทรัพย์สินที่ให้เช่าที่มีลักษณะ ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะ ซึ่งทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกัน
กรณีมีเงินอื่นใดที่ต้องนำมาคำนวณภาษีด้วย เช่น ค่าแป๊ะเจี๊ยะ เงินช่วยค่าก่อสร้าง เงินค่าเบี้ยประกันภัย ค่าภาษีที่ผู้เช่าจ่ายแทนผู้ให้เช่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นเงินที่ต้องจ่ายไปเพื่อให้ได้เช่าทรัพย์สิน ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าด้วย
ขั้นตอนการยื่นเสียภาษี
การยื่นแบบพิมพ์ การยื่นแบบพิมพ์ใหม่ทุกชนิด จะนำส่งด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปส่งแทนหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้ ทั้งนี้ให้ผู้รับประเมินกรอกรายการให้ถูกต้องครบถ้วน ตามความเป็นจริง และรับรองความถูกต้องของเอกสารและข้อความดังกล่าว พร้อมลง วัน เดือน ปี และลายมือชื่อกำกับไว้ หากมีเอกสารอื่นใดที่จำเป็นต้องยื่นประกอบการพิจารณา ให้นำส่งพร้อมกันในคราวเดียวกัน
การส่งแบบพิมพ์ จะนำส่งด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปส่งแทนหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ (ให้ถือวันที่ส่งทางไปรษณีย์เป็นวันที่ยื่นแบบพิมพ์)
เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการยื่นแบบ (กรณีรายใหม่)
พร้อมสำเนาหลักฐานและลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อง ได้แก่
๑. บัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน
๒. หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์โรงเรือนและที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน , ใบอนุญาตปลูกสร้าง , หนังสือสัญญาซื้อขาย หรือให้โรงเรือนฯ
๓. หลักฐานการประกอบกิจการ เช่น ใบทะเบียนการค้า , ทะเบียนพาณิชย์ ,ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือใบอนุญาตประกอบกิจการค้าของฝ่ายสิ่งแวดล้อม ,สัญญาเช่าอาคาร 
๔. หนังสือรับรองนิติบุคคล และงบแสดงฐานะการเงิน (กรณีนิติบุคคล) 
๕. ใบมอบอำนาจกรณีให้ผู้อื่นทำการแทน 
๖. อื่น ๆ
กำหนดระยะเวลาให้ยื่นแบบแสดงรายการ 
ให้ผู้รับประเมิน (เจ้าของทรัพย์สิน) ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.๒) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
สถานที่ยื่นแบบ 
๑. ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ 
๒. กองรายได้ สำนักการคลัง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร กรณีที่มีทรัพย์สินตั้งอยู่หลายพื้นที่เขต
การชำระภาษี 
ให้ชำระเงินภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับใบแจ้งการประเมิน (ภ.ร.ด.๘) โดยชำระที่ 
๑. ฝ่ายการคลัง สำนักงานเขตทุกเขต 
๒. กองการเงินสำนักการคลัง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) 
๓. เคาน์เตอร์ของธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ
ขั้นตอนการยื่นแบบชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน 
๑. การยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.๒) ประชาชน บริษัท ห้างหุ้นส่วน ร้านค้า หรือผู้มีหน้าที่ที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินจากการใช้ประโยชน์ของโรงเรือนจะต้องมาขอกรอกแบบแสดงรายการเสียภาษีต่อเจ้าพนักงานประเมิน ณ ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขต ที่โรงเรือนตั้งอยู่ โดยจะต้องยื่นแบบเพื่อขอประเมินภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ และนำหลักฐานเอกสารประกอบ 
๒. การรับแบบยื่น ภ.ร.ด.๒ เจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานเขต รับแบบยื่น ภ.ร.ด.๒ จากประชาชน ทำการตรวจสอบหลักฐานทั้งหมด
๓. การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน เมื่อเจ้าหน้าที่รับแบบยื่น ภ.ร.ด.๒ จากประชาชนแล้ว จะต้องไปทำการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ตามสถานที่จริงของโรงเรือนที่ได้มีการแจ้งไว้ จากนั้นก็ทำการกำหนดค่ารายปี ยอดเงินหักลด เพื่อทำการคำนวณค่าภาษี 
๔. การแจ้งการประเมินภาษี 
เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการประเมินค่าภาษีเสร็จเรียบร้อยแล้วจะออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษี (ภ.ร.ด.๘) ให้ประชาชนทราบ 
๕. การชำระเงินค่าภาษี 
สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้ 
๕.๑ การชำระค่าภาษีทั้งหมดในระยะเวลาที่กำหนด 
เมื่อประชาชนรับหนังสือแจ้งการประเมินแล้ว จะต้องชำระเงินที่ฝ่ายการคลัง สำนักงานเขต หรือชำระที่กองการเงิน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) นับถัดจากวันรับหนังสือแจ้งการประเมินไม่เกิน ๓๐ วัน โดยสามารถชำระเงินค่าภาษีทั้งหมดด้วยเงินสด เช็ค หรือธนาณัติ โดยวันที่จ่ายเช็ค วันที่โอนเงินทางธนาณัติจะถือเป็นวันชำระเงิน โดยไม่มีการคิดเงินเพิ่ม 
๕.๒ การชำระค่าภาษีผ่านธนาคารกรุงไทย 
๑. เจ้าพนักงานแจ้งประเมินค่าภาษีและออกใบแจ้งหนี้ค่าภาษีให้ผู้เสียภาษี 
๒. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีรับแจ้งยอดค่าภาษี (ภ.ร.ด.๘) พร้อมใบแจ้งหนี้ค่าภาษี 
๓. นำใบแจ้งหนี้ค่าภาษีไปติดต่อชำระเงินที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ รอรับใบเสร็จเก็บไว้เป็นหลักฐาน 
๕.๓ การชำระภาษีผ่านตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย
สำหรับตู้ ATM ที่มีช่องอ่านบาร์โค๊ด สำหรับตู้ ATM ธรรมดา
๑. เลือกช่องบริการอื่น ๆ 
๒. เลือกประเภทบริการชำระด้วยบาร์โค๊ด 
๓. สแกนใบนำชำระภาษี 
๔. ดำเนินการตามขั้นตอนที่ตู้ ATMระบุ
๑. เลือกชำระค่าบริการ
๒. ใส่รหัสของกรุงเทพมหานคร ๙๒๙๙ 
๓. ดำเนินการตามขั้นตอนที่ตู้ ATMระบุ
 
๕.๔. การชำระภาษีผ่านทาง Internet
๑ สมัคร KTB Online กรณีบุคคลธรรมดา และ KTB Corporate Onlineกรณีนิติบุคคลที่ www.ktb.co.th
๒ ลงทะเบียนใช้บริการกรุงเทพมหานครที่ http://epay.bangkok.go.th เพื่อขอ Username และ Password
๓ เลือกชำระเงินผ่านธนาคารกรุงไทยออนไลน์ และใส่ Username / Password ของธนาคารกรุงไทยที่สมัครไว้ แล้วเลือกบัญชีที่ประสงค์จะให้หักเงิน
หมายเหตุ.- 
เฉพาะการชำระภาษีประจำปีภายในกำหนดเวลา/ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมการชำระภาษีรายการละ ๑๐ บาท

2. ภาษีป้าย   ติต่อสอบถาม  คุณวรัตน์ทอร  รังสิยวงศ์  โทร 02-326-9148  หรือ 089-1993765
ภาษีป้าย คือ ภาษีที่จัดเก็บจากป้ายโฆษณาสินค้าต่าง
ป้ายที่ต้องเสียภาษี 
ได้แก่ ป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมาย ที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่น เพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้าหรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะได้แสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใด ๆ ด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น
ผู้มีหน้าที่เสียภาษี 
เจ้าของป้าย แต่ในกรณีไม่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.๑) สำหรับป้ายใด เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่อาจหาตัวเจ้าของป้ายนั้นได้ให้ถือว่า ผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย ถ้าไม่อาจหาตัวผู้ครอบครองป้ายนั้นได้ให้ถือว่าเจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคาร หรือที่ดินที่ป้ายนั้นติดตั้งหรือแสดงอยู่ เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายตามลำดับและให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังบุคคลดังกล่าว
กำหนดระยะเวลาให้ยื่นแบบแสดงรายการ 
ให้เจ้าของป้ายซึ่งจะต้องเสียภาษีป้าย ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.๑) ณ ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขต ซึ่งป้ายนั้นติดอยู่ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี ป้ายที่ติดตั้งใหม่หรือมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากเดือนมีนาคมให้ยื่นแบบภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันติดตั้งหรือแสดงป้าย หรือนับตั้งแต่วันเปลี่ยนแปลงแก้ไขแล้วแต่กรณี ให้เจ้าของป้ายมีหน้าที่เสียภาษีโดยเสียเป็นรายปี ยกเว้นป้ายที่เริ่มติดตั้งหรือแสดงในปีแรกให้เสียภาษีป้ายตั้งแต่วันเริ่มติดตั้ง หรือแสดงจนถึงวันสิ้นปีและคิดภาษีป้าย เป็นรายงวด งวดละ ๓ เดือนของปี โดยเริ่มเสียภาษีป้ายตั้งแต่งวดที่ติดตั้งป้ายจนถึงงวดสุดท้ายของปี
เจ้าของป้ายผู้ใด
๑. ติดตั้งหรือแสดงป้ายอันต้องเสียภาษีภายหลังเดือนมีนาคม ให้เสียเป็นรายงวด 
๒. ติดตั้งหรือแสดงป้ายใหม่แทนป้ายเดิม และมีพื้นที่ ข้อความภาพ และเครื่องหมายอย่างเดียวกับป้ายเดิมที่ได้เสียภาษีป้ายแล้ว ป้ายชำรุดไม่ต้องชำระเฉพาะปีที่ติดตั้ง 
๓. เปลี่ยนแปลงแก้ไขพื้นที่ป้าย ข้อความ ภาพ หรือเครื่องหมายบางส่วนในป้ายที่ได้เสียภาษีป้ายแล้ว อันเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีป้ายเพิ่ม ป้ายที่เพิ่มข้อความชำระตามประเภทป้ายเฉพาะส่วนที่เพิ่มป้ายที่ลดขนาดไม่ต้องคืนเงินภาษีในส่วนที่ลด ถ้าเปลี่ยนขนาดต้องชำระใหม่
ฐานภาษีและอัตราภาษี 
ฐานภาษี ให้คิดจากเนื้อที่ของป้าย กว้าง x ยาว และอัตราภาษีให้คิดจากประเภทของป้าย เช่น เป็นอักษรไทย หรือต่างประเทศ หรือรูปภาพ
ป้ายที่มีขอบเขตกำหนดได้ 
การคำนวณพื้นที่ป้ายให้เอาส่วนกว้างที่สุดคูณด้วยส่วนยาวที่สุดเป็นขอบเขตของป้าย 
ป้ายที่ไม่มีของเขตกำหนดได้ 
ให้ถือเอาตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมาย ที่อยู่ริมสุดเป็นขอบเขต สำหรับกำหนดส่วนที่กว้างที่สุดและยาวที่สุด แล้วคำนวณตามตารางเซนติเมตร 
คำนวณพื้นที่เป็นตารางเซนติเมตร 
เศษของ ๕๐๐ ตารางเซนติเมตร ถ้าเกินครึ่งให้นับเป็น ๕๐๐ ตารางเซนติเมตร ถ้าต่ำกว่าปัดทิ้ง
อัตราภาษีป้าย
ประเภทป้าย อัตรา บาท / ๕๐๐ ตารางเซนติเมตร
๑. อักษรไทยล้วน
๒. อักษรไทยปนอักษรต่างประเทศ/ภาพ/ ๒๐
เครื่องหมายอื่น  
๓. ป้ายดังต่อไปนี้ 
•ไม่มีอักษรไทย 
•อักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือ 
ต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
๔๐
๔. ป้ายที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขพื้นที่ป้าย ข้อความภาพ 
หรือเครื่องหมายบางส่วนในป้ายได้เสียภาษีป้ายแล้ว
อันเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้น 
ให้คิดอัตราตาม ๑ , ๒ หรือ ๓ แล้วแต่กรณี 
และให้เสียเฉพาะเงินภาษีที่เพิ่มขึ้น
 
๕. ป้ายใดเมื่อคำนวณแล้ว จำนวนเงินต่ำกว่า 
๒๐๐ บาท ให้เสีย ๒๐๐ บาท
 
 
 
การชำระภาษี 
ผู้รับประเมินได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษี (ภ.ป.๓) ให้ชำระเงินภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งกาประเมิน โดยชำระภาษีได้ที่ สำนักงานเขตซึ่งป้ายนั้นตั้งอยู่ การชำระภาษีป้ายจะกระทำโดยส่งธนาณัติหรือตั๋วแลกเงินของธนาคาร ที่สั่งจ่ายแก่กรุงเทพมหานครก็ได้ โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนและให้ถือว่าวันที่ได้ทำการส่งดังกล่าวเป็นวันชำระภาษีป้าย หรือชำระผ่านทางธนาคารกรุงไทยเป็นการรับชำระภาษีกรณีปกติไม่มีเงินเพิ่มและไม่เกินวันที่กำหนดไว้ในใบนำการชำระภาษีกรุงเทพมหานคร
ขั้นตอนการยื่นเสียภาษี 
ให้ผู้มีหน้าที่ภาษีป้ายสามารถขอรับแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.๑) ได้ที่ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขต โดยกรอกรายการในแบบ ภ.ป.๑ ตามความเป็นจริงให้ครบถ้วน ลงลายมือชื่อของตนพร้อมวัน เดือน ปี ส่งคืนพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ป้ายนั้นได้ติดตั้ง หรือแสดงไว้ ทั้งนี้จะนำส่งด้วยตนเอง มอบหมายให้ผู้อื่นไปส่งแทนหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ 
๑. ขอรับแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.๑) 
๒. กรอกรายการในแบบ ภ.ป.๑ ตามความเป็นจริงให้ครบถ้วน 
๓. ลงลายมือชื่อ วัน เดือน ปี ส่งคืนพนักงานเจ้าหน้าที่
เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการยื่นแบบ
กรณีป้ายใหม่ ให้เจ้าของป้ายยื่นแบบเสียภาษี พร้อมสำเนาหลักฐาน และลงลายมือชื่อรับรอง ความถูกต้อง ได้แก่ 
๑. บัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน 
๒. ใบทะเบียนการค้า ทะเบียนพาณิชย์ 
๓. ใบอนุญาตติดตั้งป้าย หรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย (ถ้ามี) 
๔. หนังสือรับรองนิติบุคคล (กรณีนิติบุคคล) 
๕. ใบมอบอำนาจกรณีให้ผู้อื่นทำการแทน 
๖. อื่น ๆ
ขั้นตอนการยื่นแบบชำระภาษีป้าย 
๑. การยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีป้าย (ภ.ป.๑) 
ผู้มีหน้าที่ที่ต้องเสียภาษีป้าย ต้องมากรอกแบบแสดงรายการเสียภาษีต่อเจ้าพนักงานประเมิน ณ ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตที่ที่ป้ายตั้งอยู่ โดยจะต้องยื่นแบบเพิ่มขอประเมินภาษีภายในเดือนมีนาคม ของทุกปีหรือแสดงรายการภายใน ๑๕ วันนับแต่วันติดตั้งป้าย 
๒. การตรวจสอบ และรับแบบยื่น (ภ.ป.๑)
เจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานเขตรับแบบยื่น (ภ.ป.๑) จากประชาชนทำการตรวจสอบหลักฐานทั้งหมด 
๓. การแจ้งประเมินภาษี 
เมื่อเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ๒ กรณี ดังนี้ 
๓.๑ กรณีชำระภาษีป้ายในวันยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย 
๓.๒ ไม่ชำระในวันยื่นแบบพนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งประเมิน ภ.ป.๓ 
๔. การชำระเงินค่าภาษี 
สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้ 
๔.๑ การชำระค่าภาษีทั้งหมดภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องชำระภายใน ๑๕ วันนับแต่วันรับหนังสือแจ้งการประเมิน ต้องมาชำระเงินที่ฝ่ายการคลัง สำนักงานเขต หรือชำระที่กองการเงิน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยสามารถชำระเงินค่าภาษีทั้งหมดด้วยเงินสด เช็ค หรือธนาณัติโดยวันที่จ่ายเช็ค วันที่โอนเงินทางธนาณัติจะถือเป็นวันชำระเงินโดยไม่มีการคิดค่าเพิ่ม 
๔.๒ การชำระค่าภาษีผ่านธนาคารกรุงไทย 
ขั้นตอนกรณีชำระที่ธนาคารกรุงไทย 
๑. เจ้าพนักงานแจ้งประเมินค่าภาษีและออกใบแจ้งหนี้ให้ผู้เสียภาษี 
๒. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีรับใบแจ้งหนี้ค่าภาษี 
๓. นำใบแจ้งหนี้ค่าภาษีไปติดต่อชำระเงินที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ รอรับใบเสร็จเก็บไว้เป็นหลักฐาน
๔.๓ การชำระภาษีผ่านตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย
สำหรับตู้ ATM ที่มีช่องอ่านบาร์โค๊ด สำหรับตู้ ATM ธรรมดา
๑. เลือกช่องบริการอื่น ๆ 
๒. เลือกประเภทบริการชำระด้วยบาร์โค๊ด 
๓. สแกนใบนำชำระภาษี 
๔. ดำเนินการตามขั้นตอนที่ตู้ ATMระบุ
๑. เลือกชำระค่าบริการ
๒. ใส่รหัสของกรุงเทพมหานคร ๙๒๙๙ 
๓. ดำเนินการตามขั้นตอนที่ตู้ ATMระบุ
 
๔.๔. การชำระภาษีผ่านทาง Internet
๑. สมัคร KTB Online กรณีบุคคลธรรมดา และ KTB Corporate Onlineกรณีนิติบุคคลที่ www.ktb.co.th
๒. ลงทะเบียนใช้บริการกรุงเทพมหานครที่ http://epay.bangkok.go.th เพื่อขอ Username และ Password
๓. เลือกชำระเงินผ่านธนาคารกรุงไทยออนไลน์ และใส่ Username / Password ของธนาคารกรุงไทยที่สมัครไว้ แล้วเลือกบัญชีที่ประสงค์จะให้หักเงิน
หมายเหตุ.- 
เฉพาะการชำระภาษีประจำปีภายในกำหนดเวลา/ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมการชำระภาษีรายการละ ๑๐ บาท

3. ภาษีบำรุงท้องที่  ติต่อสอบถาม  คุณวรัตน์ทอร  รังสิยวงศ์  โทร 02-326-9148  หรือ 089-1993765
ภาษีบำรุงท้องที่ คือ ภาษีที่จัดเก็บจากที่ดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัย ทำการเกษตรและที่ดินว่างเปล่า
ผู้มีหน้าที่เสียภาษี 
คือ เจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นบุคคลหรือคณะบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล
ฐานภาษีและอัตราภาษี 
ฐานภาษี คือ ราคาปานกลางที่ดินที่คณะกรรมการซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งได้กำหนดขึ้น ปกติให้เสียภาษีตามบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ ท้ายพระราชบัญญัติโดยจะกำหนดตามที่ตั้งที่ดิน เช่น ที่ดินติดถนน ตรอก ซอยและอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันราคาปานกลางที่ดินที่ใช้ประเมินภาษีบำรุงท้องที่เป็นราคาที่ใช้ประเมินตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ -๒๕๒๔ โดยราคาต่ำสุด คือ ราคาปานกลางไร่ละ ๑,๖๐๐ บาท อัตราภาษีไร่ละ ๘ บาท และสูงสุด คือ ราคาปานกลางไร่ละ ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท อัตราภาษีไร่ละ ๒๒,๔๙๕ บาท 
ที่ดินที่ใช้ประกอบกสิกรรมเฉพาะประเภทไม้ล้มลุกให้เสียกึ่งอัตรา แต่ถ้าเจ้าของที่ดินประกอบกสิกรรมประเภทไม้ล้มลุกนั้นด้วยตนเอง ให้เสียอย่างสูงไม่เกินไร่ละ ๕ บาท 
ที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพของที่ดิน ให้เสียเงินเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่า
ขั้นตอนการยื่นเสียภาษี 
การยื่นแบบพิมพ์ ให้เจ้าของที่ดินในวันที่ ๑ มกราคมของปีใด มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ในปีนั้น และยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.๕) ต่อเจ้าพนักงานประเมิน ณ สำนักงานเขตที่ที่ดินตั้งอยู่ เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการยื่นแบบ กรณีที่ดินรายใหม่หรือปีที่มีการตีราคาปานกลางให้เจ้าของที่ดินยื่นแบบเสียภาษีภายในเดือนมกราคมของปีที่มีการตีราคาปานกลางที่ดินหรือทุกรอบระยะเวลา ๔ ปี หรือภายใน ๓๐ วัน กรณีที่ได้กรรมสิทธิ์ใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ โดยยื่นแบบ ภ.บ.ท.๕ พร้อมสำเนาหลักฐานประกอบการพิจารณา ได้แก่ 
๑. บัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน 
๒. โฉนดที่ดินและหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินหรือหนังสือสัญญาอย่างอื่น 
๓. ใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีครั้งสุดท้าย (ถ้ามี) 
๔. ใบมอบอำนาจ กรณีให้ผู้อื่นทำการแทน 
๕. อื่น ๆ
กำหนดระยะเวลาให้ยื่นแบบแสดงรายการ 
๑. ครั้งแรกยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.๕) ภายในเดือนมกราคมของปี และให้ได้เป็นเวลาสี่ปี 
๒. ถ้าที่ดินมีการเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนเจ้าของอันเป็นเหตุให้อัตราภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินเปลี่ยนแปลงไปต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่มีเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ
การขอลดหย่อนภาษี
เจ้าของที่ดินใช้ปลูกบ้านอยู่อาศัยของตนเอง ใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ของตนเองและประกอบกสิกรรมของตนเอง เช่น ทำนา ทำสวน จะมีสิทธิได้รับการลดหย่อนไม่ต้องเสียบำรุงท้องที่ ดังนี้ต่อไปนี้ 
ได้รับการลดหย่อน ๑๐๐ วา ถ้ามีที่ดินอยู่ในพื้นที่เขตดุสิต
การชำระภาษี
๑. ในปีแรกที่มีการตีราคาปานกลางของที่ดิน ให้ยื่นหลักฐานการแจ้งการประเมิน (ภ.บ.ท.๙) พร้อมชำระเงินภายในเดือนเมษายน กรณีได้รับแจ้งการประเมินหลังเดือนมีนาคมให้ชำระภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน 
๒. กรณีอื่น ๆ ให้ชำระภายในเดือนเมษายนของทุกปี
๒.๑ ปีแรกให้ยื่นหลักฐานการแจ้งการประเมิน (ภ.บ.ท.๙) พร้อมชำระเงินภายในเดือนเมษายน ถ้าเลยกำหนดให้ชำระภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน 
๒.๒ กรณีอื่น ๆ ให้ชำระภายในเดือนเมษายนของทุกปี
ขั้นตอนการยื่นแบบชำระภาษีบำรุงท้องที่ 
๑. การยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.๕) 
ผู้มีหน้าที่ที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ ต้องมาขอกรอกแบบแสดงรายการเสียภาษีต่อเจ้าพนักงานประเมิน ณ ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขต ที่ที่ดินตั้งอยู่ โดยจะต้องยื่นแบบเพื่อขอประเมินภาษีภายในเดือนมกราคมของปีแรกที่มีการตีราคาปานกลางที่ดิน 
๒. การตรวจสอบและคำนวณภาษี รับแบบยื่น (ภ.บ.ท.๕) 
เจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานเขตรับแบบยื่น ภ.บ.ท.๕ จากประชาชน โดยทำการตรวจสอบหลักฐานทั้งหมด เพื่อทำการคำนวณค่าภาษี 
๓. การแจ้งการประเมินภาษี 
เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการประเมินค่าภาษีเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีดังกล่าวให้ประชาชนทราบ (ภ.บ.ท.๙ และ ภ.บ.ท.๑๐) 
๔. การชำระเงินค่าภาษี 
สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้ 
๔.๑ การชำระค่าภาษีทั้งหมดในระยะเวลาที่กำหนด (ภายในเดือนเมษายนของทุกปี) เว้นแต่กรณีที่ได้รับแจ้งการประเมินหลังเดือนมีนาคม ต้องชำระภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันรับหนังสือแจ้งการประเมิน ชำระเงินที่ฝ่ายการคลัง สำนักงานเขต หรือชำระที่กองการเงิน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยสามารถชำระเงินค่าภาษีทั้งหมดด้วยเงินสด เช็ค หรือธนาณัติ โดยวันที่จ่ายเช็ค วันที่โอนเงินทางธนาณัติจะถือเป็นวันชำระเงิน โดยไม่มีการคิดเงินเพิ่ม
๔.๒ การชำระค่าภาษีผ่านธนาคารกรุงไทย 
๑ เจ้าพนักงานแจ้งประเมินค่าภาษีและออกใบแจ้งหนี้ค่าภาษีให้ผู้เสียภาษี 
๒. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีรับใบแจ้งหนี้ค่าภาษี 
๓ นำใบแจ้งหนี้ค่าภาษีไปติดต่อชำระเงินที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ รอรับใบเสร็จเก็บไว้เป็นหลักฐาน
๔.๓ การชำระภาษีผ่านตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย
สำหรับตู้ ATM ที่มีช่องอ่านบาร์โค๊ด สำหรับตู้ ATM ธรรมดา
๑. เลือกช่องบริการอื่น ๆ 
๒. เลือกประเภทบริการชำระด้วยบาร์โค๊ด 
๓. สแกนใบนำชำระภาษี 
๔. ดำเนินการตามขั้นตอนที่ตู้ ATMระบุ
๑. เลือกชำระค่าบริการ
๒. ใส่รหัสของกรุงเทพมหานคร ๙๒๙๙ 
๓. ดำเนินการตามขั้นตอนที่ตู้ ATMระบุ
 
๔.๔ การชำระภาษีผ่านทาง Internet
๑. สมัคร KTB Online กรณีบุคคลธรรมดา และ KTB Corporate Onlineกรณีนิติบุคคลที่ www.ktb.co.th
๒. ลงทะเบียนใช้บริการกรุงเทพมหานครที่ http://epay.bangkok.go.th เพื่อขอ Username และ Password
๓. เลือกชำระเงินผ่านธนาคารกรุงไทยออนไลน์ และใส่ Username / Password ของธนาคารกรุงไทยที่สมัครไว้ แล้วเลือกบัญชีที่ประสงค์จะให้หักเงิน
หมายเหตุ.- 
เฉพาะการชำระภาษีประจำปีภายในกำหนดเวลา/ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมการชำระภาษีรายการละ ๑๐ บาท