เมื่อโจทก์ หรือ จำเลย ถึงแก่ความตาย คดีจะเป็นอย่างไร?

วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560
image


คงนึกสงสัยว่าเมื่อฝ่ายโจทก์ หรือฝ่ายจำเลย ได้ถึงแก่ความตายหลังจากที่ได้มีการฟ้องร้องคดีต่อศาลแล้วจะส่งผลให้คดีความที่ฟ้องร้องกันนั้นจบลง หรือไม่ อย่างไร? ซึ่งสามารถอธิบายได้3กรณี 

(กรณีที่ 1 ในคดีเเพ่ง กรณีโจทก์ หรือ จำเลย ถึงเเก่ความตาย)

สำหรับคดีแพ่งนั้น ความตายไม่ทำให้คดีที่ค้างพิจารณาอยู่นั้นสิ้นสุดไป เพราะกฎหมายกำหนดให้มี การรับมรดกความกันได้ ตามหลักแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 42 ที่กำหนดไว้ว่า “เมื่อโจทก์หรือจำเลย ตายในระหว่างคดีค้างพิจารณา ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาคดีไปจนกว่าทายาทของผู้ตายหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือบุคคลอื่นที่ปกครองทรัพย์มรดกไว้มีคำขอมาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์หรือจำเลยที่ตายไป หรือจากการที่โจทก์หรือจำเลย ฝ่ายที่เหลืออยู่มีคำขอให้ศาลเรียกเข้ามา กำหนดเวลาที่จะเข้ามารับมรดกความแทนที่โจทก์หรือจำเลยที่ตายไปนั้นต้องกระทำภายในระยะเวลาหนึ่งปีหลังจากที่ผู้นั้นตายไป”

--------> คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4014/2555
เมื่อปรากฏว่า ก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ท. ซึ่งอ้างว่าเป็นทายาท และเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ยื่นคำแถลงว่า โจทก์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2552 โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์แล้ว ศาลชั้นต้นรับคำแถลงและให้ส่งสำเนาให้จำเลยโดยแจ้งในคำสั่งว่า หากจำเลยจะคัดค้านให้ยื่นคำคัดค้านเข้ามาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหมาย จำเลยได้รับหมายนัดแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยยื่นคำคัดค้านแต่อย่างใด จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ได้ถึงแก่กรรมในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะต้องเลื่อนการนั่งพิจารณาคดีรวมทั้งการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ออกไปเพื่อดำเนินการให้มีผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ก่อน การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไป โดยยังไม่มีผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น

“ถ้าไม่มีการขอเข้ามารับมรดกความภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเรื่องนั้นเสียจากสารระบบความ” คดีที่รับมรดกความแทนที่กันได้นั้นต้องเป็นคดีที่เกี่ยวด้วยทรัพย์สินหรือสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ตายซึ่งเป็นมรดกตกทอดไปยังทายาทได้ หากคดีนั้นเป็นคดีที่เกี่ยวกับสิทธิเฉพาะตัวของผู้ตาย เช่น สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน ก็ไม่อาจเข้าแทนที่รับมรดกความต่อไปได้และคดีที่เป็นสิทธิเฉพาะตัวนี้ หากไม่มีการเข้ามาเป็นโจทก์หรือจำเลยแทน ศาลย่อมมีอำนาจจำหน่ายคดีได้ แม้จะยังไม่พ้นหนึ่งปีก็ตามเพราะถือว่าคดีนั้นไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาต่อไป 

(กรณีที่ 2 คดีอาญาที่ผู้เสียหาย(โจทก์)ยื่นฟ้องแล้วได้ตายลง)

ในคดีอาญานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 29 กำหนดหลักไว้ว่า “เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาจะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้” ผู้เสียหายในที่นี้ หมายความถึง ผู้เสียหายที่แท้จริงที่ยื่นฟ้องไว้แล้วตายไป ส่วนผู้มีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไป ได้แก่ ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา ในกรณีผู้บุพการีและผู้สืบสันดานนั้น กฎหมายถือตามสายโลหิต สามีหรือภริยานั้น จะต้องจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ที่สำคัญบุคคลเหล่านี้จะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปหรือจะไม่รับ ดำเนินคดีก็ได้ แต่หากบุคคลดังกล่าวประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปก็ให้ยื่นคำร้องต่อศาลขอดำเนินคดีต่อไปโดยใช้ฟ้องซึ่งผู้ตายได้ฟ้องไว้เดิม ในทางตรงกันข้าม หากบุคคลเหล่านั้นไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ถ้าเป็นคดีความผิดอาญาแผ่นดิน คือ ความผิดที่ยอมความกันไม่ได้ เช่น ฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนานั้นถือว่าผู้เสียหายฟ้องแทนแผ่นดิน ถ้าผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้วตายลงระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นแล้วไม่มี ผู้เข้ามาดำเนินคดีแทนศาลอาจพิพากษายกฟ้อง เพราะไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลย ต่างกับกรณีที่ผู้เสียหายยื่นฟ้องไว้แล้วตายไประหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณี ซึ่งศาลสูงสามารถพิจารณาคดีต่อไปได้โดยอาศัยพยานหลักฐานที่นำสืบไว้แล้วในศาลชั้นต้น ส่วนคดีความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ เช่น ยักยอก ฉ้อโกง หรือ หมิ่นประมาทนั้น ไม่ถือว่าผู้เสียหายฟ้องแทนแผ่นดิน หากผู้เสียหายยื่นฟ้องไว้แล้วตายไปโดยไม่มีผู้เข้ามาดำเนินคดีต่อไป ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปศาลต้องจำหน่ายคดี เว้นแต่ คดีนั้นดำเนินมาถึงขั้นทำคำพิพากษาเสร็จแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปได้

-------->คำพิพากษาฎีกาที่ 1303/2551 
(--ป.วิ.อ. มาตรา 5, 15, 29--)
ผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาจะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปได้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 29 ซึ่งบัญญัติเรื่องการเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จึงนำ ป.วิ.พ. มาตรา 42 และมาตรา 43 มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้ จ. ยื่นคำร้องอ้างว่าเป็นสามีของโจทก์ร่วมขอเข้ารับมรดกความของโจทก์ร่วมซึ่งถึงแก่ความตาย เท่ากับ จ. ขอเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีในฐานะผู้จัดการแทน ส. ผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) จ. ซึ่งเป็นสามีของโจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมตาม มาตรา 29 เพราะโจทก์ร่วมเป็นเพียงผู้จัดการแทน ส. ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดี

เเต่ถ้า้ผู้เสียหายตายก่อนยื่นฟ้องจะใช้ ป.วิ.อ. มาตรา 29 ไม่ได้ ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้ 

---------> คำพิพากษาฎีกาที่ 2219/2521 
(--ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 4, 5, 6--)
จำเลยกระทำความผิดต่อ ช.เจ้ามรดกในขณะที่ช.ยังมีชีวิตอยู่ ช.จึงเป็นผู้เสียหาย เมื่อช.ถึงแก่ความตาย โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมของช.ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนช. เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 4,5 และ 6 ไม่ได้ให้อำนาจโจทก์ไว้ ทั้งสิทธิฟ้องคดีอาญาไม่ตกทอดมายังโจทก์ แม้จะพิจารณาได้ความตามฟ้องว่าทรัพย์มรดกของ ช.ตกได้แก่โจทก์ก็ตามแต่ทรัพย์มรดกนั้นก็เพิ่งตกมาเป็นของโจทก์ภายหลังวันที่จำเลยกระทำความผิด โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

(กรณีที่ 3 ความตายของจำเลยในคดีอาญาเป็นเหตุให้คดีระงับ)

หลักกฎหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 กำหนดว่า “สิทธินำคดีอาญามาฟ้อง ย่อมระงับไปโดยความตายของผู้กระทำผิด” เนื่องจากความรับผิดทางอาญาและโทษทางอาญานั้น กฎหมายถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้กระทำความผิดโดยแท้ เพราะฉะนั้น เมื่อจำเลยตายในระหว่างการดำเนินคดี ไม่ว่าในชั้นสอบสวน หรือชั้นพิจารณาคดีก็ตามย่อมทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไป หากคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลศาลต้องจำหน่ายคดี และแม้ศาลจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ต้องรับโทษแล้วก็ตาม โทษตามคำพิพากษานี้ก็เป็นอันระงับไปด้วยความตายของจำเลย แม้เป็นโทษปรับหรือริบทรัพย์ซึ่งเป็นโทษที่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็ไม่ตกทอดไปยังทายาทครับ


#มรดกความ #ผู้เสียหายถึงเเก่ความตาย #กรณีโจทก์จำเลยเสียชีวิต #เสียชีวิตระหว่างมีคดีความ

Update 13/3/60