2 รองผู้ว่าฯ กทม. ร่วมต้อนรับและแบ่งปันประสบการณ์บริหารเมืองให้แก่นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์หลักสูตรนานาชาติ มธ.

วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2566
image

(19 มิ.ย. 66) ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร รศ.ทวิดา กมลเวชช พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับคณะอาจารย์และนักศึกษา สาขาการเมืองและการระหว่างประเทศ หลักสูตรนานาชาติ (BIR) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นวิทยากรบรรยาย หัวข้อ การนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากห้องปฏิบัติการนโยบาย Policy Innovation

รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้กล่าวต้อนรับคณะอาจารย์และนักศึกษา พร้อมเล่าถึงนโยบายของกรุงเทพมหานครในด้านสุขภาวะทางสังคม (Social Well-Being) อาทิ การเปิดรับสมัครสอบคัดเลือกคนพิการเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ครั้งที่ 1/2565 ซึ่งมีผู้สมัครสอบ 585 คน โดยมีคนพิการที่ผ่านการคัดเลือกฯ 9 คน ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่จ้างคนพิการเป็นข้าราชการ การเปิดรับอาสาสมัครคนพิการปฏิบัติงานในสำนักงานเขตหรือสถานศึกษา ซึ่งการจะดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นไปได้ต้องจัดระเบียบใหม่ ปรับโครงสร้างใหม่ และแก้ไขข้อบังคับกรุงเทพมหานครบางข้อเพื่อให้เราสามารถเสนองานประเภทนี้ให้กับผู้พิการได้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการด้านสุขภาวะทางสังคมไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยกรุงเทพมหานครเพียงองค์กรเดียว แต่ต้องอาศัยเครือข่ายผู้คนจำนวนมากเพื่อทำงานร่วมกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงมีคณะกรรมการวิจัยและนวัตกรรมการพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยมีคณะอนุกรรมการสนับสนุนคณะกรรมการวิจัยและนวัตกรรมการพัฒนากรุงเทพมหานคร ได้แก่ คณะอนุกรรมการห้องทดลองเมืองกรุงเทพมหานคร (Bangkok City Lab) และคณะอนุกรรมการส่งเสริมการวิจัยกรุงเทพมหานคร (Bangkok Research Facilitation)

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวเสริมว่า เราจะสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้นจากการฝึกฝน โลกมีความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเกินกว่าการเรียนเพียงแค่ในห้องเรียน บางครั้งเราจึงควรที่จะต้องออกมานอกห้องเรียนเพื่อทำความเข้าใจกับบริบทต่าง ๆ และนำไปปรับใช้ ในเชิงนโยบายก็เช่นกัน ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้เคยกล่าวว่านโยบายมีพลวัตจึงต้องมีการปรับอยู่เสมอ จึงเป็นเหตุผลที่กรุงเทพมหานครต้องมีห้องทดลองเมือง ซึ่งเรื่องแรกที่เราทำคือเรื่อง Nudge หรือเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ออกแบบโครงการที่ช่วยสะกิด (Nudge) หรือจูงใจให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเรื่องต่าง ๆ อาทิ เรื่องคอร์รัปชัน การรณรงค์ให้เด็กใส่หมวกกันน็อก การจัดการขยะ (คัดแยกขยะต้นทาง) เป็นต้น ซึ่งเมื่อโครงการทดลองประสบผลสำเร็จก็จะขยายผลให้ครอบคลุมทุกเขตต่อไป นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้มีการจัดตั้งสภาเมืองคนรุ่นใหม่ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้นำเสนอไอเดียหรือข้อเสนอเชิงนโยบาย เพราะเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีแนวคิด มีพลัง และมีความสนใจอยากเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากรุงเทพมหานครให้ดีขึ้น ซึ่งแนวทางการทำงานของสภาเมืองคนรุ่นใหม่จะสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของคนรุ่นใหม่ เปิดพื้นที่เมืองให้ลงมือทำ ทดลองแก้ปัญหาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และผลักดันข้อเสนอสู่การรับนโยบายและการปฏิบัติจริง

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวถึงการทำ sandbox ว่า ในการทำ sandbox เมื่อคุณพลาดครั้งแรก พบข้อผิดพลาดรวดเร็ว คุณจะไม่พลาดซ้ำเดิมอีก ดังนั้น ในการทดสอบแนวคิด หากเกิดความล้มเหลว ไม่ได้ผล คุณต้องก้าวไปต่ออย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เสียงบประมาณมากเกินไป โดยสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ การตั้งงบประมาณล้มเหลวไม่ได้หมายความว่าเราล้มเหลวในการใช้งบประมาณ เพราะเราใช้จ่ายงบประมาณเพื่อพบทางเลือกที่ไม่ได้ผลและเพื่อที่เราจะได้หาทางเลือกอื่นต่อไป  

ในระหว่างการบรรยาย รองผู้ว่าฯ ทั้ง 2 ท่าน ได้ยกตัวอย่างนโยบายนำร่องต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร รวมถึงการทำ hackathon ร่วมกับเหล่าสตาร์ตอัป และในช่วงท้ายได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาซักถามข้อสงสัย พร้อมตอบคำถามในประเด็นต่าง ๆ หลังจากนั้นจึงถ่ายภาพที่ระลึกร่วมกัน

Credit : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร