ปวดศีรษะ เป็นโรคอะไรได้บ้าง ?

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
image

ปวดศีรษะ เป็นโรคอะไรได้บ้าง ?

ปวดศีรษะ เป็นอาการที่พบได้บ่อย สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม
1. แบบปฐมภูมิ เป็นการปวดหัวที่ไม่มีพยาธิสภาพซับซ้อน ได้แก่
- ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ มักปวดหัวข้างเดียวโดยเฉพาะรอบดวงตา มักพบในเพศชาย อาจมีตาแดง น้ำตาน้ำมูกไหลร่วมด้วย และเกิดในช่วงเวลาเดิมๆ เช่น ตอนกลางคืน
- ปวดหัวจากความเครียด มักปวดแบบตื้อๆบีบๆทั้งศีรษะ โดยเฉพาะท้ายทอยร้าวมารอบหน้าผาก มักเป็น 2 ข้าง แต่จะปวดไม่มาก ยังพอทำงานได้ปกติ
- ปวดหัวจากไมเกรน มักปวดแบบตุ้บๆตามจังหวะเส้นเลือดเต้นบริเวณขมับ ปวดรุนแรง มักปวดข้างเดียวแต่อาจลามไปทั่วศีรษะได้ สลับข้างได้ ไวต่อแสงไฟและเสียงรบกวน มีคลื่นไส้อาเจียน มักพบในเพศหญิง อาจมีอาการนำมาก่อน เช่น เห็นแสงวาบ เห็นภาพซ้อน ชาปลายมือ

การรักษาในกลุ่มนี้ คือการให้ยาลดอาการปวด เช่น พาราเซตามอล ยากลุ่ม NSAIDs ร่วมกับการลดความเครียด และออกกำลังกาย

- ปวดหัวจากไซนัสอักเสบได้ โดยคนไข้จะปวดบริเวณหน้าผาก จมูกหรือโหนกแก้ม ร่วมกับคัดจมูก น้ำมูกข้น

การรักษาคือการให้ยาฆ่าเชื้อและการล้างจมูก

2. ปวดหัวในกลุ่มที่มีพยาธิสภาพ เช่น เนื้องอก หลอดเลือดสมองผิดปกติ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งลักษณะอาการปวดที่ต้องระวังและควรมาพบแพทย์ เช่น ปวดหัวรุนแรงครั้งแรกแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ปวดมากเรื่อยๆไม่ตอบสนองต่อการรักษา มีแขนขาอ่อนแรงปากเบี้ยว ซึมลง มีไข้หรือชัก มีประวัติหัวกระแทกมาก่อน เป็นต้น

เรียบเรียง: พญ.เมธาวี สถาวรานนท์ นายแพทย์กลุ่มงานเวชศาสตร์ชุมชน
วาดภาพ: น.ส.ณิชชารีย์ พิริยจรัสชัย พยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไปและพยาบาลเฉพาะทางด้านผู้สูงอายุ
ที่มา : สร้างเสริมสุขภาพ รพ.กลาง