การยื่นแบบและการชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน 

ให้เจ้าของโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.๒) ณ สำนักงานเขต ซึ่งโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ตั้งอยู่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี : อัตราค่าภาษีร้อยละ 12.5 ขอค่ารายปี (ค่ารายปี หมายถึง จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่ มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช้จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากแจ้งของทรัพย์สินดำเนินการเอง หรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะทรัพย์สินขนาด พื้นที่ ทำเล ที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้น ได้รับประโยชน์)

ทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน
- พระราชวังอันเป็นส่วนของแผ่นดิน
- ทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ และทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง
- ทรัพย์สินของโรงพยาบาลสาธารณะและโรงเรียนสาธารณะ ซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรของส่วนบุคคล และใช้เฉพาะในการรักษาพยาบาลและในการศึกษา
- ทรัพย์สินซึ่งเป็นศาสนสมบัติอันใช้เฉพาะในศาสนกิจอย่างเดียว หรือเป็นที่อยู่ของสงฆ์
- โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ซึ่งปิดไว้ตลอดปีและเจ้าของมิได้อยู่เอง หรือให้ผู้อื่นอยู่นอกจากคนเฝ้าโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ หรือในที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกัน
- โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างของการเคหะแห่งชาติที่ผู้เช่าซื้ออาศัยอยู่เอง โดยมิไห้ใมช้เป็นที่เก็บสินค้าหรือประกอบอุตสาหกรรม หรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้
- โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ซึ่งเจ้าของอยู่เอง หรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษา และซึ่งมิได้ใช้เป็นที่ไว้สินค้าทำการค้าประกอบการอุตสาหกรรม หรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้


หลักฐานที่ใช้ประกอบการยื่นแบบภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) 

1. โฉนดที่ดิน ที่ปลูกสร้างโรงเรือน 
2. หนังสือสัญญาซื้อขาย , ให้เช่า ที่ดิน หรือ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 
3. ใบอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคาร ใบอนุญาตให้ใช้อาคาร 
4. ใบให้เลขหมายประจำบ้าน 
5. สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของโรงเรือน สำเนาทะเบียนบ้านของโรงเรือนที่พิกัดภาษี 
6.  บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการ หรือบัตรพนักงานรัฐวิสาหกิจ 
7. เลขประจำตัวผู้เสียภาษี / เลขทะเบียนการค้า 
8. หลักฐานการเปิดดำเนินกิจการ เช่น หนังสือรับรองจดทะเบียน ทะเบียนการค้า ทะเบียนพาณิชย์ 
9. สำเนางบการเงิน (กรณีเป็นนิติบุคคล) 
10. หลักฐานของสรรพากรเช่น ภ.พ. 01 ,ภ.พ. 09, ภ.พ. 20 
11. ใบอนุญาตตั้งและ / หรือประกอบกิจการโรงงาน 
12. ใบอนุญาตติดตั้งเครื่องจักร 
13. ใบอนุญาตของฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล 
14. ใบเสร็จค่าติดตั้งมิเตอร์น้ำประปา ไฟฟ้า 
15. สัญญาเช่าโรงเรือนที่พิกัดภาษี 
16. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถยื่นแบบได้ด้วยตนเองพร้อมติดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย) 
17. หลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์โรงเรือนที่พิกัดภาษี 

หมายเหตุ  ให้ผู้รับประเมิน หรือเจ้าของโรงเรือน ถ่ายสำเนาหลักฐาน เอกสารที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้นพร้อมลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องกำกับทุกฉบับ มาขอรับแบบยื่นภาษีโรงเรือนและที่ดินได้ที่สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร
 

การยื่นแบบและการชำระเงินค่าภาษีป้าย

ป้ายที่ต้องเสียภาษีป้าย

ป้ายที่ต้องเสียภาษีป้าย ได้แก่ ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อเครื่องหมายที่ใช้ในการค้า หรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้ หรือโฆษณาการค้ากิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะได้แสดง หรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใด ๆ ด้วยอักษรภาพหรือเครื่องหมาย ที่เขียน แกะ จารึก หรือทำให้ปรากฎด้วยวิธีอื่น

ป้ายที่ไม่ต้องเสียภาษีป้าย
- ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพและบริเวณมหรสพนั้น เพื่อโฆษณามหรสพ
- ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้า หรือที่สิ่งหุ้มห่อ หรือบรรจุสินค้า
- ป้ายที่แสดงไว้ในบริเวณงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว
- ป้ายที่แสดงไว้ที่คน หรือสัตว์
- ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่น หรือ ภายในอาคาร ซึ่งเป็นที่รโหฐาน ทั้งนี้เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวง (กฎกระทรวงกำหนดว่าต้องเป็นป้ายที่มีพื้นที่ไม่เกินหนึ่งตารางเมตร) แต่ไม่รวมถึงป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์
- ป้ายของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค หรือ ราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ
- ป้ายขององค์การที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ และหน่วยงานที่นำรายได้ส่งรัฐ
- ป้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือ สถานบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถานบันอุดมศึกษาเอกชนที่แสดงไว้ ณ อาคารหรือบริเวณของโรงเรียนเอกชนหรือสถานบันอุดมศึกษานั้น ๆ
- ป้ายของผู้ประกอบการเกษตรซึ่งค้าผลผลิตอันเกิดจากการเกษตรของตน
- ป้ายของวัด หรือผู้ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์แก่ศาสนา หรือการกุศลสาธารณะ โดยเฉพาะ
- ป้ายของสมาคมหรือมูลนิธิ
- ป้ายตามที่กำหนดของกฎกระทรวง คือ
    1) ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถบดถนน หรือรถแทรกเตอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
    2) ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ล้อเลื่อนตามกฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน
    3) ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ยานพาหนะ นอกเหนือ 1) และ 2) โดยมีพื้นที่ไม่เกินห้าร้อยตารางเซนติเมตร


อัตราค่าภาษี คำนวณตามพื้นที่ป้าย (กว้าง x ยาว) เป็นตารางเซนติเมตร ตามประเภทป้าย ดังนี้ 
  • ป้ายประเภท 1 เป็นป้ายที่มีแต่อักษรไทยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คิดอัตรา 3 บาท ต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร 
  • ป้ายประเภท 2 เป็นป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ หรือปนกับภาพหรือปนกับเครื่องหมายอื่นทั้งหมด คิดอัตรา 20 บาท ต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร 
  • ป้ายประเภท 3 เป็นป้ายที่ไม่มีอักษรไทยหรือเป็นป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมด อยู่ใต้หรืออยู่ต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ คิดอัตรา 40 บาท ต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร 
หมายเหตุ ป้ายทุกป้ายที่คำนวณค่าภาษีแล้วมีค่าภาษีต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้เสียภาษีอย่างต่ำป้ายละ 200 บาท 

หลักฐานที่ใช้ประกอบการยื่นแบบภาษีป้าย

เจ้าของป้ายซึ่งแสดงป้ายชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค่าหรือประกอบกิจการอื่น โดยมีเจตนาเพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้าหรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะได้แสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใด ๆ หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีใดๆ ก็ตามมีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้าย กรณีที่ไม่อาจหาตัวเจ้าของป้ายได้ ผู้ครอบครองป้าย เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือที่ดินที่เป็นที่ติดตั้งป้าย เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายตามลำดับ

การยื่นแบบ ให้เจ้าของป้ายยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีป้าย (ภ.ป. 1) ณ ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตบางเขนดังนี้

• กรณีป้ายโฆษณาที่ติดตั้งใหม่ ให้ยื่นแบบ (ภ.ป.1) ภายใน 15 วัน
• กรณีป้ายที่ชำระค่าภาษีป้ายต่อเนื่องทุกปี ให้ยื่นแบบ (ภ.ป. 1) ได้ตั้งแต่ เดือนมกราคม ถึง เดือนมีนาคม ของทุกปี
• กรณีป้ายที่ชำระค่าภาษีป้ายประจำปีแล้วต้องการเปลี่ยนแปลงป้าย ให้มาแจ้ง ภายใน 15 วัน
• หากท่านปลดป้ายลงเนื่องจากเลิกกิจการกรุณาแจ้งให้ทราบภายในเดือนธันวาคม ของทุกปี 

เอกสารประกอบการยื่นแบบ (ภ.ป.1) พร้อมลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อง 

• ใบอนุญาตติดตั้งป้าย , ใบเสร็จรับเงินค่าทำป้าย
• รูปถ่ายป้าย , วัดขนาดความกว้าง x ยาว
• สำเนาทะเบียนบ้าน
• บัตรประจำตัวประชาชน / บัตรข้าราชการ / บัตรพนักงานรัฐวิสาหกิจ
• เลขประจำตัวผู้เสียภาษี / เลขที่ทะเบียนการค้า (กรณีนิติบุคคล)
• กรณีเจ้าของป้ายเป็นนิติบุคคลให้แนบหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนทุ้นส่วนบริษัท , ทะเบียนพาณิชย์และหลักฐานของสรรพากร เช่น 
ภ.พ. 01 , ภ.พง 09, ภ.พ. 20
• หนังสือมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถยื่นแบบได้ด้วยตนเอง พร้อมติดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย) และใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีครั้งสุดท้าย 
(ถ้ามี)

กรณีภาษีป้าย (รายเก่า) ที่ยื่นชำระทุกปี 

• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ของเจ้าของป้าย
• สำเนาใบเสร็จของสรรพกร ในกรณีเจ้าของป้ายเป็นนิติบุคคล 

หมายเหตุ มาขอรับแบบยื่นภาษีป้ายได้ที่สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร 
 

การยื่นแบบและการชำระเงินภาษีบำรุงท้องที่

ที่ดินที่ไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่
1) ที่ดินที่ตั้งพระราชวังอันเป็นส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
2) ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือที่ดินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐหรือสาธารณะโดยมิได้หาผลประโยชน์
3) ที่ดินของราชการส่วนท้องถิ่นที่ใช้ในกิจการของราชการส่วนท้องถิ่น หรือสาธารณะโดยมิได้หาผลประโยชน์
4) ที่ดินที่ใช้เฉพาะการพยาบาลสาธารณะ การศึกษา หรือการกุศลสาธารณะ
5) ที่ดินที่ใช้ศาสนกิจศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของวัด ไม่ว่าจะใช้ประกอบศาสนกิจศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือไม่ หรือที่ศาลเจ้า โดยมิได้หาผลประโยชน์
6) ที่ดินที่ใช้เป็นสุสานและฌาปนสถานสาธารณะ โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน
7) ที่ดินที่ใช้ในการรถไฟ การประปา การไฟฟ้า หรือการท่าเรือของรัฐ หรือใช้เป็นสนามบินของรัฐ
8) ที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแล้ว
9) ที่ดินของเอกชนเฉพาะส่วนที่เจ้าของที่ดินยินยอมให้ทางราชการจัดเพื่อสาธารณะประโยชน์โดยเจ้าของที่ดินมิได้ใช้ หรือหาผลประโยชน์ในที่ดินเฉพาะส่วนนั้น
10) ที่ดินเป็นที่ตั้งที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติหรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ในเมื่อประเทศไทยมีข้อผูกพันให้ยกเว้นตามอนุสัญญาหรือความตกลง
11) ที่ดินที่เป็นที่ตั้งที่ทำการของสถานฑูต หรือสถานกงสุล ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน
12) ที่ดินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

หลักฐานที่ใช้ประกอบการยื่นแบบภาษีบำรุงท้องที่ ประจำปี พ.ศ. 2549 ต้องยื่นแบบเพื่อประเมินใหม่ ภาษีในเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 

1. สำเนาโฉนดที่ดิน (ถ่ายเอกสารทุกหน้า) 
2. หนังสือสัญญาซื้อขาย ในกรณีที่ขายที่ดินไปบางส่วนหรือทั้งหมด 
3. สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของที่ดิน 
4. สำนาบัตรประชาชนของเจ้าของที่ดิน 
5. หนังสือมอบอำนาจ ในกรณีที่เจ้าของที่ดินไม่สามารถมายื่นแบบด้วยตนเอง 
  • กรณีเป็นรายเก่าที่เคยยื่นเสียภาษีแล้ว ให้นำใบเสร็จชำระเงินปีเก่ามาแสดงด้วย

หมายเหตุ  มาขอรับแบบยื่นภาษีบำรุงท้องที่ได้ที่สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร