เหตุใดจึงต้องมีการตรวจสอบ
          การตรวจสอบภายในเป็นกิจกรรมการให้ความเชื่อมั่นและคำปรึกษาอย่างเที่ยงธรรมและเป็นอิสระ เพื่อเพิ่มคุณค่าและปรับปรุง การดำเนินงานขององค์กร ตลอดจนช่วยให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ด้วยการประเมินและปรับปรุงประสิทธิผลของกระบวนการบริหารความเสี่ยง การควบคุม และการกำกับดูแล
 
          จากนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การตรวจสอบภายในไม่ใช่การจับผิดการทำงานของหน่วยรับตรวจ แต่เป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบจึงมุ่งสนใจประเด็นต่าง ๆ  ดังต่อไปนี้:
  1. ความมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความคุ้มค่าของการปฏิบัติงาน
  2. การใช้งานและการดูแลรักษาทรัพย์สินของทางราชการ
  3. ความถูกต้องและเชื่อถือได้ของข้อมูลหรือสารสนเทศที่ใช้ในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลหรือสารสนเทศทางด้านการเงินและบัญชี
  4. การปฏิบัติงานที่ต้องสอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ และหรือหนังสือสั่งการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  5. การปฏิบัติงานให้บรรลุผลสำเร็จตามยุทธศาสตร์ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่กำหนด
​          โดยผู้ตรวจสอบภายในจะประเมินหรือพิจารณาหลักฐาน ข้อมูล หรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานของหน่วยรับตรวจ เพื่อให้ทราบปัญหา จุดอ่อนของการควบคุม และความเสี่ยงหลังจากนั้นจึงจะให้คำปรึกษาหรือแนะนำแนวทางในการพัฒนาหรือปรับปรุงงานเพื่อลดหรือป้องกันความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสที่จะทำให้งานของหน่วยรับตรวจบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด ดังนั้น การตรวจสอบภายในจึงเป็นประโยชน์กับ
หน่วยรับตรวจและเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในองค์กร
สำนักงานตรวจสอบภายในจะมาตรวจสอบหน่วยงานต่าง ๆ ทุกปีหรือไม่
          การที่จะเข้าตรวจสอบหน่วยงานใด ปีไหน ผู้ตรวจสอบภายในจะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยง โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของหน่วยรับตรวจ เช่น ความถี่ของการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร นโยบาย ภารกิจที่หน่วยงานรับผิดชอบ ความซับซ้อนของกระบวนการปฏิบัติงาน ผลการดำเนินงานในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ความถี่ที่เคยได้รับการตรวจสอบ ฯลฯ ดังนั้น เมื่อประเมินแล้วพบว่า หน่วยงานใดที่มีความเสี่ยงสูง ผู้ตรวจสอบภายในย่อมสนใจที่จะเข้าตรวจสอบ เพื่อป้องกันความเสี่ยงก่อนที่จะเกิดความเสียหายใด ๆ 
ในแต่ละปี สำนักงานตรวจสอบภายในมีแผนที่จะเข้าตรวจสอบหน่วยงานใดบ้าง เมื่อใด และจะมาตรวจสอบทุกปีหรือไม่
          ทุกต้นปีงบประมาณ สำนักงานตรวจสอบภายในจะมีหนังสือเวียนแจ้งแผนการตรวจสอบประจำปีให้หน่วยงานทุกแห่งในสังกัดกรุงเทพมหานครได้รับทราบ พร้อมกับประชาสัมพันธ์ไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงานตรวจสอบภายใน ซึ่งแผนดังกล่าวจะระบุงานหรือโครงการเป้าหมายและประเภทของการตรวจสอบที่จะดำเนินการในปีนั้น ๆ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมรับการตรวจสอบ
 
          ส่วนการที่สำนักงานตรวจสอบภายในจะเข้าตรวจสอบหน่วยงานใดและปีไหน ผู้ตรวจสอบภายในจะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยง โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของหน่วยรับตรวจเป็นสำคัญ เช่น ความถี่ของการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร นโยบาย และภารกิจที่หน่วยงานรับผิดชอบ ความซับซ้อนของกระบวนการปฏิบัติงาน ผลการดำเนินงานในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ความถี่ที่เคยได้รับการตรวจสอบ ฯลฯ ดังนั้น เมื่อประเมินแล้วพบว่า หน่วยงานใดมีความเสี่ยงสูง ผู้ตรวจสอบภายในจะวางแผนเข้าตรวจสอบ เพื่อป้องกันหรือควบคุมความเสี่ยงก่อนที่จะเกิดความเสียหาย เพราะฉะนั้น หน่วยงานที่มีความเสี่ยงสูงอาจจะได้รับการตรวจสอบในจำนวนครั้งที่มีความถี่มากกว่าหน่วยงานที่มีความเสี่ยงต่ำ
ผู้ตรวจสอบภายในใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบหน่วยงาน แต่ละแห่งนานเท่าใด
          ระยะเวลาในการตรวจสอบขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่พบ ประเด็นการควบคุมของแต่ละความเสี่ยง วัตถุประสงค์ และขอบเขต (Scope) ที่ผู้ตรวจสอบภายในกำหนดไว้ในแผนการปฏิบัติงานตรวจสอบ (Engagement Plan) โดยจะพิจารณาให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีและจำนวนวันที่ระบุไว้ในคู่มือการปฏิบัติงาน ซึ่งหน่วยรับตรวจแต่ละแห่งจะมีจำนวนวันในการปฏิบัติงานตรวจสอบที่แตกต่างกัน
ข้อตรวจพบที่ได้จากการตรวจสอบหน่วยงาน สำนักงานตรวจสอบภายในไม่รายงานให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครทราบ ได้หรือไม่
          ข้อตรวจพบที่มีนัยสำคัญหรือมีความเสี่ยง ผู้ตรวจสอบภายในจะต้องรายงานให้ปลัดกรุงเทพมหานครพิจารณาและหรือสั่งการ พร้อมกับเสนอแนวทางในการพัฒนาหรือปรับปรุงการดำเนินงานด้านดังกล่าวของหน่วยรับตรวจให้มีความถูกต้อง เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับองค์กร อย่างไรก็ตาม ผู้ตรวจสอบภายในจะประชุมปิดการตรวจสอบ (Exit Meeting) กับหน่วยรับตรวจทุกครั้ง เพื่อสรุปประเด็นข้อตรวจพบให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยรับตรวจได้รับทราบก่อนที่จะรายงานปลัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งหน่วยรับตรวจมีโอกาสที่จะอธิบายข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน ตลอดจนเสนอแนวทางในการปรับปรุงการควบคุมให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อตรวจพบบางเรื่องที่หน่วยรับตรวจพิจารณาแล้วเห็นว่า สามารถปรับปรุงหรือแก้ไขได้ทันที หน่วยรับตรวจสามารถที่จะดำเนินการและรายงานให้ผู้ตรวจสอบภายในทราบ เพื่อที่จะรายงานผลการแก้ไขหรือปรับปรุงดังกล่าวให้ปลัดกรุงเทพมหานครพิจารณาต่อไป ดังนั้น ข้อตรวจพบที่ได้จากการตรวจสอบ ผู้ตรวจสอบภายในจะต้องรายงานให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครทราบเสมอ ทั้งผู้บริหารของหน่วยรับตรวจและปลัดกรุงเทพมหานคร
ภายหลังจากที่ผู้ตรวจสอบภายในเข้าตรวจสอบหน่วยงานเรียบร้อยแล้ว หน่วยงานจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป
          เมื่อผู้ตรวจสอบภายในเข้าตรวจสอบหน่วยงานเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นจะรายงานข้อเท็จจริงต่าง ๆ ให้ปลัดกรุงเทพมหานครได้รับทราบและพิจารณา ตลอดจนเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาหรือปรับปรุงการดำเนินงานของหน่วยรับตรวจให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และถูกต้องตามข้อกำหนดหรือกฎหมายต่าง ๆ มากขึ้น โดยปลัดกรุงเทพมหานครจะสั่งการให้หน่วยรับตรวจดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจสอบภายใน ดังนั้น หน่วยรับตรวจจึงมีหน้าที่ปรับปรุงการดำเนินงานของตนเองให้เป็นไปตามข้อสั่งการของปลัดกรุงเทพมหานครและหรือข้อเสนอแนะของผู้ตรวจสอบภายใน และรายงานผลให้ทราบเป็นระยะ
หน่วยงานไม่มีความเสี่ยงหรือจุดอ่อนในการดำเนินงานได้หรือไม่
          โดยปกติ การปฏิบัติงานทุกภารกิจย่อมมีความเสี่ยงเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่จะเป็นความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ (ความเสี่ยงสูง) หรือความเสี่ยงเล็ก ๆ น้อย ๆ (ความเสี่ยงต่ำ) ขึ้นอยู่กับมาตรการการควบคุมของแต่ละงานที่กำหนดไว้และการร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการควบคุมหรือจัดการความเสี่ยงอย่างจริงจังและเกิดประสิทธิผล ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่หน่วยงานจะไม่มีความเสี่ยงใด ๆ เกิดขึ้น
สำหรับสำนักงานเขต งานด้านการจัดทำรายงานการควบคุมภายในควรอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายใด
          โดยหลักการแล้ว การจัดทำรายงานการควบคุมภายในเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงาน (ในภาพรวมของสำนักงานเขต) ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการค้นหาจุดอ่อนของการดำเนินงาน ประเมินความเสี่ยง และวางแผนการควบคุม เนื่องจากความเสี่ยงหรือจุดอ่อนของการดำเนินงานสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกฝ่าย ทั้งนี้ สำนักงานเขตอาจจะจัดทำรายงานการควบคุมภายในในรูปของคณะทำงาน เพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็นในการค้นหา ประเมิน และกำหนดมาตรการในการควบคุมความเสี่ยงของงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายต่าง ๆ โดยมีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของหน่วยงานเป็นผู้กำกับดูแลการบริหารจัดการความเสี่ยงอีกชั้นหนึ่ง
ลาพักผ่อนครึ่งวันสามารถเบิกค่าอาหารทำการนอกเวลาราชการ ได้หรือไม่
           สำนักงานตรวจสอบภายในได้เคยมีข้อสังเกตกรณีดังกล่าวในการตรวจสอบบัญชีและการเงิน และหน่วยรับตรวจได้นำข้อสังเกตนั้นไปหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง ซึ่งได้รับคำตอบว่า หากผู้ปฏิบัติงานเป็นผู้ได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจให้ปฏิบัติราชการนอกเวลาราชการปกติ ย่อมเป็นการพิจารณาแล้วว่าเป็นงานที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเร่งด่วนเป็นพิเศษ ข้าราชการหรือลูกจ้างประจำที่ได้รับอนุญาตให้ลาพักผ่อนครึ่งวันตามสิทธิ์ ย่อมสามารถอยู่ปฏิบัติราชการนอกเวลาปกติและมีสิทธิ์ได้รับค่าอาหารทำการนอกเวลา ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจ่ายเงินค่าอาหารทำการนอกเวลา พ.ศ. 2529 (หนังสือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ กท 1305/979 ลงวันที่ 9 กันยายน 2562 เรื่อง ตอบข้อหารือเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าอาหารทำการนอกเวลา)
ขอทราบแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการตรวจสภาพรถก่อนเสียภาษีรถยนต์ประจำปีว่าหน่วยงานสามารถเบิกค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากเงินงบประมาณได้หรือไม่
          รถยนต์และรถจักรยานยนต์ของกรุงเทพมหานครได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการตรวจสภาพรถ ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 หน่วยงานสามารถนำรถไปตรวจสภาพที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 4 ที่ใกล้เคียงกับหน่วยงานได้ โดยทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ตรวจสภาพรถยนต์ไปที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 5  กรมการขนส่งทางบก หลังจากนั้น เมื่อตรวจสภาพรถยนต์เรียบร้อยแล้ว ให้ส่งผลการตรวจสภาพรถยนต์ไปที่กองทะเบียนทรัพย์สินและพัสดุ สำนักการคลัง เพื่อดำเนินการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี โดยหน่วยงานสามารถดำเนินการได้ก่อนครบกำหนดชำระภาษี 3 เดือน ทั้งนี้ หากหน่วยงานผู้ครอบครองรถมีความประสงค์ที่จะนำรถเข้าตรวจสภาพกับสถานที่ตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) หน่วยงานจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจสภาพรถด้วยตนเอง
การใช้รถส่วนกลางปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ผู้อำนวยการเขตสามารถมอบอำนาจให้ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตหรือหัวหน้าฝ่าย เป็นผู้อนุมัติได้หรือไม่
          คำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 4756/2561 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2561 เรื่อง มอบอำนาจให้ข้าราชการปฏิบัติราชการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานครได้มอบอำนาจการอนุมัตินำรถส่วนกลางออกนอกเขตกรุงเทพมหานครหรือปฏิบัติงานนอกเวลาราชการให้ผู้อำนวยการเขตเท่านั้น จึงไม่สามารถมอบอำนาจต่อให้กับผู้อื่นได้
ใบเสร็จเงินสด (บ.11) จำนวน 1 เล่ม โรงเรียนสามารถใช้งานต่อเนื่องกันหลายปีงบประมาณได้หรือไม่ เนื่องจากในแต่ละปีงบประมาณ โรงเรียนจะใช้ใบเสร็จเงินสด (บ.11) เพียงไม่กี่ฉบับ ทำให้เหลือจำนวนฉบับที่ไม่ได้ใช้งานจำนวนมาก
          ใบเสร็จเงินสด (บ.11) จำนวน 2 เล่ม ไม่สามารถใช้งานต่อเนื่องหลายปีงบประมาณได้ ตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การนำส่งเงิน และการตรวจเงิน พ.ศ. 2555 ข้อ 60 ที่กำหนดไว้ว่า ใบเสร็จรับเงินเล่มใด สำหรับรับเงินของปีงบประมาณใด ให้ใช้รับเงินของปีงบประมาณนั้น เมื่อขึ้นปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้ใบเสร็จรับเงินเล่มใหม่ ใบเสร็จรับเงินฉบับใดยังไม่ใช้ ให้คงติดไว้กับเล่ม แต่ให้ปรุ เจาะรู หรือประทับตรา “เลิกใช้” เพื่อให้เป็นที่สังเกตมิให้นำมาใช้รับเงินได้อีกต่อไป
การควบคุมสินทรัพย์ทุกประเภทภายในโรงเรียน ผู้รับผิดชอบจำเป็นต้องจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สิน (แผ่นการ์ด) หรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันได้มีการบันทึกข้อมูลดังกล่าวในระบบสารสนเทศด้านบัญชีทรัพย์สิน (MIS) ด้วย
          โรงเรียนต้องจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สิน (แผ่นการ์ด) ควบคู่กับการบันทึกข้อมูลดังกล่าวในระบบสารสนเทศด้านบัญชีทรัพย์สิน (MIS) ตามหนังสือสำนักการคลัง ที่ กท 7004/7262 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2546 เรื่อง การควบคุมทรัพย์สินในระบบบัญชีเกณฑ์คงค้างตามหลักการและนโยบายบัญชีของกรุงเทพมหานคร ซึ่งกำหนดให้ทุกหน่วยงานบันทึกทะเบียนควบคุมสินทรัพย์ทุกประเภท ทั้งที่มีตัวตนและไม่มีตัวตนที่ได้มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป รวมทั้งบันทึกประวัติการซ่อมบำรุงรักษาทรัพย์สิน (ด้านหลังแผ่นการ์ด) ตามแบบทะเบียนคุมทรัพย์สิน ควบคู่กับการบันทึกทะเบียนควบคุมในระบบบัญชีทรัพย์สิน MIS ไม่ว่าสินทรัพย์นั้นจะมีมูลค่าเท่าใด และให้บันทึกหนึ่งรายการต่อหนึ่งแผ่นการ์ด โดยไม่ต้องบันทึกในทะเบียนคุมอสังหาริมทรัพย์และทะเบียนคุมครุภัณฑ์อีก และให้หน่วยงานเก็บรักษาทะเบียนอสังหาริมทรัพย์และทะเบียนคุมครุภัณฑ์ ตั้งแต่เริ่มได้มา จนถึงปี พ.ศ. 2546 ให้เรียบร้อย เพื่อรอรับการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การจ่ายเงินให้กับผู้ขายหรือผู้รับจ้าง ใบเสร็จรับเงินต้องระบุ รายละเอียดใดบ้าง
          ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การนำส่งเงิน และการตรวจเงิน พ.ศ. 2555 ข้อ 39 กำหนดว่า ใบสำคัญคู่จ่าย (ใบเสร็จรับเงิน) ซึ่งผู้รับเงินออกให้อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
         - ชื่อและสถานที่อยู่ หรือที่ทำการของผู้รับเงิน
         - วัน เดือน ปี ที่รับเงิน
         - ลายมือชื่อผู้รับเงิน
         - รายชื่อแสดงการรับเงินที่ระบุว่าเป็นค่าอะไร
         - จำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวอักษร
หน่วยงานจัดส่งสำเนารายงานทางการเงินในแต่ละเดือนให้สำนักงานตรวจสอบภายในล่าช้าได้หรือไม่ และการส่งล่าช้าดังกล่าวจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างไร
          หน่วยงานไม่ควรส่งสำเนารายงานทางการเงินในแต่ละเดือนให้สำนักงานตรวจสอบภายในล่าช้า เพราะจะทำให้ผู้ตรวจสอบภายในไม่สามารถสอบทานความถูกต้องของข้อมูลในรายงานทางการเงินดังกล่าวได้อย่างทันกาล ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานตรวจสอบภายในได้แจ้งให้หน่วยงานเปลี่ยนวิธีการจัดส่งสำเนารายงานทางการเงิน จากเดิมที่จัดส่งในรูปแบบของเอกสาร (Document) มาเป็นการจัดส่งทางอีเมลล์ (e-mail) เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและสะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สำนักงานตรวจสอบภายในยังดำเนินการในเชิงรุกด้วยการส่งข้อมูลสำเนารายงานทางการเงินดังกล่าวให้สำนักการคลัง เพื่อนำไปสอบทานและเตรียมจัดทำรายงานทางการเงินในภาพรวมของกรุงเทพมหานครให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดด้วย 
Page 1 of 1