การตรวจสอบภายใน
หมายถึงการให้ความเชื่อมั่นและให้คำปรึกษาอย่างเที่ยงธรรมและเป็นอิสระเพื่อเพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กร การตรวจสอบภายในช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้วยการประเมินและปรับปรุงประสิทธิผลของกระบวนการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) การควบคุมภายใน (Internal Control) และการกำกับดูแล(Governance) อย่างเป็นระบบและเป็นระเบียบ
ความสำคัญของการตรวจสอบภายใน
1. เป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารในการจัดการองค์กร (Management Tools) เพื่อสร้างความมั่นใจ อย่างสมเหตุสมผลว่าองค์กรนั้นมีระบบการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายในและการกำกับดูแลที่ดีอยู่ในระดับที่เพียงพอและเหมาะสม
2. สนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครให้มีความถูกต้อง เชื่อถือได้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประหยัด โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับ
3. ดูแลการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครแทนผู้บริหารและประชาชน เพื่อให้มีความรวดเร็ว เป็นธรรมสุจริต และเกิดประโยชน์สูงสุดกับกรุงเทพมหานคร
ประเภทของการตรวจสอบภายใน
1. การตรวจสอบทางการเงิน (Financial Audit)
2. การตรวจสอบดำเนินงาน (Performance Audit)
3. การตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อกำหนด (Compliance Audit)
4. การตรวจสอบพิเศษ (Special Audit)
5. การตรวจสอบการบริหาร (Management Audit)
6. การตรวจสอบระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Audit)
ปัจจบัน สำนักงานตรวจสอบภายใน สามารถตรวจสอบได้ 4 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 - 4 (เฉพาะข้อ 2 ยังสามารถทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องความรู้เฉพาะทาง) ส่วนการตรวจสอบประเภทที่ 5 และ 6 จะขยายผลต่อไปในอนาคต
ภารกิจหลักของสำนักงานตรวจสอบภายใน
สำนักงานตรวจสอบภายในมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้บริหาร หน่วยรับตรวจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เกิดความเชื่อมั่นอย่างสมเหตุสมผลว่า การดำเนินงานด้านต่าง ๆ ขององค์กรจะเป็นไปอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการให้คำปรึกษาแก่ผู้บริหารและหน่วยงาน เพื่อพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการบริหารความเสี่ยง การควบคุม และการกำกับดูแลในองค์กรให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
1. ตรวจสอบบัญชีและการเงินของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกรุงเทพมหานคร
2. ตรวจสอบและวิเคราะห์งบเงินรายรับ - รายจ่ายประจำเดือนและประจำปี
3. ตรวจสอบหลักฐานการจ่ายเงิน (ฏีกาหลังจ่าย)
4. ตรวจสอบติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงาน ตามข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
5. ตรวจสอบติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงาน ตามข้อทักท้วงของสำนักงานตรวจสอบภายใน
6. ตรวจสอบเฉพาะกิจตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือปลัดกรุงเทพมหานครมอบหมาย
7. ให้คำปรึกษาแนะนำแก่หน่วยงาน ในด้านวิชาการและการปฏิบัติงาน
8. ตรวจสอบการบริหารงบประมาณของส่วนราชการ (เงินอุดหนุนรัฐบาลตามมติ ครม.)
9. ตรวจสอบการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่นตามมติ ครม.
10. รายงานผลการควบคุมภายในต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
11. รายงานการทุจริตด้านการเงินต่อปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมบัญชี และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
12. ตรวจสอบเรื่องร้องเรียน
13. ตรวจสอบประเมินโครงการ
14. ติดตาม วิเคราะห์ และรายงานภาพรวมการบริหารงบประมาณ