โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease)

วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2561
image
ที่มา : โรงพยาบาลพญาไท

 

โรคพาร์กินสัน คืออะไร

     พาร์กินสัน เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง ซึ่งพบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์
โรคพาร์กินสัน เป็นการเสื่อมของเซลล์สมองบริเวณแกนสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างสารสื่อประสาทที่เรียกว่า โดปามีน (Dopamine) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อสารเคมีในสมองเสียสมดุลไป จึงทำให้การเคลื่อนไหวผิดปกติ

อัตราการเกิดโรคพาร์กินสัน

     พบผู้ป่วยพาร์กินสันได้ 1 คนในประชากร 1,000 คน สัดส่วนผู้ชายเมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิง 1.1:1 และมักพบโรคพาร์กินสัน ได้ในผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไป

ปัจจัยเสี่ยงของโรคพาร์กินสัน

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่ใช้ยาทางจิตเวชบางประเภท
  • ผู้ที่มีประวัติอุบัติเหตุทางศีรษะ
  • อาชีพที่เสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนศีรษะ เช่น นักมวย นักฟุตบอล
  • พันธุกรรม พบเป็นส่วนน้อย

อาการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว

  • อาการสั่น จะสั่นในขณะอยู่เฉยๆ หรือขณะพัก
  • กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง การเคลื่อนไหวช้า
  • ก้าวขาลำบาก ก้าวเท้าสั้นๆ หกล้มง่าย

อาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว

  • นอนละเมอ ฝันร้ายบ่อยๆ
  • ท้องผูก เรื้อรัง
  • ภาวะซึมเศร้า
  • พูดเสียงเบา พูดช้าลง
  • ผู้ที่เป็นมากอาจมีปัญหาการกลืนลำบาก สำลักบ่อย

ผลกระทบจากโรคพาร์กินสัน

  • ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เนื่องจากเคลื่อนไหวลำบาก อาจทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองไม่ได้ดีเหมือนเดิม
  • เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่นการหกล้ม ทำให้ได้รับบาดเจ็บ
  • ผลกระทบทางจิตใจ เมื่อทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองไม่ได้ เข้าสังคมไม่ได้
  • มีผลกระทบทางสังคม เข้าสังคมลำบากขึ้น อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการพูดการสื่อสาร มีอาการสั่นทำให้เสียบุคลิก
  • ผลกระทบต่อครอบครัว ที่ต้องสละเวลามาช่วยดูแล อาจเพิ่มความกังวลของคนในครอบครัว
  • กระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากทำงานไม่ได้เหมือนเดิม และต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา

การตรวจวินิจฉัย

  • จากการซักประวัติ ตรวจอาการ ตรวจร่างกายทางระบบประสาท
  • เอกซเรย์สมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Brain) เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายพาร์กินสัน
  • การตรวจ PET Brain F-Dopa เป็นการตรวจการทำงานของสมองตรวจวัดความผิดปกติของสารโดปามีนในสมองซึ่งไม่จำเป็นจะต้องตรวจทุกราย แพทย์อาจพิจารณาเฉพาะราย

 

การรักษา พาร์กินสัน

การรักษาด้วยยา
     เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เป็นยาที่ทดแทนหรือปรับสมดุลย์ของสารโดปามีนในสมอง แต่ไม่สามารถทำให้เซลล์สมองที่เสื่อมฟื้นตัวมาได้ ต้องมาพบแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อปรับยาให้สอดคล้องกับอาการและกิจวัตรประจำวัน

การทำกายภาพบำบัด  และการออกกำลังกาย

     เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย เช่น การฝึกเดิน การฝึกพูด การฝึกกลืน วิ่ง ปั่นจักรยาน

การผ่าตัด

     เมื่อการรักษาด้วยยาไปนานๆ อาจเกิดการดื้อยา หากแพทย์ปรับการให้ยาแล้วทำให้อาการดีขึ้น ก็จะรักษาด้วยยาต่อไป แต่หากรักษาด้วยยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น จะพิจารณาการผ่าตัด ด้วยการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation, DBS) 

การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation, DBS)

     แพทย์จะพิจารณาผ่าตัด (DBS) ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมอาการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติด้วยยาได้แล้ว ยาอาจหมดฤทธิ์เร็วเกินไป มีอาการยุกยิกจากยา หรือผู้ป่วยมีผลข้างเคียงจากยามาก
การผ่าตัด (DBS) เป็นการรักษาการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติด้วยการกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึก โดยแพทย์จะเจาะรูเล็กๆที่กะโหลกศีรษะ 2 รู ใส่สายไฟไว้ที่ในสมองโดยมีสายเชื่อมต่อผ่านใต้หนังศีรษะผ่านลงมาที่คอและหน้าอก เชื่อมเข้ากับตัวเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่ฝังไว้ที่หน้าอก ทำหน้าที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าออกไปกระตุ้นสมอง
ในขณะผ่าตัด เจาะรูกะโหลก แพทย์ให้ยาที่ทำให้หลับในระยะแรก และจะรู้สึกตัวในระหว่างฝังเครื่อง เพื่อให้แพทย์ทดสอบว่าเมื่อปล่อยกระแสไฟฟ้ากระตุ้นแล้วอาการผู้ป่วยดีขึ้นจริงหรือไม่ ก่อนที่จะทำการเย็บปิดแผล

     ข้อดีของการผ่าตัด (DBS) แพทย์สามารถปรับตั้งเครื่องได้ หลังจากผ่าตัดเพื่อให้สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วย

การดูแลผู้ป่วยพาร์กินสัน

     นอกจากการรักษาของแพทย์โดยการใช้ยา การทำกายภาพบำบัด การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย หรือการผ่าตัด ก็ตามแต่ส่วนสำคัญที่จะขาดไม่ได้ คือการดูแลเมื่อกลับบ้านและบุคคลสำคัญที่มีส่วนช่วยดูแลนั้นก็คือคนในครอบครัวเนื่องจาก อาการของโรคที่ทำให้มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกายแล้ว ยังมีอาการซึมเศร้าซึ่งเป็นภาวะทางจิตใจ อีกด้วยทำให้มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน และการเข้าสังคม การดูแลมีดังนี้

 

การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจาก เคลื่อนไหวลำบากและสูญเสียการทรงตัว เช่น
     - การเลือกรองเท้า ที่พื้นรองเท้าไม่ลื่น
     - ไม่ควรมีสิ่งกีดขวางทางเดิน
     - ในห้องน้ำ ควรมีราวจับ และพื้นห้องน้ำไม่ลื่น
     - ผู้ป่วยเดินตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เช่น การยกเท้าสูงๆก้าวยาวๆ ให้เดินช้าลง
     - การบริหารร่างกายตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดสม่ำเสมอ
     - หากเป็นมากอาจมีปัญหาการกลืน ควรเลือกอาหารที่เคี้ยวง่าย ตักพอดีคำ รอให้กลืนหมดก่อนจึงป้อนคำต่อไป
     - การดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยา และพบแพทย์สม่ำเสมอเพื่อประเมินอาการและปรับขนาดยา หรือการปรับ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ที่ฝังไว้ในร่างกาย ให้สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วย
     - ญาติควรให้กำลังใจผู้ป่วย ช่วยอำนวยความสะดวก ในการพาไปพบแพทย์ การฟื้นฟูร่างกาย การจัดอาหารให้เหมาะสม การจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย

โรคพาร์กินสันป้องกันได้ไหม

     เนื่องจากสาเหตุการเกิดโรคทางการแพทย์ยังไม่สามารถทราบชัดเจน แต่มีการสันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งเราสามารถหลีกเลี่ยงได้ เพื่อชะลอความเสื่อมของเซลล์สมอง ฉะนั้นเราควรลดปัจจัยเสี่ยงด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ การพักผ่อนให้เพียงพอ การผ่อนคลายเครียด หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้สิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ หมั่นสังเกตตนเองหรือคนในครอบครัวว่ามีอาการผิดปกติ หรือไม่ หากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีอาการบางอย่างที่คล้ายโรคพาร์กินสัน แต่อาจจะอันตรายมากกว่าพาร์กินสัน จะได้รักษาแต่เนิ่นๆ