(29 พ.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดในเขตกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 โดยมี รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรรมการจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ จิตอาสา และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

          ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า สิ่งที่กังวลที่สุดคือเรื่องพิษสุนัขบ้า ซึ่งปีนี้พบเกิดขึ้นในพื้นที่เขตลาดกระบังกับเขตหนองจอก 12 เคส ซึ่งได้มีการลงพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตลาดกระบังประมาณ 6,900 ตัว และเขตหนองจอกประมาณ 6,400 ตัว สำหรับตัวเลขคร่าวๆ อาจมีสุนัขกับแมวจรจัดมากกว่า 200,000 ตัว ซึ่งแมวจะมีจำนวนมากเพราะสามารถแพร่พันธุ์ได้เร็ว สำหรับวันนี้มีภาคีเครือข่ายจากหลายหน่วยงานมาช่วยกัน อาทิ The Voice Foundation สมาคมสงเคราะห์สัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog Foundation) มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร มูลนิธิเดอะโฮปไทยแลนด์ (The Hope Thailand) SOS Animal Thailand สมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย) เป็นต้น มาร่วมมือกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ หัวใจสำคัญคือการทำหมันและการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า เพราะการนำสุนัขกับแมวจรจัดทั้งหมดมาอยู่ที่ศูนย์กักกันสัตว์ไม่สามารถทำได้เนื่องจากสถานที่ไม่เพียงพอ กลุ่มที่นำมาอยู่ที่ศูนย์กักกันส่วนใหญ่คือกลุ่มที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น ไล่กัดคน หรือสร้างความเดือดร้อนรุนแรง

          ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีสถานที่กักกันสัตว์ 2 แห่ง คือ ที่ประเวศสามารถรองรับสุนัขและแมวได้ประมาณ 1,000 ตัว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานที่คาดว่าประมาณเดือน มิ.ย. นี้จะเสร็จ และที่ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี รองรับได้ประมาณ 6,000 ตัว การเก็บสุนัขหรือแมวเป็นแสนตัวมาไว้ที่สถานกักกันทั้งหมดไม่สามารถทำได้เพราะมีสถานที่ไม่เพียงพอ แนวคิดหลักคือ การทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าแล้วปล่อยกลับสู่ชุมชน ซึ่งนักวิชาการบอกว่าการมีสุนัขหรือแมวชุมชนเป็นสิ่งที่ผลักดันไม่ให้สุนัขหรือแมวจรจัดจากที่อื่นเข้ามาแทนที่ เป็นการช่วยป้องกันความเสี่ยงโรคจากสุนัขหรือแมวจรจัดต่างถิ่นได้ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะเมื่อมีการทำหมันแล้วอนาคตจำนวนสุนัขและแมวจรจัดจะค่อย ๆ ลดลง การแก้ปัญหาทางหนึ่งคือการรับสุนัขและแมวจากสถานกักกันสัตว์มาเลี้ยง แทนการซื้อ  การแก้ปัญหาต้องทำตั้งแต่ต้นทาง ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนที่จะเลี้ยงสัตว์ต้องมีความรับผิดชอบ ต้องมั่นใจว่าสามารถดูแลระยะยาวได้ มีหลายคนที่เลี้ยงไม่ไหวแล้วนำมาปล่อยเป็นสุนัขและแมวจรจัด ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันดูแลโดยเฉพาะเรื่องการทำหมันและการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า