ความเป็นมาสำนักการแพทย์
ความเป็นมาสำนักการแพทย์
สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกรุงเทพมหานคร (ตามประกาศคณะปฏิวัติให้ปฏิรูปการปกครองของกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2517 และจัดส่วนราชการ) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินการให้บริการตรวจรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค บริหารจัดการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน การจัดการศึกษา ฝึกอบรม และพัฒนาทางวิชาการทางการแพทย์และการพยาบาล โดยมีโรงพยาบาลในสังกัดทั้งสิ้น 11 แห่ง ประกอบด้วย 1)โรงพยาบาลกลาง 2)โรงพยาบาลตากสิน 3)โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 4)โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ 5)โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ 6)โรงพยาบาลนคราภิบาล 7)โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 8)โรงพยาบาลสิรินธร 9)โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน 10)โรงพยาบาลคลองสามวา 11)โรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำนวนเตียงผู้ป่วยที่ให้บริการกว่าสองพันเตียง
นอกเหนือภารกิจทางด้านการรักษาพยาบาลแล้ว ยังมีหน่วยงานที่ให้บริการทางการแพทย์อีกหน่วยงานหนึ่งคือ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร หรือ ศูนย์เอราวัณ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ให้คำปรึกษาแนะนำด้านปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน โทร.1669 เป็นศูนย์กลางประสานงานและพัฒนาเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งในสถานการณ์ปกติและกรณีสาธารณภัย อุบัติเหตุ อุบัติภัย และวินาศกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงภัยจากการก่อการร้าย ศึกษา วิจัย จัดทำสถิติข้อมูลและสารสนเทศ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน การบริหารจัดการด้านการเงินในระบบการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน และเปิดให้บริการ Hotline 1646 สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร บริการตลอด 24 ชั่วโมง รับตอบปัญหาและให้คำปรึกษา หากต้องการพบแพทย์จะเชื่อมต่อสายไปยังศูนย์ BFC : Bangkok Fast & Clear ศูนย์บริหารราชการฉับไว ใสสะอาด ของแต่ละโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานสนับสนุนอีกสองหน่วยงานคือ 1)สำนักงานเลขานุการสำนักการแพทย์ มีหน้าที่เกี่ยวกับงานสารบรรณและธุรการทั่วไป งานช่วยอำนวยการและเลขานุการ งานคลัง การเงินและบัญชี การงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารงานบุคคล งานนิติการของสำนักการแพทย์ และงานอื่นๆ 2)สำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการวางแผน จัดทำแผนปฏิบัติราชการของสำนักการแพทย์ และควบคุม กำกับ ติดตามการดำเนินโครงการพัฒนาระบบสาธารณสุข กำหนดนโยบายและบริหารจัดการเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร พัฒนาบุคคลากรทั้งในและนอกสังกัดสำนักการแพทย์ โดยมีศูนย์วิจัยและแพทยศาสตรศึกษา ในการขับเคลื่อนทางการพัฒนา ค้นคว้า วิจัย สร้างระบบเครือข่ายสาธารณสุขให้บริการทางวิชาการ ตรวจสอบ วิเคราะห์ พิจารณาโครงการและผลงานทางวิชาการ ค้นคว้าเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ โดยเฉพาะการส่งเสริมการศึกษาระดับอุดมศึกษา การศึกษาต่อเนื่อง และการศึกษาหลังปริญญา (Post Graduate) ร่วมกับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งในกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภายนอก เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปอย่างต่อเนื่อง และการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจด้านสุขภาพคนเมือง โดยมีศูนย์ข้อมูลข่าวสารความรอบรู้ด้านสุขภาพสำนักการแพทย์ กรุงเทพหานคร หรือ MSD Info Literacy Center ทำหน้าที่ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพ รวบรวมข้อมูลทางการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้ปัจจุบันสำนักการแพทย์มีส่วนราชการในสังกัดทั้งสิ้น 14 ส่วนราชการ ประกอบด้วย โรงพยาบาล 11 แห่ง ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักงานเลขานุการสำนักการแพทย์ และสำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์
จากการให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป ที่เน้นการพัฒนาระบบการบริการผู้ป่วยแบบองค์รวม โดยการส่งเสริมสุขภาพอนามัย ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมถึงการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องแล้ว กลุ่มผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องมีการจัดบริการให้อย่างเหมาะสม ได้แก่ การจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่มารับบริการในโรงพยาบาลการพัฒนาศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีให้สามารถให้บริการผู้ถูกกระทำได้อย่างครบวงจร โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ พร้อมเครือข่ายรองรับในการประสานการให้บริการ การจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์