ย้อนหลังไปประมาณสองร้อยปีก่อน  ท้องที่เขตปทุมวันมีลักษณะเป็นทุ่งนา มีสภาพเป็นชนบทชานเมืองการไปมาหาสู่ใช้เส้นทางคมนาคม เพียงทางเดียว คือ ทางเรือ โดยมีคลองแสนแสบเป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมกับคลองผดุงกรุงเกษม 

 
              ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เสด็จทอดพระเนตรบริเวณนี้ พระองค์ทรงเห็นว่าบริเวณคลองแสนแสบ ด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นเขตนาหลวง มีบัวพันธุ์ไทย ขึ้นตามหนองบึงอยู่มาก จึงมีพระราชประสงค์จัดทำเป็นสระบัวชานกรุงขึ้นไว้สำหรับเป็นที่ประทับพักผ่อน  ได้ทรงนิมนต์พระสงฆ์มารับบิณฑบาตโดยสม่ำเสมอ


               ต่อมาได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามหลวงขึ้น และพระราชทานพระอารามหลวงนั้นว่า  "วัดปทุมวนาราม"  ซึ่งมีความหมายว่า  "ป่าบัว" บริเวณดังกล่าวจึงมีชื่อเรียกว่า "ตำบลปทุมวัน" ซึ่งได้แก่วัดปทุมวนารามและบริเวณใกล้เคียง  ส่วนที่ประทับยามเสด็จประภาสสวนสระบัวก็คือ "พระราชตำหนักวังสระปทุม"
              ครั้นใน พ.ศ.2457 กรมพระนครบาลได้ประกาศจัดตั้งอำเภอปทุมวันขึ้น  โดยในระยะแรกได้ใช้ที่ว่าการอำเภอสามแยก (ซึ่งตั้งอยู่มุมถนนทรงวาด) เป็นที่ทำการ เมื่อ พ.ศ.2459 จึงได้จัดตั้งที่ว่าการอำเภอปทุมวันขึ้น และมีที่ทำการอยู่มุมสี่แยกปทุมวัน  เนื่องจากระดับชั้นของความเจริญเติบโตของอำเภอปทุมวันอยู่ในระดับสูง ประชาชนหลั่งไหลอพยพเข้ามาประกอบการค้า และทำมาหากินในท้องที่ปทุมวันมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านการจราจร ด้านความเป็นระเบียบเรียบร้อย ประกอบกับอาคารของ  ที่ว่าการอำเภอปทุมวันเดิมนั้น อยู่ในภาพชำรุด ทรุดโทรมและคับแคบ ประชาชนติดต่อราชการไม่สะดวก
ในปี พ.ศ.2506 จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาอยู่ในที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ สำนักงานเขตปทุมวัน ตั้งอยู่เลขที่216/1 ซอยจุฬาลงกรณ์ 5 ถนนพระราม 4 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 


 ต่อมาเดือนมิถุนายน ปีพ.ศ.2558 ได้ย้ายมาอยู่ยัง สำนักงานเขตปทุมวัน(ชั่วคราว) ณ อาคารไทยยานยนตร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ 12/1-4 ซอยรองเมือง 5 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร


(update 25 ธ.ค. 59)