การให้บริการของฝ่ายพัฒนาชุมชน
 
  1. หน้าที่และความรับผิดชอบ
1. งานด้านพัฒนาชุมชน
ส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชน โดยจัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการชุมชน ตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยกรรมการชุมชน พ.ศ.2534 ดำเนินการเพื่อพัฒนาศักยภาพและการสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มองค์กรชุมชนและประชาคมต่าง ๆ การพัฒนาชุมชนด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต การส่งเสริมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น การศึกษาชุมชน การจัดทำฐานข้อมูล การจัดทำแผนแม่บทชุมชน การพัฒนาศักยภาพของชุมชน การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร การสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง การแก้ไขปัญหาสังคม และความยากจนเชิงบูรณาการ การเสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การป้องกันและการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน ตลอดจนการประสานงานกับองค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อการพัฒนาชุมชน
2. งานด้านสวัสดิการสังคม
ดำเนินงานด้านศูนย์บริการด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสเพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพ จัดสวัสดิการด้านต่าง ๆ รวมทั้งการให้คำปรึกษา แนะนำแก่ผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน การสำรวจข้อมูลด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส เสริมอาชีพสร้างรายได้แก่ผู้มีรายได้น้อย เบิกจ่ายเงินสนับสนุนค่าครองชีพประจำวันแก่ผู้สูงอายุ และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันครอบครัว ส่งเสริมสนับสนุนกิจการด้านการกีฬา นันทนาการ ห้องสมุดชุมชน การออกกำลังกาย โดยส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารลานกีฬา การจัดแข่งขันกีฬา รวมทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงาน
3. งานด้านการพัฒนาการเกษตร และส่งเสริมอาชีพ
ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร รวมทั้งเทคโนโลยีการเกษตร โดยสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร การส่งเสริมและจัดทำแผนการเกษตรแบบครบวงจรตามแนวทฤษฎีใหม่ “เศรษฐกิจพอเพียง” การสำรวจข้อมูลการเกษตรและสำมะโนประชากรการเกษตรให้เป็นปัจจุบัน การพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรยากจน การพัฒนาแหล่งน้ำ เทคโนโลยีการเกษตร และภูมิปัญญาชาวบ้าน การฝึกอบรมวิชาชีพ พร้อมทั้งจัดหาสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์และผลผลิตทางการเกษตร การคัดสรรหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) การจัดให้มีการออมทรัพย์ การจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์และกองทุนเพื่อการพัฒนา
  1. การตั้งชุมชน
ตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยคณะกรรมการชุมชน พ.ศ.2534 กำหนดว่า ชุมชน หมายถึง ชุมชนแออัด ชุมชนชานเมือง เคหะชุมชน หมู่บ้านจัดสรร และชุมชนเมือง ที่กรุงเทพมหานครกำหนดขึ้น โดยทำเป็นประกาศกรุงเทพมหานคร
  1. กรรมการชุมชน
สมาชิกชุมชน คือ ผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในชุมชน ผู้อำนวยการเขตจะจัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการชุมชนขึ้นเป็นตัวแทนสมาชิกชุมชน จำนวนอย่างน้อยชุมชนละ 7 คน ถ้าชุมชนใดมีราษฎรเกิน 140 ครอบครัว ให้เลือกกรรมการชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ต่อจำนวนราษฎรทุก 20 ครอบครัว แต่กรรมการชุมชนทั้งหมด ต้องไม่เกิน 25 คน ประกอบด้วยตำแหน่งต่าง ๆ คือ ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการ เหรัญญิก นายทะเบียน ประชาสัมพันธ์ และตำแหน่งอื่น ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรแต่งตั้ง มีหน้าที่ ดังนี้
  1. ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
  2. ประสานงานและดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานราชการ องค์การ หน่วยงานเอกชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในอันที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในชุมชน
  3. พัฒนาชุมชนทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และระดมทรัพยากรในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  4. เสริมสร้างความสามัคคี และการมีวินัยของผู้อยู่อาศัยในชุมชน
  5. ส่งเสริมวัฒนธรรม ศีลธรรม และประเพณีอันดีงาม
  6. ดูแลรักษาทรัพย์สินของชุมชนและสาธารณสมบัติ
  7. เผยแพร่ผลงาน ติดตาม และรายงานการปฏิบัติงานของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เข้าไปปฏิบัติงานในชุมชนต่อผู้อำนวยการเขต
  8. แต่งตั้งผู้มีความรู้ความสามารถเหมาะสมให้เป็นที่ปรึกษา หรือคณะทำงานในฝ่ายต่าง ๆ
  1. ประโยชนที่ประชาชนได้รับจาการตั้งชุมชน
  1. มีความมั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย สามารถพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม อนามัย และจิตใจ
  2. พัฒนาองค์กรประชาชนและกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในชุมชน เช่น กลุ่มสตรี กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มออมทรัพย์ เป็นต้น
  3. ได้รับการอบรมความรู้ต่าง ๆ ตลอดจนข้อมูลข่าวสารที่จะเป็นประโยชน์แก่ชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย การฝึกอบรม ศีลธรรม วัฒนธรรม และประเพณี
  4. สนับสนุนการส่งเสริมอาชีพ
  5. ได้รับบริการด้านสวัสดิการสังคม โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน