บทบาทและหน้าที่
          สำนักงานตรวจสอบภายใน มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการให้ความเชื่อมั่น โดยการสอบทานปฏิบัติงานรายงานผลการตรวจสอบ ให้ข้อเสนอแนะตลอดจนแนวทางการปรับปรุง แก้ไข แก่ ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานของกรุงเทพมหานคร และติดตามผลการ ตรวจสอบเพื่อให้การปรับปรุง แก้ไข เป็นไปตามข้อเสนอแนะในรายงานผลการตรวจสอบ รวมทั้งให้คำปรึกษากับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของกรุงเทพมหานคร

อำนาจหน้าที่ของสำนักงานตรวจสอบภายใน
          1. การจัดทำแผนการตรวจสอบ และปฏิบัติงานตรวจสอบทางการเงิน (Financial Audit)  ตรวจสอบการดำเนินงาน (Operational Audit) ตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อกำหนด (Compliance Audit) ตรวจสอบพิเศษ (Special Audit) ตรวจสอบการบริหาร (Management Audit) ตรวจสอบระบบงานสารสนเทศ (Information System Audit) และการตรวจติดตามผลการตรวจสอบ 
          2. การปฏิบัติงานตรวจสอบภายในให้เป็นไปตามมาตราฐานและคู่มือ/แนวปฏิบัติการตรวจสอบภายในของกรมบัญชีกลาง หรือมาตรฐานสากล
          3. การสอบทานและประเมินความเหมาะสมและเพียงพอของกระบวนการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการควบคุมภายใน เพื่อพัฒนากลไก เครื่องมือ และวิธีที่ช่วยส่งเสริมความมีประสิทธิผลของกระบวนการดังกล่าว
          4. การพัฒนางานตรวจสอบภายใน (Internal Auditing) ให้เป็นมาตรฐานในระดับที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาชีพ รวมถึงพัฒนาการตรวจสอบระบบเทคโนโลยีขององค์กร
          5. สรุปวิเคราะห์ผลการตรวจสอบและรายงานผลการดำเนินงานตามแผนการตรวจสอบเป็นรายไตรมาศและรายปีให้ผู้บริหารทราบและพิจารณา
          6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย โดยการแบ่งงานภายในส่วนราชการ ดังนี้

          ส่วนตรวจสอบภายใน 1  มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการตรวจสอบทางการเงิน (Financial Audit) โดยครอบคลุมถึงการดูแลป้องกันทรัพย์สินและการวิเคราะห์ประเมินความเพียงพอของระบบงานต่าง ๆ การตรวจสอบการดำเนินงาน (Operation Audit) เกี่ยวกับการดำเนินงานตามแผนและโครงการและหรือแผนกลยุทธ์ รวมทั้งตรวจสอบเกี่ยวกับกระบวนการปฏิบัติงาน การตรวจสอบการบริหารงาน (Management Audit) ด้านต่าง ๆ ขององค์กร การตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อกำหนด (Compliance Audit) การตรวจสอบระบบงานสารสนเทศ (Information System Audit) พิสูจน์ความถูกต้องและเชื่อถือได้ของระบบงานและข้อมูลที่ได้จากการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งครอบคลุมทุกงานที่นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการปฏิบัติงาน และการตรวจสอบพิเศษ (Special Audit) กรณีที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายบริหารหรือกรณีที่มีการทุจริตหรือการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตหรือผิดกฎหมายหรือกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตหรือประพฤติมิชอบเกิดขึ้น ติดตามประเมินผล รวมทั้งเร่งรัดการปรับปรุงการปฏิบัติงานและการควบคุมภายในของหน่วยงานให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะ ให้คำปรึกษากับหน่วยงานเพื่อให้ข้อเสนอแนะในการควบคุม กำกับดูแลและการปรับปรุงการปฏิบัติงานของหน่วยงานให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย โดยรับผิดชอบกลุ่มงานตรวจสอบการบริหารการคลังและการพาณิชย์ กลุ่มงานตรวจสอบการสาธารณสุข กลุ่มงานตรวจสอบการสาธารณูปโภคและป้องกันภัย และกลุ่มงานตรวจสอบสังคมและสิ่งแวดล้อม

          ส่วนตรวจสอบภายใน 2  มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับส่วนตรวจสอบภายใน 1 โดยรับผิดชอบกลุ่มงานตรวจสอบการศึกษา กลุ่มงานตรวจสอบสำนักงานเขต และกลุ่มงานตรวจสอบพิเศษ

          ฝ่ายบริหารงานทั่วไป  มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงานสารบรรณและธุรการทั่วไป งานการเจ้าหน้าที่ งานคลังและงบประมาณ งานการพัสดุ งานการประชุม งานดำเนินการฝึกอบรมต่าง ๆ งานแผนงาน ยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัดและประเมินผลการปฏิบัติราชการ งานควบคุมดูแลสถานที่และยานพาหนะของสำนักงาน และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย

          กลุ่มงานพัฒนางานตรวจสอบภายใน  มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ต่าง ๆ รวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานประเภทต่าง ๆ เพื่อเสนอผู้บริหารกรุงเทพมหานคร การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน การกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในแก่หน่วยรับตรวจและผู้ที่สนใจ พร้อมสร้างเครือข่ายทางวิชาชีพ ปฏิบัติงานตรวจสอบเพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาวิธีการตรวจสอบให้ทันสมัยและมีความก้าวหน้า รวมถึงตรวจสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยประเมินทั้งการควบคุมโปรแกรมประยุกต์ (Application Control) และการควบคุมทั่วไป (General Control) สอบทานและประเมินความมีประสิทธิภาพของกระบวนการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในทั้งในระดับหน่วยงานและกรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนากลไก เครื่องมือ และวิธีการที่ช่วยส่งเสริมความมีประสิทธิผลของกระบวนการดังกล่าว สอบทานและประเมินความมีประสิทธิภาพของทะเบียนความเสี่ยงของกรุงเทพมหานคร (BMA Risk Register) ประสานงานงานและจัดประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงระดับกรุงเทพมหานคร (Risk Management Committee) พัฒนากระบวนการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน การกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน พัฒนางานตรวจสอบภายในให้เป็นมาตรฐานสากล พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน รวมถึงการบำรุงรักษาระบบงานและควบคุมดูแลศูนย์ข้อมูลของสำนักงาน และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย