#คลองสามวา >>> ตรวจแนะนำ เน้นย้ำถึงภัยและอันตรายจากแอมโมเนีย (Ammonia) โรงน้ำแข็งพื้นที่เขตคลองสามวา #ปลอดภัยดี

วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2567
image

#คลองสามวา >>> ตรวจแนะนำ เน้นย้ำถึงภัยและอันตรายจากแอมโมเนีย (Ammonia) โรงน้ำแข็งพื้นที่เขตคลองสามวา #ปลอดภัยดี

(19 เม.ย.67) นายสมหวัง ชัยประกายวรรณ์ ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา มอบหมายให้นางสาวรัชฎา มณีวงศ์ หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขภิบาล ลงพื้นที่ดำเนินการตรวจแนะนำ เน้นย้ำ ถึงภัยและอันตรายจากแอมโมเนีย (Ammonia) ยังสถานประกอบการ โรงน้ำแข็ง บริษัท ตั้งเจริญมีนบุรี จำกัด ถนนเจริญพัฒนา แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กทม.

ด้วยสารแอมโมเนีย ถูกใช้เป็นสารทำความเย็นในโรงงานน้ำแข็งและห้องเย็นในรูปของ Ammonia anhydrous โดยการลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อแนะนำและเน้นย้ำ สร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ ถึงภัยและอันตรายจากแอมโมเนีย (Ammonia) ในกรณีหากเกิดการรั่วไหล โดยเกิดจากความบกพร่อง การชำรุดของอุปกรณ์ เช่น รอยรั่วของท่อส่งก๊าซ วาล์ว เกิดระหว่างการบำรุงรักษาระบบ เนื่องจากแอมโมเนียสามารถรวมตัวกับน้ำและความชื้น เกิดเป็น Ammonium hydroxide ซึ่งมีความเป็นด่างสูง สามารถกัดกร่อนระบบทำให้เกิดรอยรั่ว หรือจากการจัดเก็บภาชนะบรรจุแอมโมเนียไม่เหมาะสม ทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการรั่วไหลได้

ทั้งนี้ ผลกระทบต่อสุขภาพของแอมโมเนีย ความเป็นพิษเฉียบพลันจากการสูดดมแอมโมเนียในความเข้มข้นสูง จะทำให้เกิดอาการตาพร่า กล้ามเนื้ออ่อนแรง การตอบสนองลดลง และไม่รู้สึกตัว เกิดความระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ การบวมของลิ้นไก่ กล่องเสียง และหลอดลม หายใจติดขัด แน่นหน้าอก และหมดสติ รวมถึงเกิดการระคายเคืองบริเวณดวงตา ตาพร่า และอาจสูญเสียการมองเห็น

และหากเกิดการรั่วไหล โดยมีระดับความเข้มข้นของแอมโมเนีย ระยะเวลาที่สัมผัส จะทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายแตกต่างกันออกไป โดยระดับความเข้มข้นเริ่มต้นที่ระดับ 25 (ppm (v/v)) คนสวนใหญ่จะเริ่มได้กลิ่น โดยสามารถทนได้มากที่สุด 8 ชั่วโมง และสูงสุดในระดับ 5000 - 10000 (ppm (v/v)) จะเกิดอาการชักกระตุกของกล้ามเนื้อและระบบหายใจ ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนอย่างรวดเร็ว และอาจจะเสียชีวิต ภายใน 2-3 นาที 

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน หากกรณีฉุกเฉิน เกิดการรั่วไหลของแอมโมเนีย ต้องรีบออกจากพื้นที่ทันทีที่ทราบ เพื่อป้องกันการสัมผัสโดยตรง โดยสามารถใช้รถดับเพลิง ฉีดน้ำเป็นฝอยเพื่อจับไอของแอมโมเนีย มีการตรวจวัดความเข้มข้น ทั้งบริเวณที่มีการรั่วไหลและโดยรอบ ป้องกันไม่ให้แอมโมเนียในรูปของเหลวหรือน้ำเสียที่เกิดจากการระงับเหตุลงสู่แหล่งน้ำ และมีระบบในการจัดการน้ำเสียที่ปนเปื้อนแอมโมเนีย หลังจากนั้น ทำการตรวจสอบระบบที่มีการรั่วไหลของแอมโมเนีย สภาพท่อส่งก๊าซและวาล์ว และอื่นๆ อย่างครบถ้วน เพื่อความปลอดภัย