วัดบางปะกอก
ตั้งอยู่เลขที่ 86 หมู่ที่ 1 ซอยสุขสวัสดิ์ 19 ถนนสุขสวัสดิ์ แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร
เดิมเป็นวัดโบราณ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้กลายเป็นวัดร้างเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา
ครั้งที่ 2 จากการที่ทำเลที่ตั้งของวัดอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มและอยู่ริมคลอง ประมาณปี 2325 จึงมีผู้คนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน
บริเวณวัดเป็นจำนวนมาก หลังจากที่ร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเสร็จแล้วก็ได้ขนามนามตามชื่อคลองว่า
"วัดบางปะกอก" และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี 2327 โดยมีเจดีย์อยู่ 2 องค์
สร้างเป็นแบบศิลปะมอญและศิลปะเขมร มีวิหารอยู่ 2 หลัง หลังแรกสร้างด้วยปูนเป็นศิลปะแบบเขมร
ส่วนหลังที่สองสร้างด้วยไม้สัก มีลวดลายฉลุ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
ส่วนหอไตรสร้างเป็นทรงไทยอยู่กลางสระน้ำ
วัดนี้มี " หลวงปู่พริ้ง" เป็นที่เคารพบูชาของชาวราษฎร์บูรณะ
 
วัดแจงร้อน
ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนราษฎร์บูรณะ แขวงราษฎร์บูรณะ เขตเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บริเวณริม
แม่น้ำเจ้าพระยา มีชื่อเดิมว่า "วัดหงษ์ร่อน" เป็นวัดราษฎร์เก่าแก่ตั้งแต่สมัยอู่ทอง หรือลพบุรี และเปลี่ยนชื่อมาเป็น
"วัดแจงร้อน" ภายในวิหารหลวงจะเป็นที่ประดิษฐานของ "หลวงพ่อวิหารแดง"
เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิทำมาจากศิลาแลงสีแดง บริเวณกรอบหน้าบันพระหารด้านนอกเป็นกรอบเกลี้ยง
ไม่มีลวดลาย เป็นศิลปะแบบสมัยรัชกาลที่ 3 ลายปูนปั้นบนซุ้มประตูหน้าต่าง
พระอุโบสถ มีทั้งหมด 14 บาน ปั้นขึ้นในปี 2468 หรือประมาณสมัยต้นรัชการที่ 7 เป็นลายปูนปั้นรูปผลไม้
เช่น ทับทิม น้อยหน่า มะม่วง สับปะรถ ลายสัตว์น้ำ เช่น กบ ปลาทอง ปลาหมึก ปลาตีน ปู และลายสัตว์อื่นๆ
เช่น กระต่าย ค้างคาว ช้างสามเศียร แพะ หมาจู ลวดลายเหล่านี้ทำได้แปลกตาและปราณีตงดงาม
ตู้พระธรรม มีจำนวน 2 ใบ เป็นของเก่าแก่โบราณ ทำขึ้นในสมัยรัชการที่ 1
ส่วนศาลาการเปรียญ สร้างขึ้นเมื่อปี 2470 ที่หน้าบันทำเป็นลายปูนปั้นหมูป่ากำลังโผล่หน้าออกมาจากปากถ้ำ
โดยประดับด้วยกระจกสีเป็นรูปป่า
 
วัดประเสริฐสุทธาวาส
ตั้งอยู่เลขที่ 10 หมู่ที่ 4 ซอยสุขสวัสดิ์ 27 ถนนราษฎร์พัฒนา แขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ เป็นวัดเก่า
สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นศิลปะแบบจีนโดยแท้ ได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเล่ากันว่า
มีชาวจีนซึ้งเลี้ยงหมูในแถบนั้น เมื่อคราวไปเก็บผักมาเลี้ยงหมูได้ไปพบเงินเข้า 3 ตุ่ม
จึงนำเงินนั้นมาบูรณะปฏิสังขรณ์วัด จากนั้นจึงทูลเกล้าฯ ถวายวัดตามจารึกในพระอุโบสถ
เมื่อปี 2381 สันนิษฐานว่าจีนผู้นั้นน่าจะเป็นพระประเสริฐวานิช ซึ่งคงได้รับพระราชทาน
บรรดาศักดิ์เมื่อคราวที่สร้างวัดเสร็จ ใบเสมารอบพระอุโบสถ เป็นเสมาเดี่ยวทำจากหินทรายแดง
สันนิษฐานว่าเป็นเสมาที่มีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา พระประธานในพระวิหารเป็นพระศิลาสีแดง
ลงรักปิดทองปางมารวิชัยมีนามว่า "พระสร้อยสุวรรณรัตน์" พระวิหารเป็นทรงโบราณแต่ปฏิสังขรณ์ใหม่
หน้าบันเป็นลวดลายปูนปั้นประดับกระเบื้องพระอุโบสถ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊กเขียนรอบผนัง
4 ด้าน เป็นฝีมือช่างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ลายปูนปั้นประดับกระเบื้องที่หน้าบัน และหลังคา
ตลอดจนเครื่องหลังคาเป็นศิลปะจีน
 
วัดสน
พระอุโบสถของวัดสนเป็นสถาปัตยกรรมของไทยแท้ ๆ ฝาผนังพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน เป็นภาพเขียนลายไทยที่งดงาม
จากช่างฝีมือในสมัยโบราณ และที่แปลกไปกว่าวัดอื่น ๆ คือฝาผนังพระอุโบสถประดับตกแต่งด้วย
ชามเบญจรงค์จำนวนมากมาย ภายในวัดมีของดีที่น่าเยี่ยมชมและกราบนมัสการเป็นศิริมงคล ได้แก่
"ศาลาการเปรียญ" วัดแห่งนี้มีศาลาการเปรียญ 2 หลัง หลังแรกสร้างด้วยไม้สักล้วนๆ
มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี ส่วนศาลาการเปรียญหลังใหม่จะมีความวิจิตรสวยงาม โดยมีบันไดพระยานาค
ทอดยาวขี้นไปสูง สามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของกรุงเทพมหานคร และรูปเหมือน " หลวงปู่โม้ "
เป็นเกจิอาจารย์ที่ชาวราษฎร์บูรณะรู้จักดี เป็นที่เคารพและนับถือ มีความศักดิ์สิทธิยิ่งหากผู้ใดได้เคารพกราบไหว้
ท่านจะแคล้วคลาดจากภัยพิบัติทั้งปวง
 
สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา (ฝั่งธนบุรี)
เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจริมแม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมทั้งเป็นที่ออกกำลังกายหลายๆ อย่าง เช่น ลานแอโรบิคแด๊นซ์
ซึ่งในแต่ละวันจะมีสมาชิกกว่า 400 คน มาออกกำลังกายพร้อมทั้งสนามกีฬาเกือบทุกประเภท

สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ นี้มีเนื้อที่ 23 ไร่ และเป็นที่ตั้งศูนย์นันทนาการชุมชนเขตราษฎร์บูรณะ
บริเวณใต้สะพาน ถนนราษฎร์บูรณะ
 
สวนสมุนไพร
เป็นสวนเกษตรในเมือง มีพันธุ์ไม้สมุนไพรหลากหลายชนิด ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 5 ตารางวา ซึ่งเจ้าของที่ดิน
มอบให้ทางเขตราษฎร์บูรณะจัดทำเป็นสวน ปัจจุบันเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ของ นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจทั้วไป
สวนแห่งนี้สามารถใช้เป็นห้องเรียนธรรมชาติ เป็นแหล่งการเรียนรู้ตามสภาพจริง