สนง.เขตคลองสามวา "ห่วงใยประชาชนในพื้นที่ เตือนระมัดระวังโรคภัยที่มากับหน้าร้อน"

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558
นายหัสฎิณ ปิ่นประชาสรร ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร มีความห่วงใยในสุขภาพและอนามั
ยของประชาชนในช่วงฤดูร้อน จึงขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง ดูแลในเรื่องความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ และภาชนะใส่อาหาร ตลอดจนการเก็บขยะและสุขาที่ถูกสุขลักษณะ โดยโรคที่มักจะเกิดในฤดูร้อน เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อยหรือไทฟอยด์
โดยการป้องกันโรค ต้องดูแลรักษาสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ดื่มน้ำที่สะอาด ผู้ประกอบการและผู้สัมผัสอาหารต้องหมั่นล้างมือทุกครั้งก่อนจับต้องอาหาร และดูแลรักษาความสะอาดเครื่องใช้ในครัว ดูแลความสะอาดสุขา กำจัดขยะมูลฝอยเศษอาหาร และสิ่งปฏิกูลทุกวัน เมื่อป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วง ไม่ควรรับประทานยาฆ่าเชื้อและยาหยุดถ่ายเอง ควรรีบทดแทนการขาดน้ำและเกลือแร่ด้วยการดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทุกครั้ง ที่เริ่มมีอาการ หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์
ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา กล่าวต่อไปว่า ในช่วงหน้าร้อนนี้ อาจเกิดโรคพิษสุนัขบ้า จากสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า กัด ข่วนหรือเลียบริเวณที่มีรอยแผลขีดข่วน สัตว์นำโรคได้แก่ สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก กระแต กระต่าย เป็นต้น การป้องกัน ให้นำสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัข ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างน้อย ปีละครั้ง ระวังบุตรหลานไม่ให้เล่นคลุกคลีกับสัตว์ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือไม่ทราบ ประวัติการฉีดวัคซีน เมื่อถูกสุนัข หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่หลายๆครั้ง แล้วใส่ยารักษาแผลสดโพวิโดนไอโอดีน พร้อมติดตามหาเจ้าของสัตว์ที่กัดเพื่อสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัข บ้า และควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำต่อไป และหากต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ต้องไปรับวัคซีนให้ครบตามนัดหมายอย่างเคร่งครัด
ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา กล่าวในตอนท้ายว่า ในระยะนี้ อากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้น ประชาชนควรเตรียมร่างกายให้เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อน เช่น ดื่มน้ำเป็นประจำอย่างน้อยวันละ6-8 แก้ว สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อนไม่หนา น้ำหนักเบาระบายความร้อนได้ดี ทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านและหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อน จัด งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากต้องออกทำงานหรือออกกำลังในสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้าน และดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รูสึกกระหายน้ำก็ตาม สำหรับเด็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุควรมีผู้ดูแลใกล้ชิดและจัดให้อยู่ในห้องที่ระบายอากาศได้ดี