บัตรประชาชนหายต้องเตรียมหลักฐานอะไรไปทำบัตรใหม่บ้าง

นำเอกสารที่ทางราชการออกให้และมีรูปติดที่ยังไม่หมดอายุ เช่น หนังสือเดินทาง ใบอนุญาตขับรถวุฒิการศึกษา ฯลฯ มาแสดงตัว หากไม่มีเอกสารดังกล่าวให้นำพยานบุคคลมาให้การรับรอง เช่น บิดา มารดา เจ้าบ้าน หรือญาติพี่น้อง (ระเบียบกรมการปกครองว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561 ข้อ 4)

บัตรประชาชนหายต้องไปแจ้งความที่ สน.ก่อนหรือไม่

ไม่ต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ แต่ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สำนักทะเบียนที่ท่านติดต่อขอทำบัตร โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะออกบันทึกการรับแจ้งเอกสารเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชนสูญหาย (บ.ป.7) ให้เก็บไว้เป็นหลักฐาน (ระเบียบกรมการปกครองว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน  พ.ศ.2554 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 15 และ ข้อ 16)

อยากทราบว่าปัจจุบันเด็กจะต้องทำบัตรประชาชนครั้งแรก เมื่ออายุเท่าไหร่ และใช้เอกสารอะไรบ้าง

การทำบัตรประชาชนครั้งแรกของคนที่มีสัญชาติไทยจะต้องมีอายุครบ 7 ปีบริบูรณ์ โดยต้องเตรียม สูติบัตร หากไม่มีให้นำสำเนาทะเบียนนักเรียน ใบสุทธิ ประกาศนียบัตร หนังสือเดินทาง อย่างใดอย่างหนึ่งมาแสดงและให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือเจ้าบ้านคนใดคนหนึ่งมารับรองด้วย ซึ่งผู้ที่มารับรองจะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ (พรบ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2554 มาตรา 5 และระเบียบกรมการปกครองว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2554 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 11)

บัตรประชาชนหมดอายุต้องทำอย่างไรจะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง

ให้นำบัตรประชาชนเดิมที่หมดอายุไปยื่นขอต่อบัตรฯ ซึ่งสามารถยื่นก่อนวันบัตรหมดอายุ 60 วัน หรือภายใน 60 วันหลังจากที่บัตรเดิมหมดอายุ (พรบ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2554 มาตรา 6 ตรี)

ชื่อในทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัดจะมาทำบัตรประชาชนที่เขตทวีวัฒนาได้หรือไม่

ได้ หรือสามารถขอทำบัตรฯ ณ ที่ทำการอำเภอ สำนักงานเขต สำนักงานเทศบาล ฯลฯ ได้ทุกแห่ง(กฎกระทรวง ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2555) ออกตามความในพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526) 

แจ้งย้ายที่อยู่ใหม่จำเป็นต้องเปลี่ยนบัตรประชาชนหรือไม่

ไม่จำเป็น เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับให้ผู้ถือบัตรต้องขอเปลี่ยนบัตรแต่หากมีความประสงค์จะขอเปลี่ยนก็สามารถทำได้โดยจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 100 บาท (พรบ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2554 มาตรา 6 จัตวา)

มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางที่ต่างจังหวัด แต่ปัจจุบันได้พักอยู่คอนโดมิเนียมที่ซื้อไว้ที่กรุงเทพฯ สามารถแจ้งย้ายปลายทางมาเข้าบ้านที่ซื้อไว้ได้หรือไม่

การแจ้งย้ายปลายทางออกจากทะเบียนบ้านกลางสามารถทำได้ โดยแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ณ สำนักทะเบียนท้องถิ่นเขตที่เป็นที่ตั้งของบ้านที่ประสงค์จะย้ายเข้า ยกเว้น คนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางเนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างติดตามตัวตามหมายจับซึ่งจะต้องขอแจ้งย้ายต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ณ สำนักทะเบียนที่ผู้นั้นมีชื่ออยู่ ในทะเบียนบ้านกลาง (ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ข้อ 89)

การแจ้งย้ายปลายทางจะต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือไม่ ถ้าเสียจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเท่าไร

การแจ้งย้ายปลายทางอัตโนมัติจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการแจ้งย้ายโดยชำระค่าธรรมเนียม ฉบับละ 20 บาท (กฎกระทรวง กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2562)

ต้องการจะคัดและรับรองสำเนาทะเบียนบ้านของตนเองแต่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่ต่างจังหวัดจะยื่นขอคัดที่ใดได้บ้าง ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง

สามารถยื่นคำร้องขอคัดและรับรองได้ทุกสำนักทะเบียน โดยนำบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับจริง) ไปแสดงต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งด้วย (พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 รวมฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 มาตรา 6)

มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางอยากทราบว่าจะขอคัดและรับรองสำเนารายการไปใช้ได้หรือไม่

ผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียน สามารถยื่นคำร้องขอคัดและรับรองรายการ ตามทะเบียนบ้านกลางเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงรายการบุคคลได้แต่ไม่สามารถนำไปใช้ยืนยันรายการที่อยู่และสถานะของบุคคลได้ (ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ข้อ 48)

ทำสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน (เล่มสีน้ำเงิน) หายต้อทำอย่างไรบ้าง ต้องแจ้งความก่อนหรือไม่

เจ้าบ้านหรือผู้ได้รับมอบหมาย ยื่นคำร้องขอรับสำเนาทะเบียนบ้านใหม่เนื่องจากหาย ต่อนายทะเบียน  ณ สำนักทะเบียนที่ออกสำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเดิมที่หาย) ได้โดยไม่ต้องแจ้งความแต่อย่างใด แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียม ฉบับละ 30 บาท (ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ข้อ 41 และกฎกระทรวง กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการทะเบียนราษฎร พ.ศ 2562)

เป็นคนไทยต้องการจดทะเบียนสมรส จะต้องทำอย่างไรและจดได้ที่ไหนบ้าง

การจดทะเบียนสมรสของคนสัญชาติไทยกรณีฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ สามารถยื่นคำร้องได้เอง แต่หากมีอายุ 17 ปี แต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องมีบิดา มารดา หรือผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ความยินยอม

หลักฐานที่ต้องนำมาแสดง  ได้แก่  

1. บัตรประจำตัวประชาชน

2. ใบสำคัญการหย่า (ถ้ามี)

3. ใบเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)

4. ใบรับรองแพทย์ (กรณีฝ่ายหญิงหย่าหรือสามีเสียชีวิต ยังไม่พ้น 310 วัน)

5. สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีฝ่ายหญิงต้องการแก้ไขรายการ)

พยานบุคคล  ต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว จำนวน 2 คน (พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน)

สถานที่ยื่นคำร้อง  สำนักทะเบียนเขต/สำนักทะเบียนอำเภอหรือกิ่งอำเภอได้ทุกแห่ง (ระเบียบกฎหมาย ป.พ.พ. ม.1436, 1448, 1453, 1454, 1455, 456 พรบ.จดทะเบียนครองครัว พ.ศ.2478 ม.4, 11, 12 ระเบียบ มท.ว่าด้วยจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541 ข้อ 8, 13 (1))

ถ้าบิดาต้องการจดทะเบียนรับรองบุตร ต้องทำอย่างไร

บิดาเป็นผู้ร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตร ณ สำนักทะเบียน (ที่ว่าการอำเภอ/สำนักงานเขต/กิ่งอำเภอ) โดยมีเด็กและมารดามาลงชื่อให้ความยินยอมด้วยตนเอง กรณีเด็กหรือมารดาเด็กไม่สามารถมาให้ความยินยอมได้ จะต้องนำคำพิพากษา และหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดแล้วมาแสดง 

หลักฐานที่ต้องนำมาแสดง     

1. บัตรประจำตัวประชาชน

2. ใบสูติบัตรของบุตร

3. ใบเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล

4. คำพิพากษา และหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดแล้ว

พยานบุคคล  ต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว จำนวน 2 คน (พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน) 

สถานที่ยื่นคำร้อง  สำนักทะเบียนเขต/สำนักทะเบียนอำเภอ หรือกิ่งอำเภอได้ทุกแห่ง (ระเบียบกฎหมาย ป.พ.พ.ม. 1548 กฎกระทรวง พ.ศ.2478 ข้อ 3 ระเบียบ มท.ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541 ข้อ 8, 2 (1), 24 (2) (3) (4), 25)

ต้องการไปจดทะเบียนรับรองบุตรที่เขต ซึ่งตอนนี้มีคำพิพากษาของศาลและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดจะไปดำเนินการเองคนเดียวได้หรือไม่

สามารถนำคำพิพากษาและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดแล้ว มาดำเนินการเองได้ โดยจะต้องนำพยานบุคคลมาด้วย จำนวน 2 คน มาลงชื่อในฐานะพยานด้วย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 2548 วรรคท้าย และระเบียบ มท.ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541 ข้อ 23 )

ต้องการเปลี่ยนชื่อตัว ต้องทำอย่างไร และทำได้ที่ใด

การเปลี่ยนชื่อตัว ต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ถ้าเป็นผู้เยาว์ต้องให้มารดาหรือบิดา หรือ ถ้าเป็นบิดามายื่นคำร้องต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้          

1. ต้องไม่พ้อง หรือมุ่งหมายให้คล้ายพระปรมาภิไธย หรือพระนามของของพระราชินีหรือราชทินนามของบุคคลอื่น

2. ต้องไม่คำหรือความหมายหยาบคาย

3. ต้องไม่มีเจตนาทุจริต

4. ต้องมีความหมายในภาษาไทย

หลักฐานที่ต้องนำมาแสดง   

1. บัตรประจำตัวประชาชน

2. ทะเบียนบ้าน

3. ใบสูติบัตร (ถ้ามี)

4. ใบสำคัญการสมรส (ถ้ามี)

สถานที่ยื่นคำร้อง  สำนักทะเบียนท้องที่ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.2505 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2530 ฉบับที่ 3 พ.ศ.2548 มาตรา 5 มาตรา 6)

มารดาต้องการเปลี่ยนชื่อสกุลบุตรจากชื่อสกุลของบิดาไปใช้ชื่อสกุลของมารดา ต้องทำอย่างไร และทำได้ที่ใด

มารดาสามารถยื่นคำร้องขอเปลี่ยนชื่อสกุลให้บุตรได้ ณ สำนักทะเบียนที่บุตรมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน กรณีมีบิดาชอบด้วยกฎหมาย (บิดาและมารดาจดทะเบียนสมรสหรือบิดารับรองบุตร) ต้องได้รับความยินยอมจากบิดา หากมีบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย มารดาสามารถเปลี่ยนชื่อสกุลให้บุตรได้เลยโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดา 

หลักฐานที่ต้องนำมาแสดง   

1. บัตรประจำตัวประชาชน

2. ใบสูติบัตร 

3. ใบเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)

4. ทะเบียนสมรส หรือทะเบียนรับรองบุตร

(ระเบียบ มท.ว่าด้วยการทะเบียนชื่อบุคคลพ.ศ.2551 และหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0402/ว 1303 ลงวันที่ 29 พ.ย. 2527)

Page 1 of 1