สาธุชนแน่นสองฝั่งคลอง ร่วมสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ” ประจำปี 2567
20 ตุลาคม 2567 เวลา 07:00 น. นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ ประจำปี 2567 โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ดร. สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด ณ ท่าน้ำวัดสุทธาโภชน์ (วัดมอญ) เขตลาดกระบัง
พิธีเปิดช่วงเช้าในวันนี้ นายธราพงษ์ เพ็ชร์คง ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก สภาวัฒนธรรมเขตลาดกระบัง ผู้แทนชาวไทยเชื้อสายรามัญ (มอญ) ร่วมให้การต้อนรับและกล่าวรายงาน พร้อมนำประธานในพิธี และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สักการะพระพุทธรูป และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด พร้อมลงเรือเยี่ยมชมบรรยากาศทั้งสองฝั่งคลองลำปลาทิว ที่มีประชาชนมารอตักบาตรทางเรือตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยขบวนเรือมาดของพระสงฆ์กว่า 120 รูป ออกรับบิณฑบาตจากสาธุชน ที่รอตักบาตรริมสองฝั่งคลอง และพิธีถวายภัตตาหารเพลด้วยชุดสำรับคาว-หวาน ตามประเพณีของชาวมอญอันเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น รวมถึงการแข่งขันเรือพายท้องถิ่นในช่วงบ่าย
ซึ่งประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ เป็นวัฒนธรรมประเพณีของชาวรามัญหรือชาวไทยเชื้อสายมอญในเขตลาดกระบังที่ยังคงยึดถือและปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานกว่า 100 ปี กำหนดจัดงานในวันอาทิตย์แรกหลังออกพรรษาหนึ่งสัปดาห์ของทุก ๆ ปี และเป็นประเพณีที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนไทย ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาพระพุทธศาสนาในการทำบุญตักบาตรมาแต่ครั้งอดีตกาลจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในสมัยก่อนยังไม่มีถนนหนทางสะดวก จึงใช้แม่น้ำลำคลองในการเดินทางไปมาหาสู่ติดต่อกัน รวมถึง การทำบุญตักบาตรของชาวบ้านในสมัยก่อน พระภิกษุสงฆ์จะออกรับบิณฑบาตโดยทางเรือ ทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมของชาวลาดกระบัง ที่ยังคงเห็นความเป็นรากเหง้า แก่นแท้ของความเป็นไทย สืบสานและอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามมาจนถึงปัจจุบัน ประชาชนชาวพุทธจะร่วมกันตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง บริเวณริมสองฝั่งคลองลำปลาทิว หน้าวัดสุทธาโภชน์ ระยะทางมากกว่า 3 กิโลเมตร พระสงฆ์นับร้อยรูปจะรับบิณฑบาตทางเรือมาดซึ่งทางวัดเก็บรักษาและอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีมากกว่า 100 ลำ
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ได้ขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” และเป็นหนึ่งเดียวของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเขตลาดกระบัง